Photo courtesy This Kind of Love: a Film by Jeanne Marie Hallacy
“ในกลุ่มของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพยังไม่สามารถยอมรับความรักเช่นนี้ได้เลย”
อ่อง เมียว มิน
8 สิงหาคม 1988 พม่าเป็นข่าวเป็นทั่วโลกเพราะเป็นวันที่กองทัพทหารใช้กำลังอาวุธปราบปรามเข่นฆ่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตย อันประกอบไปด้วยนักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนทั่วไปที่สิ้นสุดความอดทนกับการกดขี่ข่มเหงของรัฐบาลที่ปกครองประเทศด้วย “ระบอบเนวิน”
นับแต่เหตุการณ์ที่ทั่วโลกรู้จักกันในนาม 8-8-88 เป็นต้นมา พม่าหรือเมียนมาร์ ตามที่รัฐบาลของประเทศนี้ต้องการถูกเรียกขานจากสังคมโลกยังไม่เคยได้สัมผัสกับความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพเลย แม้อองซาน ซูจี วีรสตรีในดวงใจของพลเมืองประเทศนี้และของพลเมืองโลกอีกส่วนหนึ่งจะได้รับอิสรภาพและกำลังมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างประชาธิปไตยบนแผ่นดินนี้
อ่อง เมียว มิน ผู้เป็นหนึ่งในขบวนการนักศึกษา 8-8-88 ต้องทิ้งความฝันที่จะเป็นครูสอนวรรณคดีอังกฤษ หันหลังก้าวเท้าออกจากแผ่นดินเกิดมาใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เขาเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยของนักศึกษาพม่าทั้งมวล หรือ ABSDF (All Burma Students' Democratic Front) ทิ้งปากกามาจับอาวุธต่อสู้กับกองทัพพม่าอยู่ตามแนวชายแดน เขาพบรักระหว่างรบกับนายทหารหนุ่ม และต้องสูญเสียความรักและคนรักไป เพราะ “ในกลุ่มของคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพยังไม่สามารถยอมรับความรักเช่นนี้ได้เลย”
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูย่างก้าวสู่ประชาธิปไตยของพม่าซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อ่อง เมียว มิน เลือกสื่อสารให้สังคมโลกรับรู้ถึงรากเหง้าที่สำคัญของปัญหาความรุนแรงและการกดขี่ทั้งหลายทั้งปวงในพม่าที่ยังดำรงอยู่ผ่านสารคดีประวัติของตัวเขาเอง
This Kind of Love หรือ รักเช่นนี้ ผลงานการกำกับของ Jeanne Marie Hallacy ไม่ได้เป็นเพียงสารคดีชีวประวัติของอ่อง เมียว มิน นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของพม่า ที่ทางการต้องส่งจดหมายเชิญตัวกลับประเทศเพื่อร่วมสร้างบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยในพม่าเท่านั้น หากเป็นสารคดีที่สะท้อนให้เห็นว่าในขณะที่พยายามรณรงค์เรียกร้องเพื่อความเป็นประชาธิปไตย พม่าก็ยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอคติแห่งความเกลียดชัง โดยเฉพาะความเกลียดชังที่มีต่อคนที่ต่างไปจากตนเอง
มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ในวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมจัดวงสนทนาเล็กๆ ขึ้นภายหลังการฉายภาพยนตร์ โดยมีผู้ร่วมสนทนา คือ สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญพม่าศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, ชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐทีวี และ ผศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
This Kind of Love เดินเรื่องด้วยตัวของอ่อง เมียว มิน เอง ที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเขาตั้งแต่ชีวิตการเป็นนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 8-8-88 จนถึงเรื่องราวระหว่างเหตุการณ์รุนแรงนั้นที่เขาต้องสูญเสียเพื่อนจำนวนหนึ่งไป และทำให้เขาต้องเดินทางออกจากบ้านปล่อยให้แม่ต้องถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามจะรีดเค้นข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาจนแม่ต้องประกาศตัดความสัมพันธ์แม่และลูกต่อสาธารณะ เรื่องราวสำคัญและเป็นประเด็นลึกซึ้งของสารคดีเรื่องนี้คือการเล่าถึงความรักระหว่างอ่อง เมียว มิน กับนายทหารนักรบหนุ่มแห่งกองทัพประชาชนในวันนั้นที่ต้องเป็นไปอย่างหลบซ่อน เพราะ “รักเช่นนี้” เป็นเรื่องต้องห้ามและน่ารังเกียจของสังคมแห่งการต่อสู้ที่เข้มแข็งเช่นนั้น
