- ละตินอเมริกาในฐานะสนามหลังบ้าน
ครั้งหนึ่ง เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเรียกขานกลุ่มประเทศละตินอเมริกา ว่า ‘สนามหลังบ้าน’ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความว่าละตินอเมริกาคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ว่าด้วยความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา
ละตินอเมริกาหมายถึงกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาที่ใช้ภาษาซึ่งมีรากมาจากภาษาละติน เช่นสเปนและโปรตุเกส ในความหมายนี้เท่ากับว่านับจากประเทศเม็กซิโก ที่แม้ในทางภูมิศาสตร์จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ แต่วัฒนธรรมและภาษามีความใกล้เคียงกลุ่มละตินอเมริกามากกว่า ลงมาเป็นทวีปอเมริกากลางจนสุดขอบทวีปอเมริกาใต้ที่อาร์เจนตินาจัดเป็นประเทศละตินอเมริกาทั้งหมด ยกเว้นประเทศเบลิซที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศแคริบเบียน ทั้งที่ในทางภูมิศาสตร์ เบลิซถือเป็นส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกากลาง แต่เมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางวัฒนธรรม เบลิซเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
เนื่องจากละตินอเมริกาคือสนามหลังบ้าน คือเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อประเทศกลุ่มละตินอเมริกาอย่างก้าวร้าวในช่วงสงครามเย็น เนื่องจากความสำคัญของละตินอเมริกาในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง หากพลิกดูหน้าประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950’s เรื่อยมาจนปลายทศวรรษที่ 80 จะพบว่าเต็มไปด้วยการรัฐประหารที่สนับสนุนโดย CIA เช่นที่เกิดขึ้นในกัวเตมาลา โดมินิกัน บราซิล เอกวาดอร์ อุรุกวัย และชิลี การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จในกรณีเช เกวาราและฟิเดล คาสโตร การสังหารหมู่หรือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองที่ให้การสนับสนุนฝ่ายซ้ายในกัวเตมาลา หรือการจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลฝ่ายซ้ายอย่างเปิดเผยในนิคารากัว
การเป็น ‘สนามหลังบ้าน’ ของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นประวัติศาสตร์การเมืองซึ่งนองไปด้วยเลือดและน้ำตา
- อาเยนเด / ปิโนเชต์ / ชิลี
ซัลวาดอร์ อาเยนเด ประธานาธิบดีคนที่ 29 จากพรรคสังคมนิยมแห่งชิลี เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าอาเยนเดเป็นมาร์กซิสต์คนแรกในละตินอเมริกาที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศจากการเลือกตั้งในปี 1970 จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้มาทีหลังจำนวนมาก รวมทั้งวอลเดน เบลโล ปัญญาชนชาวฟิลิปปินส์ที่ก่อตั้งพรรคอักบายันด้วยแนวคิดการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมนิยม ภายใต้รัฐธรรมนูญตามแบบอาเยนเด อาเยนเดดำเนินนโยบายแปรรูปอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เป็นของรัฐ รวมทั้งนโยบายกรรมสิทธิ์ร่วม (Collectivisation) ในภาคเกษตรกรรม นโยบายสังคมนิยมของอาเยนเดสร้างความไม่พอใจให้ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการในประเทศ และแน่นอนว่าสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับสหรัฐอเมริกา จนเกิดรัฐประหารที่สนับสนุนโดยโดย CIA ขึ้นในปี 1973 อาเยนเดตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในทำเนียบ La Moneda โลกจึงไม่มีโอกาสได้เห็นว่าประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดในการเปลี่ยนผ่านประเทศโดยอาศัยกลไกรัฐธรรมนูญ
