จากเด็กชายที่ถวิลหาแต่เรื่องเมืองจีน มาเป็นนักข่าวอิสระผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ คือยอดนักข่าวตัวอย่างแห่งยุคนักข่าวพลเมือง ด้านการเมืองและข่าวต่างประเทศ
ขณะที่หลายๆ คนอาจใช้เวลาในวัยเกษียณเพลิดเพลินกับอาหารอันเอร็ดอร่อย การเดินทางท่องเที่ยว การทำสวน ดูโทรทัศน์ และเลี้ยงหลาน แต่สงวนทำเพียงไม่กี่อย่างในกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว เขาออกทำข่าวภาคสนามในทุกๆ เรื่องที่เป็นข่าวพาดหัว และยังคงเป็นนักข่าวติดดินที่ยืนหยัดสัตย์ซื่อกับรายงานข่าวผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ในนาม “สำนักข่าวหงวนจัดให้”
แม้ว่าจำนวนผู้ติดตามเฟสบุ๊คของเขามีเพียง 2,000 กว่าคน แต่ผู้ติดตามเหล่านี้ล้วนเป็นแฟนเพจคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกราชนิกุล, นักการทูต, อดีตนักการทูต, นักเคลื่อนไหว (ทั้งในประเทศและที่ลี้ภัยอยู่ในต่างแดน), นักวิชาการ, นักข่าว และนักศึกษา
ก่อนหน้าที่เขาจะเริ่มทำงานข่าวของตัวเอง สงวนมีประสบการณ์ทำงานกว่า 40 ปีในฐานะนักแปล นักข่าว ผู้รายงานข่าว คอลัมนิสต์ นักข่าวอิสระ นักวิจารณ์ อาจารย์ และครูผู้ชี้แนะสำหรับนักข่าวรุ่นหลัง ประสบการณ์ที่ทำข่าวเกี่ยวกับอินโดจีน เอเชียตะวันออก อาเซียน และคาบสมุทรเกาหลี มาตลอดชีวิต ให้กับสำนักข่าวหลายสิบแห่งใน ฮ่องกง, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น ตลอดจน หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (The Nation) และ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ทำให้เขาเป็นแหล่งข่าวที่อุดมข้อมูลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและข่าวภูมิภาค
“ผมไม่เคยฝันที่จะเป็นนักข่าว,” สงวนกล่าว “ผมมาจากครอบครัวยากจนที่ไม่มีทางเลือกมากนัก" สงวนมีชื่อจีนว่า “เจิ้นถิง หลิว” เกิดในครอบครัวคนจีนแต้จิ๋วย่านเยาวราช มารดาของเขาเกิดในเมืองไทย แต่บิดามาจากเมืองจีน สงวนสารภาพว่าในวัยเด็กเขาเคยเป็นพวกจีนหัวโบราณสุดๆ และไม่สนใจใช้ภาษาไทยเลย
หลังจากใช้ชีวิตวัยรุ่นในไต้หวัน สงวนในวัย 20 ปีมีโอกาสเข้าทำงานแปลข่าวภาษาไทยเป็นภาษาจีนให้กับหนังสือพิมพ์จีนศิรินคร (หนังสือพิมพ์เกียฮั้ว) และเป็นช่วงเวลาที่เขาเริ่มต้นทำข่าวการเมือง ชีวิตเขาคลุกคลีและคร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้
สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ / ภาพโดย บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ในปี พ.ศ. 2527 เขาได้งานเป็นผู้สื่อข่าวให้กับ Lianhe Zaobao สำนักข่าวสิงคโปร์ เมื่อเขารายงานข่าวเวียดนามยึดครองกัมพูชา นับเป็นโอกาสครั้งแรกที่ขยายพรมแดนด้านการรายงานข่าวสำหรับเขา
“ผมชอบเขียนข่าวให้กับสื่อไทยและจีนมากกว่า เพราะรู้สึกมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและสามารถส่งข่าวเดี่ยวให้ได้,” สงวน หรือที่คนรู้จักนับถือเรียกกันว่า “เฮีย” (พี่ชาย) กล่าว
เสื้องานครบรอบ 60 ปี สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ที่เพื่อนๆหลากวัยร่วมกันจัดทำให้เป็นที่ระลึก
ในช่วงวัยเปี่ยมพลัง บ่อยครั้งที่สงวนทำข่าวได้โดดเด่นกว่าคนอื่นๆ ด้วยข่าวเดี่ยวและข้อมูลจากเอกสารของทางการที่สื่ออื่นๆ ไม่ได้รับ บางประเทศปฏิเสธรายงานข่าวของเขา แต่ข่าวเดี่ยวบางชิ้นของเขาได้กลายเป็นรายงานชิ้นเยี่ยม เช่น ข่าวการรวมพม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และข่าวการชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติระหว่างศรีลังกาและไทย เป็นต้น
แม้ว่าเขาจะเป็นทั้งที่รักและที่ชังของเพื่อนนักการทูต สงวนเคยได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์จีนและเกาหลี กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2538 ถึง 2540 ความรู้ลึกซึ้งและสัญชาตญาณที่เข้าใจถึงชีวิตจิตใจของประเทศหลังม่านเหล็กของเขาเป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ
ในบรรดาประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุดของเขา ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป คือ การรายงานข่าวเหตุการณ์จับตัวประกันเกาหลีเหนือ เมื่อครั้งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้เบาะแสเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ลักพาตัวนักการทูตระดับสูงของเกาหลีเหนือและครอบครัว รายงานชิ้นนี้เป็นข่าวเด่น แต่ก็ทำให้สงวนได้รับคำข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเช่นกัน
หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในสิงคโปร์ยังส่งเขาไปพม่าเพื่อทำข่าวเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาในปี 2531 เขาจดจำอย่างขมขื่นว่าสถานทูตไทยปฏิเสธการให้ที่หลบภัยแก่เขา ในที่สุด เขาจึงต้องเข้าไปซุกตัวหลบภัยในสถานทูตสหรัฐในกรุงย่างกุ้ง
ปีต่อมา เขาได้รับเชิญจากกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกวางโจวไปเยือนประเทศจีน แต่ด้วยสัญชาตญาณนักข่าว เขากลับไปรายงานข่าวเรื่องการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน รางวัลที่ได้คือ เขาถูกปฏิเสธวีซ่าเดินทางเข้าประเทศจีนเป็นเวลา 2 ปี
สไตล์ดุเดือดถึงลูกถึงคนของสงวน บางทีก็สร้างศัตรูกับเขาเหมือนกัน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและเทคโนแครต การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและการทูตอย่างขวานผ่าซากของเขากระทบกับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองไทยแบ่งขั้วแยกฝ่ายในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
เมื่อเวลาผ่านไป และหลังจากที่เขาให้เวลาทุ่มเทกับการรายงานข่าวทางเฟสบุ๊ค คุณค่าข่าวของเขาได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ในเวลาที่สื่อส่วนใหญ่นำเสนอข่าวเหมือนๆ กัน ผู้อ่านข่าวของเขาสนุกสนานไปกับการที่เขาใช้เกร็ดส่วนตัว และสำนวนเฉพาะตัวในการเล่าเรื่องและแสดงความเห็นต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในแต่ละวัน
“เราอย่าเปรียบเทียบสื่อสมัยก่อนกับสมัยนี้ดีกว่า เพราะว่าคุณจะต้องผิดหวัง,” สงวนกล่าว “สมัยก่อนผู้ประกอบการสื่อไม่กลัวถูกปิด หรือติดคุก เพราะพวกเขาอุทิศตนให้กับอาชีพสื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวกับบรรณาธิการใกล้ชิดกันมากกว่าและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่า”
แน่นอนว่าข้อดีของสื่อสมัยใหม่คือการมีเทคโนโลยีและการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย
แต่นักข่าวไม่ลงแรงขุดคุ้ยหารายละเอียดและความเป็นมาของข่าว โดยเฉพาะข่าวโทรทัศน์ “นักข่าวหลายคนไม่ทำการบ้านก่อนนั่งหน้ากล้อง ข่าวต่างประเทศยังต้องพึ่งสำนักข่าวต่างประเทศแทนที่จะทำการวิเคราะห์เอง”
จากคนเขียนข่าวบนกระดาษก่อนส่งแฟ็กซ์เข้าสำนักงาน สงวนต้องเรียนรู้การพิมพ์ภาษาจีน อังกฤษ และไทยทั้งบนแป้นคอมพิวเตอร์และบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อรายงานข่าวทางเฟสบุ๊ค
แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่หลักการของสื่อมวลชนยังคงเดิม เขากล่าว และหากมีบทเรียนใดที่เขาจะบอกต่อ นั่นคือ นักข่าวต้องทำงานในเรื่องที่ตรงใจ รู้สึกใกล้ชิด รู้เรื่องราวเหล่านั้นดี ต้องสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับแหล่งข่าว และต้องไม่ลืมกฎของการตรวจสอบและถ่วงดุล
ในฐานะนักข่าวพลเมืองผู้มากประสบการณ์ เขามักได้เบาะแสข่าวจาก “เพื่อนๆ” –บางครั้งจากวงใน–ผู้ไม่ต้องการสื่อสารโดยตรงกับสื่อกระแสหลัก
“น่าเสียดายที่ประเทศไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเวทีที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของสื่อและภาคประชาสังคม แต่ตอนนี้เราสูญเสียสถานะนั้นไปแล้ว ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ก็คล้ายๆกัน ตอนนี้ กัมพูชาและเวียดนามอาจกำลังสร้างแบบอย่างที่ชัดเจนในวิชาชีพสื่อ” ผู้ริเริ่มการเป็นนักข่าวพลเมืองในแบบฉบับของตัวเองที่ยังคงทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง กล่าว
หมายเหตุ: มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ แปลจาก On the front, Online ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post วันพุธที่ 10 มิถุนายน 2558
http://www.bangkokpost.com/lifestyle/social-and-lifestyle/588077/on-the-front-online