สุดท้ายเมื่อไม่สามารถปิดบังต่อไปได้ คนรักหนุ่มของเขาต้องถูกลดยศจากกองทัพอันเป็นบทลงโทษของการมี “รักเช่นนี้” และชายหนุ่มของเขาเลือกที่จะพิสูจน์ความเข้มแข็งของการเป็นผู้ชายที่มี “รักเช่นนี้” ด้วยการสมัครเป็นนักรบในแนวหน้าจนถูกทางการทหารพม่าจับตัวและทรมานจนตาย
เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศพม่าตามคำเชิญของรัฐบาลที่ต้องการให้อดีตนักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยกลับมาร่วมกันสร้างสังคมแห่งประชาธิปไตยในพม่า สายตาของอ่อง เมียว มิน ก็ยังคงมองเห็นอคติของชาวพม่าอีกหลายๆ เรื่องที่อ่อง เมียว มิน เอามาเล่าผ่านสารคดีชีวิต This Kind of Love ทั้งเรื่องราวของหญิงสาวที่มีเพศกำเนิดเป็นชายว่าพวกเธอต้องทนกับการถูกดูถูกเหยียดหยาม กลายเป็นที่อับอายของครอบครัว อ่อง เมียว มิน ยังพาเราเดินทางเข้าไปในชุมชนของชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาจนวอดวาย พร้อมกับบอกเราว่า “นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ” เขาพาเราไปสัมผัสชีวิตของชนกลุ่มน้อยต่างๆ บนแผ่นดินพม่า โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่พวกเขาถูกเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจโดยทหารพม่า
ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ชัยรัตน์ ถมยา, ผศ.นฤมล ทับจุมพล, สมฤทธิ์ ลือชัย
สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวถึง This Kind of Love ว่าเป็นเป็นประเด็นร่วมสมัยที่เกิดในพม่าและที่อื่นในโลก นั่นคืออคติ เสรีภาพที่เรียกร้องกันในแง่ประชาธิปไตยซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นอยู่ข้างนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เสรีภาพที่ทางศาสนาจะเรียกว่าเสรีภาพภายในจิตใจนั้นจะต้องปราศจากอคติ และอคติที่สำคัญที่สารคดีเรื่องนี้พูดถึง LGBT นั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง “แต่ในสารคดีเรื่องนี้ เขาโยงไปถึงว่าถ้าคุณมีอคติกับคนกลุ่มนี้ได้ คุณจะอคติต่อชนกลุ่มน้อย ต่อคนต่างศาสนา ต่อความต่างทั้งหมดทั้งมวลซึ่งเกิดขึ้นในพม่า”
เขากล่าวว่าฉากการใช้ความรุนแรงต่อกันระหว่างชาวพม่าที่นับถือพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อคติเป็นเครื่องกระตุ้น ซึ่งในที่สุดจบลงด้วยการทำลายล้างกัน “สารคดีเรื่องนี้กำลังจะบอกว่า ถ้าคุณจะหวังเสรีภาพข้างนอก แต่คุณไม่ได้พูดถึงข้างใน หมายความว่าถ้าข้างในคุณยังใช้อคติปิดบัง ยังปิดอยู่ มันจะไม่ทำให้บรรลุสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพร้อยเปอร์เซนต์”
สมฤทธิ์กล่าวว่าประเด็นใหญ่ของสารคดีเรื่องนี้คือเรื่องความเสมอภาค ซึ่ง อ่อง เมียว มิน ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าแม้แต่องค์กรที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยก็ยังไม่เข้าใจ ‘รักเช่นนี้’
“ในแง่ของประชาธิปไตย เสรีนิยมแล้ว ผมคิดว่าส่วนใหญ่เราจะพูดถึงเสรีภาพ เรามักจะลืมเรื่องเสมอภาค ถ้าคุณใฝ่หาเสรีภาพอย่างเดียว แต่ปราศจากเสมอภาค ก็เป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์แบบไม่ได้”
ผศ.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสารคดีเรื่องนี้ว่าทำให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 1988 จนถึงวันนี้ ปี 2015 หลายสิ่งในพม่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย แน่นอนสิ่งที่ทำให้พม่าไม่เปลี่ยนแปลงเลยคืออคติที่พวกเขามีอยู่ในใจตลอด
