Skip to main content

Prohibition “งดดื่มสุราแห่งชาติ” แน่ใจว่าเอาอยู่? ลองดูประสบการณ์จากอเมริกา

การประกาศของสำนักนายกฯให้ช่วงเข้าพรรษาเป็นวัน งดดื่มสุราแห่งชาติอันมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเปิดเพจวิพากษ์วิจารณ์ ในชื่อ ซดเหล้าเข้าพรรษาตามมาด้วยการที่ทราย เจริญปุระ โดนทั้งชมทั้งถล่มในสารพัดมีเดียเก่าใหม่จากการไปกดไลค์ ทำให้การรณรงค์งดดื่มเหล้าดูมีสีสันมากเป็นพิเศษในปีนี้

แม้จะไม่เคยเห็นด้วยกับตรรกะบิดเบี้ยวที่ประโคมผ่านสื่อดราม่าโดยองค์กรพันธมิตรที่รณรงค์ต่อต้านการดื่มสุราในช่วงหลายปีมานี้ จนเพราะกินเหล้า ถ้าเลิกเหล้าก็จะเลิกจนหรือ ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” “กินเหล้า  กินแรง รวมไปถึง งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อดวงตาเห็นธรรม แต่ก็ไม่เคยออกมาแสดงความเห็น เพราะไม่ได้มีประเด็นที่ใหม่ไปกว่าที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่

จนได้ดูภาพยนตร์สารคดียาวเกือบหกชั่วโมงที่เสนอครั้งแรกผ่านสถานีโทรทัศน์ PBS ของอเมริกาสามตอนจบเมื่อปี 2011 Prohibition ซึ่งตอนนี้หาดู online ได้ไม่ยาก เมื่อดูแล้วก็อยากสะท้อนบทเรียนราคาแพงทางประวัติศาสตร์ของอเมริกาให้สังคมไทยฟัง ก่อนใครจะได้ใจยกระดับรณรงค์ต่อต้านการดื่มสุราจนเลยเถิดเอาไม่อยู่เหมือนอเมริกา

หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเคารพเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างอเมริกาเคยทำให้ เครื่องดื่มแอลกอฮอร์เป็นสิ่งผิดกฏหมายถึงขนาดบัญญัติเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญในปี 1920 และนำมาซึ่งความโกลาหลทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเป็นเวลา 13 ปีก่อนจะถูกยกเลิกไปในที่สุดเมื่อปี 1933  และนับเป็นกฏหมายเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียวใน 27 เรื่องตลอดประวัติศาสตร์ 225 ปีของรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ต้องถูกยกเลิกหลังจากสร้างปัญหามากมายจนถูกต่อต้านจากกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมขนานใหญ่

การประกาศยกเลิกบทบัญญัติ Prohibition ในอเมริกา เป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ Prohibition มีจุดเริ่มต้นจากการณรงค์ให้สุราเป็นสิ่งผิดกฏหมายโดยเชื่อมโยงกับประเด็นทางศาสนาเช่นกัน โดยในกรณีนี้มีหัวหอกคือกลุ่มผู้ถือศาสนาคริสต์โปรเตสแตนท์อันมีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมดีในอเมริกายุคนั้น ประเด็นรณรงค์ล้วนเป็นประเด็นที่คุ้นหู เช่น กำจัดความรุนแรงความแตกแยกในครอบครัว ปกป้องผู้หญิง ลดอาชญากรรม ลดความยากจน สร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม รวมไปถึงการสร้างเสริมสุขภาพอีกต่างๆ นานา โดยไม่สนใจว่าไปจำกัดสิทธิของคนอีกส่วนใหญ่ๆ ที่ี่นับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาในอเมริกาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นคนอิตาเลียน ไอร์ริช เยอรมัน นิกายที่คนเหล่านี้นับถือไม่เพียงไม่เห็นการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหา หนำซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แต่คนกลุ่มนี้ มาเริ่มต้นชีวิตในอเมริกาด้วยฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงาน จึงถูกสร้างภาพให้เป็น มะเร็ง สังคมเพราะดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถูกเอาไปเชื่อมโยงกับการก่อความรุนแรงต่างๆนานา

