Skip to main content

สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสได้อ่านเรื่องราวของ John Bohannon นักข่าววิทยาศาสตร์ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการข่าวทั่วโลกผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยช็อกโกแลตลดน้ำหนัก ที่สุดท้ายกลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าวิจารณญาณนักข่าวเป็นสิ่งที่กำลังขาดหายไปจากสังคมคนทำข่าวในปัจจุบัน (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ที่ผู้เขียนนำเสนอไว้ในเว็บไซด์ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์  ได้ที่ http://www.mediainsideout.net/world/2015/06/236 ) ในตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์วอชิงตันโพสต์ Bohannon พูดถึงการใช้วิจารณญาณในการแยกข่าวที่น่าเชื่อถือออกจากข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นบทบาทที่ควรต้องเริ่มต้นจากบรรณาธิการลงมาสู่ตัวนักข่าว ซึ่งแม้เขาจะไม่ระบุชัดแต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือหรือสมควรได้รับการยอมรับเลยอย่างที่เขาจัดทำขึ้น สามารถกลายเป็นประเด็นข่าวในมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลกได้นั้นเป็นเพราะบรรณาธิการไม่ได้ทำหน้าที่อันพึงทำ​               

เรื่องราวของ Bohannon ทำให้นึกถึงหนังเรื่องหนึ่งที่เคยดูแล้วดูอีกเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ Shattered Glass หนังว่าด้วยชีวิตจริงของนักข่าวดาวรุ่งที่พุ่งแรงในวิชาชีพอย่างรวดเร็วและดิ่งร่วงอย่างรุนแรงในเวลาไม่นานนัก และผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรุ่งและร่วงของ Stephen Glass แห่ง The New Republic ซึ่งรับบทโดย Hayden Christensen ก็คือบรรณาธิการของ The New Republic นั่นเอง

ช่วงแรกที่รุ่งโรจน์ Glass อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Michael Kelly (รับบทโดย Hank Azaria) บรรณาธิการที่สนับสนุนเขาอย่างยิ่ง แม้จะมีการร้องเรียนหรือตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในเรื่องที่ Glass เขียน สิ่งที่บรรณาธิการอย่าง Kelly ทำ คือการเรียก Glass มาสอบถามซึ่งก็จะยอมรับว่าเป็นเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แต่รายละเอียดที่เหลือในเนื้อข่าวเป็นเรื่องจริง แล้ว Glass ก็ได้ทำงานต่อไป มีผลงานตีพิมพ์ด้วยการสนับสนุนของ Kelly และช่วงหลังที่ Glass ต้องดิ่งร่วงอย่างไม่มีสิ่งใดรั้งไว้ได้นั้น ชีวิตการเป็นนักข่าวของเขาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Charles Lane ​(แสดงโดย Peter Sarsqaard) นักข่าวอาวุโสที่ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมารับตำแหน่งบรรณาธิการแทน Kelly ที่ถูกไล่ออกด้วยเรื่องส่วนตัว              

หลัง Lane ขึ้นมารับตำแหน่งไม่นานนัก Glass ได้เขียนรายงานข่าวที่แฝงไปด้วยความบันเทิงเกี่ยวกับชีวิตของแฮกเกอร์รุ่นเยาว์คนหนึ่งที่หลังจากแฮกเวบไซต์มาหลายที่ สุดท้ายก็ได้งานดีเงินงามกับบริษัทซอฟท์แวร์แห่งหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อมือแฮกคนนี้ Hack Heaven หรือสวรรค์นักแฮก คือชื่อเรื่องของบทความนั้น ซึ่งกลายมาเป็นนรกชัดๆ ของ Glass เมื่อนักข่าวหนุ่มแห่งหนังสือพิมพ์คู่แข่ง ซึ่งโดน บก. เล่นงานเพราะตกข่าวที่เป็น Talk of the Town ชิ้นนี้ ลงมือค้นหาว่าเหตุใดเขาจึงไม่ระแคะระคายเรื่องราวเกี่ยวกับการรวมตัวของแฮกเกอร์ในโรงแรมใหญ่โต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรื่องราวของ Hack Heaven ถูกเปิดเผยขึ้น แล้วความสงสัยของเขาก็ถูกส่งต่อถึงหูของ Lane ที่ทำหน้าที่ บก. ด้วยการสืบค้นข้อเท็จจริงจนพบว่าทุกอย่างใน Hack Heaven ล้วนไม่ใช่เรื่องจริง แทนที่ Glass จะสารภาพเขากลับเลือกที่จะเผชิญหน้ากับ Lane ผู้พยายามทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการที่ดี Glass สร้างพยานหลักฐานทุกอย่างขึ้นมา (ใครอยากเห็นความสามารถใจการสร้างพยานหลักฐานของ Glass ไปหาหนังเรื่องนี้ดูแล้วจะอึ้งและทึ่ง) เพื่อจะยืนยันว่าทุกอย่างเป็นเรื่องจริง ในระหว่างการต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฏนี้เอง Lane ต้องพบกับแรงกดดันอีกทางหนึ่งเมื่อคนในกองบรรณาธิการเริ่มมองว่าสิ่งที่เขาทำคือการกลั่นแกล้งคนที่เคยเป็นพวกเดียวกับ Kelly บรรณาธิการที่ถูกไล่ออกไปก่อนหน้า     

