Skip to main content

“รวันดาเป็นดินแดนของฮูตู เราเป็นชนกลุ่มใหญ่ พวกมันเป็นชนกลุ่มน้อยที่มารุกราน เราจะขับไล่พวกที่เข้ามายุ่มย่าม เราจะขับไล่พวกมัน ที่นี่ RTLM วิทยุของชาวฮูตู ระวังให้ดี ระวังเพื่อนบ้านไว้”

เสียงจากวิทยุดังออกมาในฉากเปิดของหนังโฮเต็ลรวันดา ภาพยนตร์ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงในรวันดา ช่วงปี 1994 ที่เกิดสงครามล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชนเผ่าฮูตู (Hutu) และทุตซี่ (Tutsi) ระยะเวลาเพียง 2 เดือนของสงครามกลางเมืองชาวทุตซี่ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยถูกชาวฮูตูสังหารไปเกือบ 1 ล้านคน

ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งของหนังเรื่องนี้มีเสียงปืนดังขึ้นเกือบตลอดเวลา ภาพของกองกำลังชาวฮูตูทั้งกองกำลังทหารรัฐบาลที่มีอาวุธสงครามครบมือ และกองกำลังภาคประชาชนที่ในมือถือดาบ มีด เคียว และของมีคมอื่นๆ รวมไปถึงท่อนไม้ และสิ่งอื่นที่สามารถก่อความรุนแรง ทำร้ายผู้คนให้บาดเจ็บล้มตายได้ ผนวกกับท่าทีการแสดงของนักแสดงที่สวมวิญญาณชาวฮูตูที่กระเหี้ยนกระหือรือในการสังหารชาวทุตซี่ดูน่ากลัวยิ่งนัก แต่นั่นยังไม่น่ากลัวเท่าอาวุธที่มองไม่เห็นแต่ทรงอานุภาพในการกวาดล้างเพื่อนมนุษย์ นั่นคือ ความเกลียดชัง ที่พวกเขาได้รับการบ่มเพาะและปลูกฝังผ่านทางสื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์ของรวันดา

รวันดา ประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา ประกอบไปด้วยประชากร 2 ชาติพันธุ์ใหญ่ๆ คือฮูตูและทุตซี่ ฮูตูคือชนพื้นเมือง ทุตซี่คือคนที่อพยพมาจากเอธิโอเปีย หน้าตา ผิวพรรณ โครงร่าง ภาษา ศาสนา ไปจนถึงวัฒนธรรม ใกล้เคียงกัน สิ่งเดียวที่แยกฮูตูออกจากทุตซี่อย่างเด่นชัดคือบัตรประชาชนที่มีอักษรกำกับไว้ว่าใครสืบเชื้อสายจากชาติพันธุ์ใด ในช่วงล่าอาณานิคม เบลเยี่ยมเข้ายึดครองรวันดาและให้การสนับสนุนชาวทุตซี่และให้สิทธิต่างๆ แก่ชาวทุตซี่มากกว่า ยอมให้มีการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวฮูตู และเจ้าอาณานิคมเบลเยี่ยมนี่เองที่เป็นผู้กำหนดการตีตราชาวรวันดาไว้ในบัตรประชาชนเพื่อแยกชาวฮูตูและทุตซี่ออกจากกันอย่างเป็นรูปธรรมทางการ ภายหลังได้รับเอกราชชาวทุตซี่ได้เป็นรัฐบาลและกดขี่ชาวฮูตูจนจบลงด้วยการปฏิวัติยึดอำนาจของชาวฮูตู และชาวทุตซี่จำนวนมากต้องอพยพออกนอกประเทศและจัดตั้งกลุ่มแนวหน้ารักชาติรวันดา (Rwanda Patriotic Front - RPF) เพื่อต่อต้านรัฐบาลฮูตู RPF เปิดฉากทำสงครามกับรัฐบาลตั้งแต่ปี 1990 จนเดือนสิงหาคม 1993 สามารถเจรจาสันติภาพกับประธานาธิบดีจูเวนาล ฮับยาริมานา (Juvénal Habyarimana) เผ่าฮูตูได้ โดยทั้งสองฝ่ายมีมติจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นปกครองรวันดา แต่แล้ววันที่ 6 เมษายน 1994 เครื่องบินของประธานาธิบดีฮับยาริมานาถูกขีปนาวุธลึกลับยิงถล่ม เกิดเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติพันธุ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะชาวฮูตูเชื่อว่าเป็นฝีมือของทุตซี่ที่ลอบสังหารประธานาธิบดีของพวกเขา (จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามือสังหารคือใครจากฝ่ายใด แต่ก็มีความเชื่อกันว่าน่าจะเป็นชาวฮูตูลูกน้องของประธานาธิบดีเองที่ไม่เห็นด้วยกับการสงบศึกกับ RPF) ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเครื่องบินถูกยิงสงครามล้างเผ่าพันธุ์ก็เกิดขึ้นในรวันดา และเป็นตอนเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้

