หนังใน Netflix เรื่องนี้เรียกว่าสุดจริงๆ สำหรับคอหนังที่เปิดใจรับศิลปะภาพยนต์อินเดียยุคใหม่
เนื้อหาไม่ได้ซับซ้อนเลยสำหรับคนไทย เพราะเราต่างรู้ว่าสังคมอินเดียถูกกดทับด้วยโครงสร้างของชนชั้นวรรณะ และเราเคยดูข่าวที่หญิงสาววรรณะล่าง (จัณฑาล) ถูกข่มขืนกระทำชำเราอยู่บ่อยครั้ง หนังเรื่องนี้จะกะเทาะเปลือกของสิ่งที่เรียกว่า "กองไฟที่มอดไหม้สังคมอินเดียมาช้านาน" นั่นคือระบบวรรณะที่มองไม่เห็นหัวคนชั้นล่าง และกระทำต่อพวกเขาราวกับไม่ใช่มนุษย์ "ไม่แตะสิ่งที่ชาวจันฑาลแตะหรืแม้แต่เงายังไม่ให้ทาบทับ"
เนื้อเรื่องย่อๆ คือตำรวจหนุ่มนักเรียนนอกซึ่งเกิดในวรรณะพราหมณ์ พ่อเป็นอดีตข้าราชการการเมืองระดับสูง ถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการของสถานีตำรวจในเมืองอันห่างไกลที่กฏ "สมดุลของชุมชน" คือการหล่อเลี้ยงด้วยระบอบวรรณะอย่างเคร่งครัดยังดำรงอยู่ และหนึ่งวันที่เขาไปถึง ปรากฏเด็กหญิง 2 คนถูกฆ่าแขวนคอไว้บนต้นไม้ เรื่องมันน่าจะจบตรงนั้น หากเขาเชื่อตามที่รองผู้บัญชาการ "มหันต์" สรุปให้เขาฟังว่า เด็กหญิงสองคนชาวจัณฑาลนี้เป็นญาติกันและเป็นเลสเบี้ยนที่แอบมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง และเธอสองคนถูก "ฆ่าเพื่อรักษาเกียรติ" จากน้ำมือของพ่อ แต่เมื่อเขาพบกับครอบครัวคนตายและรู้ว่าเด็กหญิงมีทั้งหมดสามคน แต่อีกคนหายตัวไป เขาจึงเชื่อโดยสัญชาตญาณว่าเรื่องนี้ไม่ชอบมาพากล
หนังพาเราเจาะลึกทั้งโครงสร้างอันอัปลักษณ์ของสังคมอินเดียที่พลเมืองถูกกำหนดสถานะตั้งแต่อยู่ในท้องว่าจะเกิดออกมาแล้วจะหายใจ กิน อยู่ ทำงานอย่างไร การตั้งคำถามสำนึกความเป็นมนุษย์ของพระเอกที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ แต่การได้รับการศึกษาแบบตะวันตกทำให้มองระบบชนชั้นอย่างประหลาด การจัดระเบียบชนชั้นในสังคมด้วยอำนาจพิเศษทั้งจากการเมือง ศาสนา และแม้แต่ผู้ถือกฎหมายในมือ
ชอบที่หนังยกระดับคุณค่าของเพศหญิงที่ส่งอิทธิพลต่อการกระตุ้นจิตสำนึกความถูกต้องทีละนิดทำให้รู้สึกว่าผู้หญิงอินเดียมีความเป็นขบถต่อความเชื่อเดิมอย่างมากและหนังใส่เอาไว้หลายฉาก เช่นแฟนสาวของพระเอกที่กระตุ้นให้พระเอกยืนหยัดต่อแม้ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจมากมายรออยู่ หมอผู้หญิงที่กล้าชันสูตรศพอย่างตรงไปตรงมาแม้จะถูกกดดันอย่างมาก หรือพี่สาวของเด็กหญิงที่เป็นแฟนกับนักเคลื่อนไหวใต้ดินชาวจัณฑาลที่ต่อสู้กับพวกพราหมณ์ที่คอยกดไม่ให้ชาวจัณฑาลมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคม นอกจากการงานที่คนวรรณะอื่นไม่ทำ (แม้แต่เข้าวัดไปสักการะพระผู้เป็นเจ้ายังถูกซ้อมปางตาย) สายตาของเธอคือสิ่งเร่งเร้าให้พระเอกไม่จำนนต่ออำนาจต่างๆ
