ในยุคดิจิทัลที่สื่อออนไลน์คล้ายจะมีบทบาทเหนือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เหมือนกำลังรอวาระสุดท้ายในยามอาทิตย์อัสดง เรามักได้ยินเสียงติติงการทำงานของคนสื่อออนไลน์เป็นประจำในประเด็นความผิดพลาดต่างๆ ตั้งแต่ขั้นต่ำสุดคือ สะกดคำผิด ไปจนถึงขั้นสูงเช่น สะกดชื่อแหล่งข่าวผิด แปลข่าวผิด เขียนข่าวผิด เขียนข่าวอ่านไม่รู้เรื่อง ฯลฯ
หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ ไม่ทำข่าวเลย เอาแต่ลอกสเตตัสเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์หรือภาพจากอินสตาแกรมของบรรดาคนดังมาเป็นข่าว ไม่เช่นนั้นก็ก๊อปคลิปที่มีคนแชร์กันเยอะในโลกออนไลน์มาเผยแพร่ซ้ำ ซึ่งบ่อยครั้งไม่มีเนื้อหาน่าสนใจนอกจากความหวือหวาชั่ววูบ
คำถามน่าคิดคือสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวในหน้าข่าวออนไลน์ของบรรดาสำนักข่าวต่างๆ นั้น ยังคงเรียกว่า “ข่าว” ได้หรือไม่? สิ่งเหล่านั้นคือ “ความจริง” ที่นักข่าวมีพันธสัญญาว่าจะต้องไปเสาะหามานำเสนอผู้บริโภคข่าวหรือไม่? อะไรคือหน้าที่ของนักข่าวออนไลน์ในปัจจุบันนี้ หาข่าว รายงานข่าว หรือลอกข่าว?
ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงและน่าสนใจมากก็คือ เรื่องราวในโลกโซเชียลมีเดียของผู้คนโดยเฉพาะบรรดาคนดังทั้งหลายนั้น ควรนับเป็นข่าวหรือไม่? สื่อควรลอกเรื่องราวเหล่านั้นจากโลกโซเชียลมีเดียมาเสนอซ้ำในสื่อออนไลน์ของตนหรือไม่? ข่าวเหล่านั้นเป็นไปตามหลักการที่ว่า ข่าวต้องตอบสนองประโยชน์สาธารณะ (public interest) และยืนหยัดข้างประชาธิปไตย เพราะปราศจากประชาธิปไตยก็เท่ากับปราศจากเสรีภาพซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สื่อพึงยึดถือหรือไม่?
คำตอบต่อคำถามข้างต้นทั้งหมดอาจขึ้นกับการตีความ
ในแง่หนึ่ง “ข่าว” คือชุดข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์และสภาวการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในที่ต่างๆ หรือในสมัยปัจจุบัน อาจมีผู้กล่าวว่า ข่าวคือสิ่งซึ่งอุตสาหกรรมข่าวสารนำมาขายในตลาด
โดยหลักการแล้ว “ข่าว” ถูกส่งผ่านได้หลายช่องทางเช่น ปากต่อปาก, มือต่อมือ, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เนื้อหาทั่วไปที่เป็นข่าวมักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใหญ่ๆนอกเหนือชีวิตประจำวัน เช่น สงคราม การเมือง ภัยพิบัติต่างๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันก็จะต้องมีส่วนเกื้อหนุนให้การใช้ชีวิตประจำวันมีคุณภาพมากขึ้น สนุกมากขึ้น เช่น ข่าวความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ข่าวการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงเรื่องแปลกๆหรือเหตุการณ์ไม่ปกติธรรมดาและกิจกรรมต่างๆ ต่างของบรรดาคนดัง รวมถึงข่าวสารต่างๆ จากรัฐบาลและข่าวจากทั่วโลก ธรรมชาติของมนุษย์คือต้องการเรียนรู้และแบ่งปันข่าวสารจากทุกหนแห่งที่มนุษย์เดินทางไปถึง