“ประธานาธิบดีของเราถูกพวกทุตซี่ฆ่าเสียแล้ว มันหลอกให้เราเซ็นสัญญาสันติภาพ ถึงเวลาต้องล้างแค้นแล้วชาวฮูตู เราต้องโค่นต้นไม้ใหญ่ ออกไปจัดการกับมันเลยสิชาวฮูตู จะเฉยทำไมกัน ออกไปจัดการกับมัน ปิดถนนเลย ลุกขึ้นชาวฮูตูถึงเวลาล้างแค้นแล้ว”

เสียงจากสถานีวิทยุ RTLM (Radio Télévision Libre des Mille Collines) ดังกระหน่ำปลุกจิตวิญญาณในการกวาดล้างชาวทุตซี่ให้ฮึกเหิมในใจของชาวฮูตู ขณะเดียวกันก็สร้างความหวาดหวั่นขวัญเสียให้กับชาวทุตซี่ที่ตอนนั้นที่พึ่งเดียวของเขาคือ พอล รูสซาบาจินา (Paul Rusesabagina) ชาวฮูตูที่แต่งงานกับสาวทุตซี่และทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมมิลล์ คอลลินส์ (Hôtel des Mille Collines) โรงแรมระดับห้าดาวของเครือธุรกิจโรงแรมใหญ่แห่งเบลเยี่ยมอดีตเจ้าอาณานิคม สำหรับรูสซาบาจินาทั้งฮูตูและทุตซี่ต่างคือประชากรของรวันดาเหมือนกันที่ควรต้องได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างสันติและมีความสุขเหมือนกัน (ต่อมาโรงแรมมิลล์ คอลลินส์ได้กลายเป็นที่หลบภัยที่สำคัญยิ่งของชาวทุตซี่ เป็นที่มาของชื่อหนังโฮเต็ล รวันดา ที่เนื้อหาหลักพูดถึงการทุ่มเทชีวิตและจิตใจของรูสซาบาจินา ในการช่วยชีวิตทุกคนที่มาหลบภัยในโรงแรมแห่งนี้)

สถานีวิทยุ RTLM เป็นสถานีวิทยุของเอกชนที่เป็นฮูตูหัวรุนแรง ได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลหน้าที่สำคัญคือสร้างความเกลียดชัง ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของชาวทุตซี่ ประสบความสำเร็จในการทำให้ชาวทุตซี่เป็นเพียง “แมลงสาป” ในสายตาชาวฮูตู เป็นศูนย์กลางการโฆษณาชวนเชื่อทุกอย่างของรัฐบาล ภายหลังมาตรการ “โค่นต้นไม้ใหญ่” ซึ่งเป็นสัญญาณหมายถึงการให้ชาวฮูตูจัดการกับชาวทุตซี่ทุกคนอย่างถอนรากถอนโคนไม่ให้เหลือเผ่าพันธุ์  RTLM มีหน้าที่ที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาคือ “ชี้เป้า” ชาวทุตซี่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวฮูตูเข้าไปเข่นฆ่า

“หยุดพวกแมลงสาปทุตซี่ ขณะนี้..... อยู่บนรถ... กำลังมุ่งหน้าไปที่.....”

“จัดการมันให้หมดรวมถึงคนที่สนับสนุนพวกแมลงสาปด้วย ตอนนี้.......ซ่อนตัวอยู่ที่..... ไปจัดการมัน จะเฉยอยู่ทำไม”

เสียงโฆษกจากสถานีวิทยุ RTLM ดังเขย่าขวัญรูสซาบาจินาตลอดเวลา ในหนังมีหลายฉากที่แสดงให้เห็นว่าพนักงานโรงแรมมิลล์ คอลลินส์ ที่เป็นชาวฮูตู จับกลุ่มแอบฟังเสียงจาก RTLM หลายคนมีทีท่าคิดตามและเริ่มหวั่นไหวสับสนระหว่างคำพูดของรูสซาบาจินา ที่พยายามรักษาขวัญและกำลังใจของพนักงานตัวเองด้วยการเน้นให้ระลึกถึงเกียรติของการเป็นพนักงานโรงแรมห้าดาวจากต่างประเทศที่ต้องดูแล “แขก” ทุกคนที่เข้าพักเหมือนกัน กับคำพูดของ RTLM ที่เรียก “แขก” ของพวกเขาว่า “แมลงสาป” ที่ไม่สมควรมีชีวิตอยู่ รูสซาบาจินารู้ดีว่าหากปล่อยให้พนักงานของเขาฟังวิทยุต่อไปการโฆษณาชวนเชื่อของสถานีวิทยุ RTLM จะประสบความสำเร็จอย่างโหดร้ายเพราะมันอาจหมายถึงทุตซี่ทั้งหมดที่พักพิงในโรงแรมรวมถึงลูกและเมียเขาด้วยต้องตายลง คำสั่งห้ามฟังวิทยุจึงมีขึ้น

