Skip to main content

ขอบคุณภาพจาก springnews tv

ได้มีโอกาสไปร่วมรายการ “คม ชัด ลึก” ทางเนชั่นแชนแนลเมื่อไม่กี่วันก่อน ในหัวข้อ “นักข่าว นักการเมือง ใครเลือกใคร”

นอกจากเพิ่งทราบชัดๆ จากพิธีกรคือ คุณบัญชา แข็งขัน ว่า ข้าพเจ้าเป็นบุคคลน่าหมั่นไส้ (และอาจจะน่ารังเกียจด้วย) ของนักข่าวหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย เนื่องจากชอบวิจารณ์การทำงานของนักข่าวปัจจุบันว่าไม่ ตรงตามหลักจริยธรรมสื่อ

ก็ยังได้ตระหนักว่านักข่าวหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ว่านั้น ยืนหยัดอยู่กับความฝันและอุดมคติเดิมๆ ของสื่อไทยว่า สื่อคือหมาเฝ้าบ้าน ซึ่งรู้ดีเสมอว่าผู้ปกครองคือผู้ร้าย และสื่อเท่านั้นรู้ว่า อะไรถูกอะไรผิดเห่าและกัดคนผิดให้ตายจมเขี้ยว จึงถือเป็นการทำหน้าที่ ที่สำคัญยิ่งของสื่อ

แนวคิดนี้ดี แต่อันตรายเหมือนกัน ถ้าสื่อที่เปรียบตัวเองเป็นหมาเฝ้าบ้าน เลือกเห่าและกัดเฉพาะบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่สื่อตั้งศาลเตี้ย ตัดสินว่าเลว

แต่ไม่เห่าและไม่กัดคนอื่นๆ ที่มีคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่พวกเดียวกับสื่อ เห็นว่าแสดงพฤติกรรมแบบเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน กับคนที่สื่อบอกว่าเลว

แนวคิดที่ว่าสื่อคือผู้พิทักษ์ความยุติธรรม ทำให้สื่ออยู่ในฐานะ “ฮีโร่” ผู้กล้า เห่าและกัดผู้ร้ายเลวชั่วช้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล

ความจริงแนวคิดที่ว่าผู้ปกครองซึ่งมีเสียงดังกว่า หรือมีอำนาจมากกว่าเพราะเป็นฝ่ายถือครองอำนาจ คือผู้ที่สื่อต้องคอยตรวจสอบพฤติกรรมแทนประชาชนผู้ไม่ได้ถือครองอำนาจนั้น เป็นแนวคิดพื้นฐานของสื่อทั่วโลก และมีความหมายเป็นพิเศษ ในประเทศไทยยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบครองเมือง เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว

น่าสนใจว่าคนทำสื่อไทยจำนวนมากในปัจจุบันไม่เห็นว่า เผด็จการทหารคือผู้ร้าย แต่เห็นว่าทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง คือผู้ร้าย

ด้วยข้อกล่าวหาซึ่งใช้ระบบศาลเตี้ยตัดสินไปแล้ว ตามความเชื่อว่า ทักษิณคือเผด็จการพลเรือน ใช้เงินซื้อใจคนจำนวนมากทั้งที่เป็นปัจเจกและองค์กรต่างๆ ที่นิสัย “เลว” เพราะ “เห็นแก่เงิน” มาเข้าพวก อีกทั้งคอรัปชั่น โกงกินผลประโยชน์ของชาติเข้ากระเป๋าตัวเองจำนวนมหาศาล มักใหญ่ใฝ่สูง คิดตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี ล้มล้างสถาบันกษัตริย์

งานหลักของคนทำสื่อไทยหลายคนในปัจจุบัน จึงเป็นการมุ่งหน้าจับผิดทักษิณ เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า ทักษิณผิดและเลวตามข้อกล่าวหาดังกล่าว