หากแต่ตลอดเวลา 13 ปีที่กฏหมาย Prohibition ถูกบังคับใช้ รัฐบาลอเมริกันต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อปราบปรามและควบคุมการผลิต นำเข้า จำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกรูปแบบ แต่ยิ่งปราบธุรกิจใต้ดินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งเบ่งบาน เกิดตำนานเจ้าพ่อมาเฟียชื่อดังอย่าง อัล คาร์โปน        (Al Capone) ที่เพิ่มอำนาจและอิทธิพลแบบทวีคูณจากธุรกิจใต้ดินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่การเข้าถึงสื่อ คนจากทุกสาขาอาชีพผู้สบช่องเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจใต้ดินมีโอกาสเป็นเศรษฐีกันข้ามคืน คนอเมริกันเริ่มสับสนทางจริยธรรมเมื่อเห็น คนทำมาหากินสุจริตกลายเป็นอาชญากรเพียงเพราะดื่มเบียร์หลังเลิกงาน แต่คนร่ำรวยจากการทำธุรกิจน้ำเมาใต้ดินกลับถูกยกย่องในฐานะเซเลบ ขณะเดียวกันก็เกิดแกงค์อาชญากรรมฆ่ากันสนั่นเมือง ที่ซ้ำร้ายวงการตำรวจเป็นเสียเอง เกิดการคอรัปชั่นขนานใหญ่ ทั้งค้าเองทั้งเก็บค่าคุ้มครอง (ฟังคล้ายๆ กับกรณีที่บ่อน ยาบ้า กับซ่องในบางประเทศไหม?) มีผับ บาร์ที่ยังคงขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันเต็มเมือง เกิดบาร์ที่เรียกกันว่า speakeasy ที่เป็นที่เที่ยวของหนุ่มสาววัยทำงาน งานเลี้ยงไฮโซก็ดื่มกันเอิกเกริก แม้แต่ซุเปอร์มาเก็ตก็มี “น้ำผลไม้” ที่หลังกล่องสอนวิธีผสมเป็นเครื่องดื่มอย่างอื่นกันเปิดเผย ทุกคนเห็นการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องตื่นเต้นท้าทายเข้าทำนองยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

"ส่วนหนึ่งของป้ายรณรงค์งดดื่มสุราช่วงเข้าพรรษาของประเทศไทย" 

และเมื่อย้อนกลับมาดูการรณรงค์เรื่องเดียวกันในสังคมไทยจะเห็นว่าเป็นการรณรงค์โดยดึงหลักศาสนามาเชื่อมโยง และส่วนมากเน้นไปที่คนสถานะทางเศรษฐกิจสังคมระดับล่างเช่นกัน จริงอยู่ว่าการละเว้นการดื่มของมึนเมาเป็นหนึ่งในศีลห้าข้อของพุทธเถรวาท เพื่อป้องกันการไปสู่การกระทำที่อาจจะขาดสติ แต่พุทธนิกายอื่นๆ ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ การจะเป็นมนุษย์ที่ดีหรือไม่ หาได้ขึ้นอยู่กับรสนิยมดื่มของมึนเมาหรือไม่ จะว่าไปโลกใบนี้คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบการดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มอย่างรับผิดชอบโดยขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมมากมาย ในทางตรงกันข้ามก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยแตะต้องแอลกอฮอล์เลยในชีวิต แต่ได้ก่อเรื่องเลวร้ายให้ผู้อื่นและสังคมเช่นกัน ดังนั้นการเหมาเข่งแบบไม่แยกแยะระหว่างการดื่มอย่างรับผิดชอบกับการดื่มแบบผิดๆ จนเป็นปัญหาสังคม ทำให้ทุกคนที่แตะต้องแอลกอฮอล์กลายเป็น   “นักดื่ม” ซึ่งในความเป็นจริงมีคนที่ดื่มอย่างรับผิดชอบจำนวนไม่น้อย ที่เห็นด้วยว่าการดื่มอย่างหลังเป็นปัญหาและยินดีเข้ามาร่วมมีส่วนช่วยสังคมแก้ไขเรื่องนี้ หากแต่ทุกวันนี้กลับถูกเหมาอยู่ในเข่งคนสร้างปัญหาไปกับเขาด้วย  การใช้วาทกรรมบิดเบี้ยวแบบนี้ องค์กรร่วมรณรงค์เคยสงสัยตัวเองว่าผิดศีลข้อสี่ ที่ห้ามพูดปด บิดเบือน ส่อเสียด ใส่ร้ายผู้อื่นหรือไม่