ผศ. นฤมล กล่าวเสริมว่าจุดที่น่าสนใจก็คือ อ่อง เมียว มิน ไม่เคยรู้สึกว่าการเป็น LGBT เป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องเสียหาย แล้วเขาก็อธิบายคำว่าประชาธิปไตยของเขาว่า เวลาพูดถึงประชาธิปไตยนี่ มันหมายถึงเสรีภาพและเสมอภาค เขาจึงตั้งชื่อองค์กรเขาว่า Equality Myanmar
Jeanne Marie Hallacy กับ อ่อง เมียว มิน (Photo courtesy This Kind of Love: a Film by Jeanne Marie Hallacy)
ชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยรัฐทีวี กล่าวว่า อ่อง เมียว มิน เป็นตัวละครที่มีสีสันในตัวเอง นอกจากจะเป็น LGBT แล้ว สิ่งที่สำคัญคือการจะเชื่อมโยงคนรุ่น 8-8-88 กับคนรุ่นใหม่ การเล่าเรื่องราวของอ่อง เมียว มิน ใน This Kind of Love ถือเป็นความฉลาดของผู้กำกับ- Jeanne Marie Hallacy ที่หยิบประเด็นเหล่านี้มาสร้างความเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ 8-8-88 ทำให้ผู้ชมที่เป็นคนในรุ่นหลังเหตุการณ์สามารถเข้าใจได้ทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอ่อง เมียว มิน และชายหนุ่มคนรักของเขา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่าสาวๆ ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาที่เป็นมุสลิม และสิ่งที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยนั่นล้วนมีโครงสร้างและสาเหตุของปัญหาเหมือนกัน นั่นคืออคติที่เกิดจากความเกลียดชังในความแตกต่างของผู้อื่น และสิ่งนี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศพม่ายังอยู่ห่างไกลการเป็นสังคมประชาธิปไตย แม้ในทางรูปธรรมพวกเขากำลังจะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ชัยรัตน์กล่าวว่าเรื่องของความรักในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนความรักหลายอย่าง รักในอุดมการณ์ รักเพื่อน รักครอบครัว และที่สำคัญมันเป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้ในจุดที่เป็นหลักการสากล นั่นก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งการดำเนินเรื่องก็พยายามจะสะท้อนว่า the bottom line พื้นฐานแล้วคือการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษชน
“แล้วการที่เขาเป็น LGBT ทำให้การเดินเรื่องของตัวละครตัวนี้มีความเป็นพิเศษมากขึ้น มีความหมายมากขึ้นในการเดินเรื่อง เพราะตัวเขาถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด”
อธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชนอาวุโสที่มาร่วมชมภาพยนตร์และฟังสนทนา ได้ร่วมแสดงความเห็นในฐานะอดีตนักศึกษารุ่นหกตุลา (6 ตุลาคม 2519) เขามองว่าสารคดีชีวิตของอ่อง เมียว มิน สะท้อนความงดงามของอุดมคติเรื่องเสรีภาพ สิทธิมนุษยน และประชาธิปไตย แต่ความย้อนแย้งปรากฎเมื่อเข้าป่าไปแล้วก็เจอการเหยียดเพศ
เขากล่าวว่าปัจจุบัน ขณะที่คนพม่าก็เรียกร้องต้องการประชาธิปไตย แต่คนพม่าที่เป็นพุทธกลับเกลียดชาวโรฮิงญา แม้แต่อองซาน ซูจี ก็ยังไม่กล้าที่จะพูดถึงเรื่องโรฮิงญา “มันเป็นความย้อนแย้งว่าไม่ใช่เรื่องของระบอบ มันเป็นเรื่องของเสรีภาพ เป็นเรื่องของควมต้องการเสรีภาพ สังคมต้องพัฒนาไป ประชาธิปไตยจริงๆมันอยู่ตรงนั้น”
ในขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่าขับเคลื่อนกับสังคมโลก ให้เห็นความโหดร้ายรุนแรงของเผด็จการทหาร ด้วยการสื่อสารและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งรุกเร้า ดุดัน และเรียกร้องความเห็นใจ อ่อง เมียว มิน เลือกที่จะทำสารคดีชีวประวัติของตนเองเพื่อเตือนเพื่อนร่วมขบวนการประชาธิปไตยของเขาว่าพวกเขาเองหรือเปล่าที่หลงลืมย้อนมองความรุนแรงในสังคมพม่าที่เกิดจากตัวพวกเขาเอง เพราะสังคมที่ไม่สามารถยอมรับ This Kind of Love ได้ จะสามารถก้าวสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เปี่ยมไปด้วย เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพได้อย่างไร
ผู้สนใจสารคดี This Kind of Love สามารถติดตามชมได้ที่เว็บไซด์ประชาไท เร็วๆ นี้