ซัลวาดอร์ อาเยนเด อดีตประธานาธิบดีคนที่ 29 แห่งชิลี ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้นำสังคมนิยมรุ่นหลังจำนวนมาก
ออกุสโต ปิโนเชต์ ขึ้นครองอำนาจต่อจากอาเยนเด ด้วยแนวคิดเสรีนิยม
ออกุสโต ปิโนเชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่อัลเยนเดเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเพียงสองเดือนก่อนรัฐประหารในเดือนกันยายน 1973 กลายเป็นประธานาธิบดีในปี 1974 และด้วยอิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ชาวชิลีกลุ่ม ‘ชิคาโกบอยส์’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้นำแนวคิดเสรีนิยมใหม่มาทดลองใช้กับชิลี (ก่อนที่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และ โรนัลด์ เรแกน จะนำไปปรับใช้กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และบังคับใช้ระบบตลาดเสรีที่ลดข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุดกับทั่วโลก) ภายใต้การชี้นำของมิลตัน ฟรีดแมน
รัฐบาลปิโนเชต์ดำเนินนโยบายตรงข้ามกับอาเยนเดด้วยการเปิดตลาดเสรีแบบสุดขั้ว เช่น การลดภาษีศุลกากร จำกัดสิทธิในการตั้งสหภาพแรงงาน แปรรูปสวัสดิการสังคมให้เอกชนดำเนินการ แปรรูปอุตสาหกรรมของรัฐจำนวนมากให้เป็นของเอกชน แม้ฝ่ายปิโนเชต์จะอ้างว่านโยบายนี้ทำให้ประชาชนในชิลีกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายตลาดเสรีสุดขั้วนี้สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นอกจากการนำนโยบายเสรีนิยมใหม่มาใช้ในฐานะ “สนามทดลอง” แล้ว รัฐบาลเผด็จการของปิโนเชต์ยังขึ้นชื่อลือชาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในปี 1979 องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานว่ามีผู้สูญหายประมาณ 1,500 คน ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รายงานของรัฐบาลชิลีที่ทำการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาที่ปิโนเชต์เรืองอำนาจกล่าวว่ามีผู้ถูกสังหารอย่างน้อย 3,197 คน และถูกทรมานราว 29,000 คน
หลังจากครองอำนาจมาเป็นเวลายาวนานถึง 14 ปี ปิโนเชต์พ่ายแพ้ให้กับการลงประชามติที่จะต่ออายุการเป็นประธานาธิบดีออกไปอีก 8 ปี ทำให้ปิโนเชต์ต้องพ้นจากอำนาจ เมื่อกลุ่มนายทหารระดับสูงปฏิเสธที่จะยืนข้างปิโนเชต์และยืนยันให้ปิโนเชต์ยอมรับผลการลงประชามติ เรื่องราวเบื้องหลังชัยชนะของชาวชิลีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ No ของผู้กำกับ Pablo Larraín
จุดจบของปิโนเชต์ไม่สวยงามเหมือนเผด็จการในบางประเทศ ปิโนเชต์ถูกจับในสหราชอาณาจักรในปี 1998 คดีปิโนเชต์ถือเป็นคดีตัวอย่างของการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศถูกจับกุมภายใต้หลักการแห่งขอบเขตอำนาจกฎหมายสากล (Universal Jurisdiction) จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยหมายจับสากลที่ออกโดยผู้พิพากษาชาวสเปนในข้อหาทรมานประชาชนสัญชาติสเปน 94 กรณี รวมถึงการลอบสังหารนักการทูตสเปนในปี 1975 ซึ่งความผิดข้อหาทรมานนั้นถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against Humanity) ที่สามารถถูกลงโทษภายใต้เขตอำนาจศาลทั่วโลก (ในปี 1998 ธรรมนูญกรุงโรมหรือ Rome Statue ยังไม่มีผลบังคับใช้)
สุดท้าย ปิโนเชต์ถูกคุมขังภายในบ้านที่ชิลีและเสียชีวิตโดยไม่ได้รับการจัดงานพิธีศพจากรัฐบาลชิลี วันที่ปิโนเชต์ตาย ประชาชนจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนไม่ต่างอะไรจากวันที่มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ลาโลก