มีเหตุการณ์จริงที่สำคัญมากแต่หนังไม่ได้พูดถึงนั่นคือภายหลังโฆษกสถานีวิทยุ RTLM ชี้เป้าชาวทุตซี่แล้ว ชาวทุตซี่ทุกคนที่ตกเป็นเป้าจะถูกสังหารหลังจากนั้นไม่นาน และสถานที่หลบภัยของพวกเขาก็ถูกเผาทำลายจนสิ้นซาก ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ The Media and the Rwanda Genocide ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความทางวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสื่อในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาครั้งนี้ ไม่เพียงแต่  RTLM สื่อที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความเกลียดชัง ปลุกระดม แบ่งแยก พวกมัน พวกเรา จนนำสู่การสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ แต่ไม่มีสื่อใดที่จะทรงอานุภาพเท่าวิทยุ RTLM ที่เจาะเข้าไปทุกซอกมุมของรวันดา

นอกเหนือจากอานุภาพอันน่ากลัวของสื่อท้องถิ่นที่กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชังจนจบลงด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว โฮเต็ล รวันดา ยังสะท้อนวิธีคิดและการทำงานของสื่อตะวันตกที่เข้าไปรายงานข่าวในสถานการณ์แห่งความรุนแรงนี้ได้อย่างดียิ่ง ในหนังมีนักข่าวและช่างจากตะวันตกทีมหนึ่งเข้าไปในพื้นที่และแน่นอนต้องพักในมิลล์ คอลลินส์แห่งนี้ ขณะที่สถานการณ์กำลังตึงเครียด บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง นักข่าวหนุ่มหงุดหงิดหัวเสียกับเครื่องปรับอากาศที่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จนรูสซาบาจินาในฐานะผู้จัดการโรงแรมต้องเข้าแก้ไขด้วยตนเอง แม้ขณะนั้นจิตใจเขาจะวุ่นวายกับการหาทางช่วยเหลือชาวทุตซี่ให้รอดพ้นจากสงครามอันโหดร้ายนี้

     ช่างภาพ: เราต้องออกไปเก็บความจริงข้างนอก

     นักข่าว: ผมไม่ออกจากโรงแรมนอกจากมีรถหุ้มเกราะ มันเป็นกฎ

     ช่างภาพ: กฎหรือ นี่นายคิดว่านายอยู่อังกฤษหรือไง

เป็นบทสนทนาหนึ่งในสองบทระหว่างนักข่าวและช่างภาพทีมนี้ ที่สุดท้ายช่างภาพหนุ่มสามารถออกไปบันทึกภาพไว้ได้และนำกลับมาเปิดให้ผู้สื่อข่าวที่นั่งเฝ้าจอโทรทัศน์ดูรายงานข่าวที่ผู้แทนองค์การสหประชาชาติกำลังรายงานสถานการณ์การเข้าไป “รักษาสันติภาพ” ในรวันดาของตนเองให้คนทั้งโลกฟัง

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า “กฎ” ที่นักข่าวหนุ่มคนนั้นอ้างถึงคืออะไร แต่คิดว่าน่าจะหมายถึงหลักในการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีความรุนแรง ซึ่งหลักสำคัญประการหนึ่งคือต้องไม่ทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย ความปลอดภัยของตนเองต้องมาก่อนการมุ่งเก็บข้อมูลและรายงานข่าวที่อยู่เบื้องหน้า

นักข่าวหนุ่มผู้นั้นมีปฏิกิริยาทันทีที่ได้เห็นช่างภาพร่วมทีมของเขาบันทึกไว้ได้ โทรศัพท์สายตรงถูกต่อข้ามทวีปไปยังสำนักงานใหญ่เพื่อขอเวลาออกอากาศเป็นข่าวด่วนเย็นนั้น รูสซาบาจินาตรงเข้าไปขอบคุณช่างภาพที่บันทึกภาพไว้และมีความหวังขึ้นมาทันทีว่าเมื่อความจริงปรากฏสังคมภายนอกโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจจะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงเพื่อยุติความโหดร้ายรุนแรงในรวันดา