          

เรื่องนี้จบลงด้วยการยอมรับสารภาพของ Glass ว่า  Hack Heaven เป็นรายงานข่าวที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงแต่อย่างใด เป็นงานนิยายที่เขาสร้างขึ้นมาล้วนๆ ทั้งตัวละคร พล็อตเรื่อง และสถานที่เกิดเหตุ สุดท้าย Glass โดนไล่ออก โดยก่อนจะลาจากกองบรรณาธิการ The New Republic ไป Glass เปิดเผยว่าในบรรดางานเขียนที่ทำให้เขาเป็นนักข่าวที่รุ่งโรจน์ก่อหน้านั้นมีจำนวนถึง 27 ชิ้น ที่เขาเขียนขึ้นโดยใช้ความจริงเพียงส่วนเดียวและบางเรื่องอาจไม่มีความจริงเลย               

จะเกิดอะไรขึ้นหากบรรณาธิการในช่วงที่ Hack Heaven ได้รับการตีพิมพ์คือ Kelly ไม่ใช่ Lane               

ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดคุณภาพและอนาคตของนักข่าวโดยเฉพาะผู้ที่มาใหม่จะอยู่ในมือของบรรณาธิการ ใครโชคดีได้ร่วมงานกับบรรณาธิการมือดีมีประสบการณ์และคุณธรรมก็ถือว่าโชคดี เมื่อประมาณสอง- สามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังเด็กๆ นักข่าวรุ่นใหม่คุยกันถึงการทำงานข่าวในสมัยนี้ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเล่าว่ามีความสุขกับการทำงานมาก เพราะเขียนอะไรไป ส่งอะไรไป บก. ก็ใช้ทั้งหมด ฟังแล้วได้แต่คิดในใจว่า “ไอ้น้องเอ๋ย  การเอาทุกเรื่อง ใช้ทุกเรื่องของ บก. ไม่ได้แปลว่าเอ็งเก่ง แต่มันอาจหมายถึงการไม่มีคุณภาพของ บก. และอาจกลายเป็นว่าเอ็งกำลังขุดหลุมพรางแห่งวิชาชีพให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเอ็งจะไม่มีวิจารณญาณในการแยกข่าวที่ดี มีคุณภาพ ออกจากข่าวที่ไม่ดีและไม่มีคุณภาพเลย”       

ผู้เขียนไม่เคยเป็นบรรณาธิการเต็มตัว แต่มีประสบการณ์ทำงานกับ บก. มาหลายคน และเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองและเพื่อนร่วมวงการว่า เมื่อบรรณาธิการไม่มีคุณภาพมันทำให้เรื่องราวมากมายที่ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ทางสื่ออื่นมันเป็นเรื่องราวที่ไม่มีคุณภาพไปด้วย ประสบการณ์กับบรรณาธิการที่ผู้เขียนจำได้ไม่รู้ลืม เกิดขึ้นสมัยร่วมงานกับสื่อยักษ์ใหญ่ค่ายหนึ่ง (อยากรู้ค่ายไหนไปสืบประวัติผู้เขียนเอาเอง) เมื่อบรรณาธิการท่านหนึ่งเดินอย่างสง่าผ่าเผยขึ้นไปบนเวทีสัมมนาแนะนำเทคนิคการเขียนข่าวให้เร็วและตรงกับความต้องการของผู้รับข่าวในโลกแห่งเทคโนโลยีการสื่อสาร

ท่ามกลางผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการของทุกสื่อในเครือ บรรณาธิการผู้นั้นกล่าวขณะมีสปอตไลท์จับอยู่กลางเวที “เราต้องรู้จักใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ในการค้นข้อมูล ผมสามารถเขียนวิจารณ์บัลเลต์จากต่างประเทศที่จะมาแสดงโดยที่ไม่ได้ไปดู”

ผู้เขียนซึ่ง ณ วันนั้น เป็นเพียงนักข่าวตัวเล็กๆ ที่ใฝ่รู้ ยกมือถามทันควัน “แล้วมันต่างจากการนั่งเทียนเขียนข่าวยังไงคะ”

เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า บรรณาธิการมีความสำคัญกับอนาคตของนักข่าวจริงๆ เพราะหลังจากนั้นชีวิตการเป็นนักข่าวของผู้เขียนในสำนักข่าวแห่งนั้นไม่เคยรุ่งโรจน์ และถึงวันนี้ผ่านมาแล้วเกินสิบปีผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่า วันนั้นตูถามอะไรผิดวะ  

เกี่ยวกับผู้เขียน:  เพ็ญนภา หงษ์ทอง อดีตผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation) ปัจจุบัน ทำงานเขียน งานแปลอิสระ และเป็นบรรณาธิการร่วม มีเดีย อินไซต์ เอ้าท์  

 

บทบาทของบรรณาธิการ จากแก้วที่แตกละเอียดถึงช็อกโกแลตลดน้ำหนัก