- No to Pinochet! พลังสื่อเบื้องหลังการต่อต้านของพลเมือง (Civil Resistance)
ภาพยนตร์เรื่อง ‘No’ กำกับโดยผู้กำกับชาวชิลี Pablo Larraín นำแสดงโดยพระเอกเม็กซิกันสุดฮอตแห่งยุค Gael Garcia Bernal ผู้ซึ่งรับบทเช เกวาราในภาพยนตร์ The Motorcycle Diaries และ No ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมครั้งที่ 85 แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ Amour ของผู้กำกับชาวออสเตรีย Michael Haneke
ปาโบล กับใบปิดภาพยนตร์ No ที่เขาเป็นผู้กำกับ
ชิลีถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาคลาสสิคว่าด้วยการต่อต้านของพลเมือง (Civil Resistance) เพราะหลังจากครองอำนาจมา 14 ปี สุดท้ายปิโนเชต์ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับเจตจำนงของประชาชนที่โหวต No และแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าพวกเขาไม่ต้องการปิโนเชต์ในฐานะผู้นำประเทศอีกต่อไป แม้ว่าปิโนเชต์จะพยายามขัดขืนมติมหาชน แต่ความพยายามนั้นไม่เป็นผลสำเร็จเมื่อเหล่าผู้นำทหารไม่เข้าข้างปิโนเชต์ และเบื้องหลังความสำเร็จระดับปรากฏการณ์นั้นมีพลังของงานสื่อสารมวลชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแคมเปญ No จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของปิโนเชต์
การ์เอล การ์เซีย เบอร์นัลรับบทเป็น René Saavedra นักโฆษณาหนุ่มซึ่งกลายมาเป็นหนึ่งในทีมแคมเปญ No ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามปิโนเชต์ ซึ่งประกอบด้วยพรรคคริสเตียนประชาธิปไตย พรรคสังคมนิยม และพรรค Radical ภายใต้ชื่อ Alianza Democrática (Democratic Alliance) แม้ทุกคนจะคิดว่าการลงประชามติครั้งนี้ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับปิโนเชต์ในการครองอำนาจต่อไปอีก 8 ปี แต่ชายหนุ่มนักโฆษณาอย่างเรเน่เชื่อมั่นในทักษะวิชาชีพของตัวเองว่าจะนำชัยชนะมาให้กับฝ่าย No ได้
การ์เอล การ์เซีย กับบทบาทของเรเน่ ในภาพยนตร์ No
กติกาของการรณรงค์เพื่อการลงประชามติครั้งนี้คือทั้งสองฝ่ายมีเวลา 27 วัน เพื่อนำเสนอมุมมองของทั้งฝ่าย Yes และ No ฝ่ายละ 15 นาทีในรายการโทรทัศน์ ก่อนที่เรเน่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม แคมเปญ No เน้นไปที่ความโหดเหี้ยมของระบอบเผด็จการภายใต้การนำของปิโนเชต์ และนำเสนอด้วยภาพข่าวหรือสารคดีประกอบข้อความแห้งแล้ง เรเน่เข้ามาเปลี่ยนทัศนคติงานรณรงค์ของฝ่าย No ว่าแม้จะเป็นประเด็นทางการเมืองหนักหนาเข้มข้นแต่ก็สามารถเติมความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกสนานและมุมมองในแง่บวกลงไปได้ แคมเปญ No เปลี่ยนจากการเสนอแง่ลบของปิโนเชต์มาเป็นการล้อเลียนปิโนเชต์ และนำเสนอภาพอนาคตอันสดใสของชิลีในวันที่ปราศจากเงาของผู้นำเผด็จการภายใต้สโลแกน “La alegría ya viene” (Joy is coming) รวมถึงการใช้สีสันสดใสในงานแคมเปญเพื่อดึงดูดทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว ในขณะที่แคมเปญ Yes เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อแข็งกระด้างไร้อารมณ์