หนังปะทะกับความเชื่อเดิมแบบถึงแก่น ตั้งคำถามกับระบบชนชั้นไว้มาก แต่ฉากสำคัญคือฉากที่พระเอกเล่าอย่างท้อถอยต่อระบบอำนาจอิทธิพลที่หยั่งรากลึกให้แฟนสาวฟังว่า
"สังคมมีสมดุลของมัน มีประชาชนก็ต้องมีราชา"
"ทำไมต้องมีราชาล่ะ" แฟนสาวของเขาตั้งคำถาม
อีกฉากคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลางที่มีเอี่ยวกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นเรียกร้องให้พระเอกวางตัวเป็นกลาง "ระหว่างที่ไฟกำลังไหม้ คุณจะยืนอยู่ตรงกลางหรือช่วยจะดับไฟ" พระเอกท้าทายกลับ ฉากนี้ทรงพลังมาก ไม่รู้ว่าปฏิกิริยาในอินเดียต่อหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่หนังชาญฉลาดในการปูเรื่องและหาทางออกให้โดยไม่ได้ท้าทายอย่างลอยๆ คือการให้พระเอกซึ่งเป็นนายตำรวจหนุ่มรับผิดชอบคดีนี้ ยืนหยัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของอินเดียมาตรา 15 ที่ถูกประกาศใช้มาแล้วเจ็ดสิบปี (1950) ที่มีสาระสำคัญคือการรับรองความเท่าเทียม เสมอภาคของพลเมืองทุกเชื้อชาติ วรรณะ เพศ และศาสนา ห้ามมีการเลือกปฏิบัติและปฏิเสธการเข้าร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม พระราชวัง บริการของรัฐ ฯลฯ และมาตรานี้ในปี 2018 รัฐสภาอินเดียยังเพิ่มเติมบทบัญญัติให้รัฐส่งเสริมความก้าวหน้าให้พลเมือง นำไปสู่การจองพื้นที่ส่วนหนึ่ง (10%) ในสถาบันการศึกษาให้คนที่ยากจน หรือล้าหลังด้วย
นั่นคือที่มาของชื่อเรื่อง Article 15 เพราะสังคมอินเดียละเลยต่อมาตรา 15 ตามกฏหมายรัฐธรรมนูญมานาน 70 ปี ยังปรากฏภาพการกีดกัน เลือกปฏิบัติ ใช้อำนาจคุกคามทางเพศคนในวรรณะต่ำกว่าอยู่เสมอ
แค่ยืนหยัดให้ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มันจึงไม่ใช่อาชญากรรม ใน Article 15 พระเอกก็ถูกสาดโคลนใส่ข้อหาทำลายความสงบสุขของสังคม ทำลายสมดุลที่สังคมยอมรับและยึดถือมาหลายพันปี ภาษาบ้านเราขณะนี้พระเอกก็คือพวกชังชาตินั่นแหละ
หนัง 2 ชั่วโมงกว่าแต่เล่าแบบไม่เยิ่นเย้อ ตัวละครเยอะแต่ไม่งง ชวนระทึกแบบละสายตาไม่ได้ คะแนนเอาไปเลย 9.5/10
[ขอหัก 0.5 เพราะคิดว่าตอนจบสรุปรวบรัดไป และการเลือกให้ตัวเอกเกิดในวรรณะสูงร่ำรวย สนิทชิดเชื้อกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลกลางเพื่อแรงพยุงความกล้าหาญยืนหยัดทำคดีก็ดูจะง่ายไปนิดแม้ว่าในหนังจะไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษนี้ออกมาตรงๆ ก็ตามแต่หนังก็บอกเราว่า เรื่องจริงมันก็ต้องเป็นแบบนี้ ไม่งั้นพระเอกคงถูกยิงทิ้งตั้งแต่ไม่ถึงครึ่งเรื่อง]