“คนที่บังเอิญได้รับรู้ก็คงจะแค่อุทาน ‘ทำไมช่างโหดร้ายอย่างนี้’ แล้วก็นั่งกินข้าวต่อไป” คำพูดตอบกลับของช่างภาพหนุ่มปิดประตูความหวังของรูสซาบาจินาลงอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่อิทธิพลของสื่อท้องถิ่นในการสร้างความเกลียดชัง แบ่งแยก ปลุกระดมและเรียกหาความรุนแรงมีพลังหนักหน่วงราวยูเรเนียม ธาตุที่มีน้ำหนักอะตอมมากที่สุดในธรรมชาติ อิทธิพลของสื่อระดับโลกที่เรียกร้องหาสันติภาพกลับแผ่วเบาดุจแววขนนกยูง ข่าวนั้นได้รับการออกอากาศไปทั่วโลกแต่ปฏิกิริยาของมหาอำนาจยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ RTLM ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ความรุนแรงดำเนินต่อไปในรวันดา ความรู้สึกสงสารในชะตากรรมชาวทุตซี่ยังคงเกิดขึ้นในใจของคนภายนอกผู้ได้รับรู้ข่าวสารนั้น ทว่าต่างคนต่างกินอาหารของตนเองต่อไป


ฉากจบของโฮเต็ล รวันดา คือการที่รูสซาบาจินาพาทุกคนออกไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติและสามารถออกเดินทางลี้ภัยยังประเทศที่สามได้ (โดยความช่วยเหลือของผู้พันคนหนึ่งแห่งกองกำลังสหประชาชาติ ที่เกิดจุดเปลี่ยนทางความคิดเมื่อเห็นหมวกนิรภัยของลูกน้องในกองทัพตนเองอาบไปด้วยเลือด อันเป็นผลงานของกองกำลังฮูตู) แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างขึ้นในปี 2004 แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2003 ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะเป้าหมายหลักของหนังต้องการถ่ายทอดความรุนแรงของสงครามกลางเมืองและวีรกรรมเยี่ยงวีรบุรุษของพอล รูสซาบาจินา ทั้งนี้ในปี 2003 ศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับประเทศรวันดา (International Criminal Tribunal for Rwanda – ICTR) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้พิพากษาให้โฆษก 2 คนของสถานีวิทยุ RTLM และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Kangura มีความผิดข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ยุยงปลุกปั่นให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (incitement to genocide) และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ในช่วงก่อนและระหว่างเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนั้น โดยโฆษกของ RTLM หนึ่งคนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Kangura ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนโฆษก RTLM อีกคนหนึ่งมีคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 35 ปี ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2007 ศาลอุทธรณ์ลดโทษโฆษก RTLM ทั้งสองคนเหลือจำคุกคนละ 30 และ 32 ปี ส่วนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Kangura จำคุก 35 ปี ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่สื่อมวลชนต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับการยุยงให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) (อ่านรายละเอียดผลการพิจารณาคดีได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/International_Criminal_Tribunal_for_Rwanda)

ปี 2553 (2011) ขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมสองสี องค์กรภาคประชาชนจำนวนหนึ่งพยายามจัดฉายหนังเรื่องนี้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงด้วยความมุ่งหมายเตือนสติคนไทยไม่ให้ติดกับอยู่กับความเกลียดชังที่ถูกสร้างและขยายผลโดยสื่อมวลชน แต่แล้วความพยายามนั้นก็ไม่เกิดผลเมื่อผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยในขณะนั้นสั่งระงับการฉายอย่างกะทันหันในเวลาที่ผู้ดูจำนวนหนึ่งเดินทางถึงหัวลำโพงแล้ว ด้วยเหตุผลว่า “เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง เกรงจะเป็นดาบสองคม” (http://movie.mthai.com/movie-news/60026.html)

แต่ โฮเต็ล รวันดาก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ต้องห้าม เข้าใจว่ายังคงสามารถหาแผ่นซื้อแผ่นได้ ลองหามาดูเพื่อความมีสติในตัวเอง อย่างน้อยหากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการนำเสนอข่าวของสื่อได้ หากสังคมรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน hate speech ที่ส่งผ่านมาทางสื่อก็จะไม่มีอานุภาพ 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  เพ็ญนภา หงษ์ทอง อดีตผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation) ปัจจุบัน ทำงานเขียน งานแปลอิสระ และเป็นบรรณาธิการร่วม มีเดีย อินไซต์ เอ้าท

 

โฮเต็ลรวันดา กับอาชญากรในคราบสื่อ