นอกจากนี้ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกการผลิตสุราจากวัตถุดิบท้องถิ่นถือเป็นเอกลัษณ์และเกิดเป็นสินค้าหลักๆ ที่ทำรายได้อย่างงามให้ชุมชน เช่น ในญี่ปุ่น และยุโรป หากแต่ของไทย จากการที่มีกฏหมายควบคุมเรื่องนี้เพื่อเปิดให้มีการผูกขาดการผลิตโดยรัฐวิสาหกิจและสัมปทานเป็นเวลานาน ทำให้ภูมิปัญญาด้านนี้ของเราหายไปเกือบหมด ยิ่งไปกว่านั้นในทางการแพทย์ก็ไม่มีข้อสรุปว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลร้ายต่อสุขภาพเสมอทุกกรณีไป (ไม่เชื่อลองปรึกษา ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา คอลัมนิสต์และหมอสมองระดับปรมาจารย์ของเมืองไทย)

ผู้ที่วิจารณ์กฏหมาย Prohibition ในภาพยนตร์ไม่ได้บอกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องดี ไม่มีข้อยกเว้น และสังคมไม่ควรมีกฏเกณฑ์เข้มงวดต่างๆ ที่ป้องกันเยาวชน และควบคุมการดื่มอย่างขาดสติจนสร้างปัญหาสังคม ทุกคนเห็นตรงกันถึงความจำเป็นของการมีกฏเกณฑ์ควบคุมและที่สำคัญยิ่งกว่าคือการบังคับใช้อย่างจริงจัง ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตตอนท้ายของสารคดีว่าหลังจากกฏหมาย Prohibition ถูกยกเลิก ทุกวันนี้ หาซื้อแอลกอฮอล์ดื่มยากกว่าตอนยังมีกฏหมาย เสียอีก

ยกตัวอย่างเช่นการดื่มจนเมาแล้วขับ ในอเมริกาถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ใครถูกจับข้อหานี้นอกจากมีการลงโทษอย่างจริงจังแล้ว คนที่ทำผิดเองยังถือเป็นเรื่องน่าละอายไม่กล้าแม้แต่จะบอกครอบครัวเพื่อนฝูง แต่ เป็นที่ทราบกันว่าในสังคมไทยกฏเกณฑ์แทบทุกเรื่องต่อรองได้ ขึ้นอยู่กับคุณเป็นใคร ถ้าขับเบนซ์ทะเบียนเลขสวย มีนามบัตรคุณๆ ท่านๆ หรือแม้แต่มีหน้าตาดีเหมือนเคยออกทีวี ก็อาจผ่านด่านได้หลังเจรจาภาษาดอกไม้  ล่าสุดได้ยินเหยี่ยวข่าวสายตำรวจเล่าสู่กันฟังว่าอัตราจ่ายที่จะไม่ต้องเป่าเวลาโดนเรียกที่หน้าด่านขณะนี้อยู่ที่หนึ่งหมื่นบาท เท็จจริงประการใดไม่ทราบเพราะไม่เคยจ่าย (บังเอิญมีบัตรนักข่าว อุ๊ยส์!)  ไม่ทราบว่าองค์กรที่รณรงค์เรื่องการงดดื่มเห็นว่าคอรัปชั่นในวงการตำรวจเป็นปัญหาระดับชาติที่   คอขาดบาดตายต้องรณรงค์ให้ครบเครื่องถึงต้นน้ำปลายน้ำ เพื่อชะลออันดับ Transparency International ของไทยที่ดิ่งลงทุกปีด้วยหรือไม่?