สิ่งที่ใครๆก็รู้และไม่จำเป็นต้องพูดถึงซ้ำซากก็คือ ในยุคดิจิทัล สื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า “บรอดชีท”, หรือสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ของยุคอนาล็อก มิได้เป็นผู้กุมทิศทางข่าวแต่ผู้เดียวอีกต่อไป ยุคดิจิทัลทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ควบคุมประตูข่าวสาร ทุกคนมีช่องทางของตนที่จะนำเสนอความเห็นหรือบทความที่ตนเป็นผู้เขียน ไม่ว่าจะมีคนอ่านมากหรือน้อย โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์มีความสำคัญมากขึ้นทุกวันในฐานะต้นทางข่าวด่วนและต้นทางที่จะนำไปสู่รายงานฉบับละเอียดจากเว็บไซต์ต่างๆ
ในโลกที่เดินหน้าไปพร้อมกับความหลากหลายของข่าวสาร และในโลกที่ผู้คนใช้ชีวิตในสังคมข่าวสารออนไลน์ เรื่องราวจากโลกออนไลน์ย่อมเป็นข่าว เพราะโลกออนไลน์คือส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนปัจจุบัน ในโลกนั้นคือเรื่องราวที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ด้วยและให้ความสนใจ ชีวิตมนุษย์มิได้อยู่ด้วยประโยชน์สาธารณะ (public interest) เพียงลำพัง หากมนุษย์ยังมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวสามัญต่างๆที่อาจเหมือนไร้สาระแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตและน่าสนใจ (human interest) ซึ่งมนุษย์ย่อมมีเสรีภาพที่จะได้รับรู้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ทรงคุณค่าหรือไร้คุณค่าในแง่ประโยชน์สาธารณะซึ่งเป็นอุดมการณ์สูงส่งของสื่อ หน้าที่สำคัญของสื่อคือบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงให้ผู้บริโภคสื่อได้รับรู้
สำหรับผู้เขียน สื่อปัจจุบันมีสิทธิและสามารถนำเรื่องราวจากเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมหรือเครื่องมือโซเชียลมีเดียอื่นใดของคนดังซึ่งเปิดเผยเป็นสาธารณะมาขยายต่อ เพราะในโลกโซเชียลมีเดียที่กว้างขวางอย่างยิ่ง เราทุกคนไม่สามารถติดตามโซเชียลมีเดียของคนดังหรือแม้ไม่ใช่คนดังแต่เป็นคนธรรมดาที่มีเรื่องราวน่าสนใจทางโซเชียลมีเดียได้ครบ
ในแง่นี้ จึงไม่ผิดที่สื่อจะทำหน้าที่คัดกรองเรื่องเด่นหรือเรื่องสำคัญจากโลกโซเชียลมีเดียมาบอกเล่าผู้บริโภคของตน เพียงแต่สื่อมืออาชีพที่ต้องมีความรู้และความสามารถมากกว่าซุบซิบนินทาธรรมดาควรมีข้อมูลรายละเอียดเบื้องหน้าเบื้องหลังข่าวให้กับผู้บริโภคด้วย มิใช่เพียงคัดลอกเรื่องราวจากบรรดาคนดังมาลงอย่างดิบๆ
ต่อไปนี้คือตัวอย่างข่าวซีเอ็นเอ็น ที่เอาเรื่องราวจากทวิตเตอร์ชาวบ้านธรรมดามาทำเป็นข่าว ทวีตนี้แพร่หลายในโลกโซเชียลมีเดียเพราะความแปลกมหัศจรรย์ของเนื้อหาที่ว่าด้วย “รุ้งสี่สาย” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหายาก แต่ซีเอ็นเอ็นมิได้คัดลอกมาลงอย่างดิบๆ หากเรียบเรียงใหม่ สัมภาษณ์เจ้าของทวีต และยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “รุ้งสี่สาย” รวมถึงเทียบเคียงข่าวใกล้เคียงกันในอดีต
(CNN) Somewhere over the rainbow, people on the Internet are losing their minds. Is it real?
After the New York area received a large amount of rain, four rainbows stretched across the early morning sky on Tuesday.
Amanda Curtis, CEO of a fashion company in New York, snapped the lucky shot.
At first, she thought it was just one.
"But I looked a little bit closer and saw that there were actually four," she told CNN. "I had a small moment of awe."