แต่ใช่ว่าแคมเปญ No สีลูกกวาดของเรเน่จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อตัวแคมเปญต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งหลายคนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลปิโนเชต์ ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน การถูกบังคับให้ลี้ภัย หรือในฐานะญาติของผู้สูญหาย และมองว่าแคมเปญที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน การล้อเลียน และการนำเสนอแง่บวกของเรเน่เป็นการจงใจ “ลืม” ผู้ได้รับผลกระทบและต้องทนทุกข์ทรมานจากการใช้อำนาจของปิโนเชต์ แต่สุดท้ายแคมเปญของเรเน่พิสูจน์ว่ามาถูกทางเมื่อเสียงสนับสนุนฝ่าย No เพิ่มขึ้นจนฝ่าย Yes เริ่มหวาดหวั่น จนต้องใช้อำนาจนอกกฎหมายมาข่มขู่คุกคามทีรณรงค์ของฝ่าย No และใช้การเซ็นเซอร์มาขัดขวางการรณรงค์ของฝ่าย No แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่าย No สามารถฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้ประชาชนโกรธแค้นการใช้อำนาจของฝ่ายปิโนเชต์เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของฝ่ายตรงข้าม แคมเปญ No ได้รับการสนับสนุนจากทั้งกลุ่มศิลปินในชิลีและนักแสดงฮอลลีวูดที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญในช่วงโค้งสุดท้าย
และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1988 แม้ในการสำรวจคะแนนเสียงก่อนวันลงประชามติ ฝ่าย No จะไม่เคยมีคะแนนนำฝ่าย Yes เลยก็ตาม แต่ในวันลงประชามติ ประชาชนคือผู้กำหนดอนาคตของชิลีเมื่อฝ่าย No ได้รับคะแนนโหวตที่ 55.99 % ในขณะที่ฝ่าย Yes ได้รับคะแนนโหวตเพียง 44.01 % แม้ปิโนเชต์จะพยายามขัดขืนเจตจำนงของประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้เมื่อเหล่าผู้นำทหารที่เป็นฐานอำนาจเผด็จการยืนยันว่าปิโนเชต์ควรลงจากตำแหน่ง
การย้ายมายืนข้างประชาชนของเหล่าผู้นำทหารหลังการลงประชามติครั้งนี้ได้รับการอธิบายด้วยปรากฏการณ์ Defection ในการศึกษาเรื่องการต่อต้านของพลเมือง (Civil Resistance) [1] ซึ่งว่าด้วยการเอาใจออกห่างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างทหารหรือตำรวจและไม่สนับสนุนระบอบอันกดขี่อีกต่อไป เหมือนที่เคยเกิดในฟิลิปปินส์เมื่อปี 1986 เมื่อเหล่าผู้นำทหารปฏิเสธที่จะเข้าข้างมาร์กอสและย้ายมายืนอยู่กับประชาชน (โดยไม่ต้องลากรถถังออกมาทำรัฐประหารเหมือนกรณีอียิปต์ ซึ่งไม่ถือเป็นการ Defection เพราะทหารในกรณีของชิลีและฟิลิปปินส์ไม่ได้ครองอำนาจในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย) แต่เบื้องหลังมติมหาชนที่ทำให้ผู้นำเหล่าทัพทั้งหลายต้องยอมจำนนต่อเสียงข้างมากในชิลีคือความสร้างสรรค์และอารมณ์ขันของแคมเปญ No
แม้ว่าจะต่างบริบทต่างยุคต่างสมัย แต่ภาพยนตร์เรื่อง No นำเสนอแง่มุมน่าสนใจซึ่งนักรณรงค์รุ่นใหม่ที่กำลังมองหาวิธีการสื่อสารกับสาธารณชนในประเด็นที่มีความขัดแย้งสูงอาจจะนำไปขบคิดต่อ ว่าจะทำอย่างไรให้งานรณรงค์ของเราเย้ายวนใจผู้รับสาร อารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์ และพลังของการสื่อสารในแคมเปญ No อาจจะพอเป็นความหวังว่ากระทั่งในสังคมที่กดขี่เสรีภาพประชาชนอย่างเลวร้ายที่สุดก็ยังคงมีทางออก
เกี่ยวกับผู้เขียน พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ อดีตนักศึกษาภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง/ วารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเรียนปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศที่คอสตาริกา สนใจและติดตามประเด็นเสรภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออก ภาพยนตร์ศึกษา และกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นพิเศษ
[1] Why Civil Resistance Works: The strategic of nonviolent conflict (2008), Stephan and Chenoveth, http://www.mitpressjournals.org/doi/pdf/10.1162/isec.2008.33.1.7