ข่าวไม่ยืนยันอีกเช่นกันว่าใครทำงานหรือรับทุนจากองค์กรหัวขบวนที่รณรงค์เรื่องนี้ถูก “ขอร้อง” ไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ผู้รับทุนบางท่านก็ยังเห็นตั้งวงเกือบทุกเย็นเลิกงาน ก็ไม่ทราบว่ามีการถูกยกเลิกสัญญาไปบ้างหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นระดับผู้บริหารขององค์กรร่วมรณรงค์บางท่านก็เคยมีชื่อเสียงในหมู่นักเรียนไทยด้วยกันเมื่อสมัยไปเรียนหนังสือเมืองนอกว่าเป็นนักดื่มตัวยง แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นท่านๆ ยังมีสมองแจ่มใสคิดทำเรื่องอื่นที่ดีๆ ให้สังคมไทยได้ตั้งหลายเรื่อง

ถ้าองค์กรที่รณรงค์งดดื่มไม่ได้ตั้งเป้าจะให้เกิดการออกกฏหมายให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งผิดกฏหมายในเมืองไทยอย่างที่อเมริกาเคยทำ (ซึ่งถึงทำก็คงถูกตีให้ตกโดยอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์ที่แสนจะอู้ฟู่และทรงอิทธิพลในประเทศอยู่ดี) อะไรคือประโยชน์ของยุทธศาสตร์แบบป่าวประกาศให้เลิกแบบ                  just say no แถม ตัดสินแบ่งแยกให้ผู้ดื่มมีความ “เป็นอื่น” ถูกแยกจากคนที่เหลือของสังคม

ประสบการณ์จัดการกับพฤติกรรมการดื่มอย่างผิดๆ จากอเมริกาและอีกหลายสังคมที่เห็นผลกว่าการชี้นิ้วตำหนิคือการให้การศึกษา โดยข้อมูลที่ถูกต้องและการยื่นมือเข้าช่วยผู้ที่เป็นเหยื่อสุราจนช่วยตัวเองไม่ได้ โดยคนในสังคมด้วยกัน ดังที่หลายการศึกษาด้านพฤติกรรมยืนยัน คนมีแนวโน้มจะตอบสนองกับข้อมูลใหม่ทางบวกกับการช่วยเหลือแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรามากกว่าการถูกสื่อประโคมห้ามโน่นห้ามนี่               (โดยที่สื่อก็เต็มใจเป็นกระบอกเสียงแบบแทบไม่ตั้งคำถาม)

จำได้ไหม Prohibition หรือการประกาศห้ามดื่มสุรา ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ผล

สรุปบทเรียนจาก Prohibition เจตนาดีคงยังไม่พอ ในทางพุทธเองก็มอริยมรรคแปดที่สอนเริ่มต้นทำทุกอย่างจากสัมมาทิฏฐิ คือมีความเข้าใจถูกต้องรอบด้าน การควบคุมความสูญเสียต่างๆของประเทศจากการดื่มแบบไม่รับผิดชอบเป็นสิ่งจำเป็น แต่การนำมาซึ่งวิธีการที่มีประสิทธิภาพ อาจต้องการมีส่วมร่วมของคนวงกว้างรวมถึงผู้ที่ดื่มอย่างรู้รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดมุมมอง ภาพปัญหาและหนทางแก้จากทุกแง่ทุกมุม จะให้ดีหากจะเริ่มต้นฉันท์มิตรไปพร้อมกระตุ้นความคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ อาจจะอุ่นเครื่องด้วยสารพัดสาโทพื้นบ้าน ซึ่งเป็นศิลปะสุนทรียสนทนาแต่ครั้งโบราณกาลที่ยังใช้ได้ดีตราบจนปัจจุบัน

Prohibition “งดดื่มสุราแห่งชาติ”