She posted the picture to Twitter, and within a few hours, it had already received hundreds of retweets.
"It's been surreal I feel like we're breaking the Internet but in a really great way," she told CNN affiliate WPIX.
According to CNN weather producer Rachel Aissen, this would be a double rainbow that has been reflected in the sky, due to a smooth body of water underneath the rainbow.
This isn't the first time rainbows have shown up in multiples. But the splendor of such a scene can render us speechless, even emotional -- much like the star of the famous "double rainbow" video.
CNN iReporter Yosemitebear Vasquez posted a video to YouTube in 2010 reacting to a double rainbow he spotted in Yosemite National Park. The video has since garnered over 40 million views.
Of course, we asked the unofficial rainbow spokesman to weigh in on the phenomenon.
"Whoa, that's a quadruple rainbow! All the way," he exclaims. "What does it mean?"
We don't know exactly, but the Internet can't get enough.
ส่วนข้างล่างนี้คือข่าวจากเว็บไซต์ The Independent ซึ่งพัฒนามาจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษที่ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว
เว็บไซต์ “ดิ อินดีเพนเดนท์” ทำข่าวจากทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งทวีตเกี่ยวกับซีรีส์แนวดรามาการเมืองชื่อดัง “House of Card” ซีซั่น 2 ว่าอย่าได้มีใครเปิดเผยเนื้อเรื่องให้เสียรสชาติในการชมเลย
“ดิ อินดีเพนเดนท์” ให้รายละเอียดของซีรีส์เพิ่มเติม นอกจากข่าวเกี่ยวกับทวีตของประธานาธิบดีโอบามา
House of Cards: Barack Obama calls for halt on season 2 spoilers on Twitter
Obama's Netflix binges it seems, after he asked his Twitter followers to resist the urge to post spoilers from House of Cards season 2.
The entirety of the political drama's second season goes live on Netflix across the world this morning, leading many viewers to sit down to a marathon viewing session.
The ability to wolf down all 13 episodes in one go inevitably leads to spoilers being splashed across social media however, which leaves those who are watching at a slower pace struggling to avoid having the plot ruined.
Obama is one such fan, tweeting last night: "Tomorrow: @HouseOfCards. No spoilers, please."
If the president is truly concerned by the possibility of spoilers (and not, say, just cashing in on a trending topic) he might want to make use of Netflix's spoiler foiler, which allows users to browse their Twitter feeds without any mention of the show.
Netflix's first major commission, House of Cards became the first online-only TV show to win an Emmy in September.
Here’s what the distributor said to expect in the second season:
'Frank Underwood (Kevin Spacey) has masterfully maneuvered his way into the vice presidency, but his ascension faces threats on all fronts. Investigative reporter Zoe Barnes (Kate Mara) is inching closer to the truth about Frank and Peter Russo (Corey Stoll) and will stop at nothing to break the story. And Frank's wife Claire (Robin Wright), the newly appointed Second Lady, must deal with the bright glare of the spotlight and how the intense scrutiny eats away at their once private existence.'
ไม่เพียงข่าวจากโซเชียลมีเดียของคนดังหรือข่าวดังจากโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ข่าวแทบทุกเว็บไซต์จากฝั่งอังกฤษและอเมริกายังต่างให้พื้นที่กับข่าวประเภท “แปลก-สนุก-ตลก” ซึ่งเว็บไซต์ข่าวไทยก็ลอกมาเหมือนกันแต่ส่วนใหญ่มักตกแต่งพาดหัวให้หวือหวามากขึ้นไปอีกเพื่อเรียกเรตติ้ง บางครั้งเปิดอ่านเพราะพาดหัวแต่เนื้อหาไม่ตรงกับพาดหัวหรือไปหาอ่านเทียบเคียงจากภาษาอังกฤษ กลายเป็นคนละข่าวก็มี ซึ่งจะว่าไปก็ชวนให้ผู้บริโภคต้องส่ายหน้ารัวๆ
ในทางข่าวเรื่อง “แปลก-สนุก-ตลก” เป็นเรื่องประเภท “human interest” อาจไม่มีคุณค่าทางประโยชน์สาธารณะเลย แต่เป็นประโยชน์กับลมหายใจของชีวิตที่ทำให้สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ซึ่งเราไม่ควรกล่าวว่ามันไม่มีคุณค่าข่าว เพราะในหลายๆ กรณี มนุษย์ก็ต้องการเรื่องไร้สาระเพื่อลดความตึงเครียดเช่นกัน
น่าสนใจว่าเว็บไซต์ข่าวชื่อดังของต่างประเทศแยกหมวดหมู่ข่าวจริงจังกับข่าวแปลก-สนุก-ตลกเหล่านี้ออกจากกันอย่างชัดเจน และไม่ได้มุ่งเน้นยอดผู้ชมจากหมวดข่าวแปลกฯ เท่านั้น หากชัดเจนว่ามุ่งเน้นทั้งสองส่วน
ในแง่ข่าวจริงจัง คือการส่งนักข่าวไปทำข่าวตามหลักการข่าวที่มุ่งแสวงหาความจริงและทำความจริงให้ปรากฎ ยิ่งสืบค้นมาก ยิ่งได้ข่าวดีมาก สำนักข่าวนั้นๆ ก็ยิ่งได้รับความเชื่อถือมาก มีผู้ติดตามอ่านมาก ส่วนในแง่ข่าวแปลก-สนุก-ตลก ก็มีทั้งข่าวที่นักข่าวในสังกัดไปเสาะหามาเอง ทดลองเองหรือส่งมาจากทางบ้านหรือนักข่าวไปดึงมาจากข่าวดังต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่แพร่กระจายเป็นเชื้อไวรัส แต่ถ้าว่าเฉพาะข่าวที่ดึงจากโลกออนไลน์นั้น ก็ไม่ใช่ข่าวแปลก-สนุก-ตลกเสมอไป บางครั้งอาจเป็นข่าวหนักมาก เช่นข่าวประเภทคลิปฆ่าตัดคอเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ส่งออกมาเพื่อข่มขู่รัฐบาลชาติต่างๆ
ไม่ควรเป็นข้อต้องห้ามว่าเรื่องราวจากโลกออนไลน์โดยเฉพาะจากบรรดาสื่อโซเชียลมีเดียของบรรดาคนดังนำมาเป็นข่าวไม่ได้ แต่ปัญหาของข่าวแบบไทยๆ ที่ยังชวนให้ถกเถียง คือเรื่องคุณภาพข่าวที่เหมือนจะยังไม่มากกว่า “ก๊อปแปะ” ลอกเขาเอามาวางทั้งดุ้น ซึ่งใครๆ ที่ไม่ใช่นักข่าวอาชีพก็ทำได้
จำเป็นอย่างยิ่งที่นักข่าวไทยและสื่อไทยซึ่งเรียกตัวเองว่ามืออาชีพ จะต้องพัฒนาคุณภาพของตนให้ไกลว่าระดับ “ก๊อปแปะ” ไม่ว่าจะในเชิงข่าวหนักเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือในเชิงข่าวเบาเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน
น่าเป็นห่วงก็แต่ว่า ในโลกทุนนิยมโหดสัสนี้ นักข่าวและบรรณาธิการที่ยังงงๆ กับความโหดอาจไม่ทันได้มีโอกาสคิดเรื่องคุณภาพข่าวใดๆ เพราะสมองถูกครอบไว้แต่คำว่า “ยอดวิวๆ” หรือจำนวนคนคลิกดูข่าว เพื่อจะเอาไปคุยกับฝ่ายสปอนเซอร์ได้เต็มปาก จึงแข่งกันจริงจังแต่เรื่องก๊อปข่าวแปลก-สนุก-ตลก และคำพูดกับข้อเขียนคนดังเป็นหลัก เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยก็ชอบคลิกอ่านคลิกแชร์กันแต่ข่าวแบบนี้เสียด้วย
ทิศทางข่าวและบุคลิกภาพของสำนักข่าวออนไลน์ไทยทั่วไปจึงยังคงสะเปะสะปะ ไปไม่ถึงมืออาชีพระดับสากลเสียที ได้แต่แบบไทยๆ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่