รวมถึงมุ่งจับผิดปัจเจก องค์กร และกลุ่มประชาชนเสื้อแดง ที่ต่อต้านการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณด้วยวิธี       รัฐประหาร ว่าเป็นพวกเลว เห็นแก่เงิน สนับสนุนการคอรัปชั่นและการล้มเจ้าเช่นเดียวกับทักษิณ

บ่อยครั้ง การทำข่าวจึงมิได้อยู่บนพื้นฐานการตรวจสอบ สืบค้นข้อเท็จจริง โดยใช้หลักคิดแบบวิพากษ์ที่จะต้องพิจารณาจากทุกมุมมองอย่างปราศจากอคติ หรือมีอคติน้อยที่สุดผ่านหลักฐานที่อ้างอิงได้ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

หากอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินในใจของนักข่าว ซึ่งวางบทบาทตนเสมือนเป็นผู้พิพากษา หรือเป็นตำรวจไล่ล่าอาชญากร

วิธีสัมภาษณ์เพื่อหาข่าวสารของนักข่าวหลายคน จึงมักดำเนินไปตามธงถูกผิดในใจนักข่าว พยายามไล่ต้อนผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ตอบไปในทางที่นักข่าวต้องการได้ยิน

หากตอบผิดไปจากความคาดหวัง นักข่าวก็อาจตัดคำตอบนั้นทิ้ง หรือทำเป็นไม่ได้ยิน

ในการสนทนา “นักข่าว นักการเมือง ใครเลือกใคร” ทางเนชั่น แชนแนล ซึ่งมีที่มาจากคุณเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่พอใจการสัมภาษณ์ของคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 แล้วกล่าวหาคุณสมจิตต์ ว่าฝักใฝ่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศแบนคุณสมจิตต์

ดูเหมือนพิธีกรจะมีธงในใจเหมือนกันว่า นักข่าวทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์แต่ถูกนักการเมืองฝักใฝ่ทักษิณรังแก การสนทนาจึงคล้ายวกวนอยู่แต่การพยายามพิสูจน์ว่า นักข่าวทำหน้าที่ถูกต้องเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลวจริงๆ และนักการเมืองก็ยอมรับเองว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ

ไม่ได้ไปไกลถึงประเด็นที่ตั้งไว้ว่า นักข่าว กับนักการเมือง ใครเลือกใคร หรือถ้านักการเมืองประกาศ      แบนนักข่าว จะทำข่าวกันต่อไปอย่างไร ได้หรือไม่

ความจริงนักการเมืองทะเลาะกับนักข่าวไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะถึงอย่างไรงานก็ต้องพามาให้พบกันอยู่ดี ถึงเวลานักการเมืองต้องประชาสัมพันธ์งานของตน นักการเมืองก็ต้องคุยกับนักข่าวที่ต้องการได้ข่าว มันจึงไม่ใช่เรื่องใครเลือกใคร แต่เป็นเรื่องของการทำงานตามหน้าที่

หากโชคร้าย แหล่งข่าว “เกลียด” นักข่าวคนใดคนหนึ่งมากจริงๆ การทำงานของนักข่าวก็ใช่ว่าจะถึงทางตัน เพราะเหตุที่ข่าวข่าวหนึ่ง มิได้มีแหล่งข่าวเพียงคนเดียว และต่อให้มีคนเดียว ก็มิใช่ว่าองค์กรข่าวจะมีนักข่าวเพียงคนเดียว

ประเด็นน่าสนใจกว่าในเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นการพิจารณาว่า นักข่าวที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับแหล่งข่าวจะสามารถนำเสนอข่าว หรือสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างปราศจากอคติได้หรือไม่ และแม้ทำได้ ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางความคิดรุนแรง นักข่าวจะรับมือกับแหล่งข่าวที่มองเห็นนักข่าวเป็นฝ่ายตรงข้ามอย่างไร แหล่งข่าวจะยอมบอกข่าวกับนักข่าวที่แหล่งข่าวเกลียดหรือไม่ เป็นต้น

อันที่จริงมีอีกหลายคำถามที่นักข่าวและคนทำสื่อควรพิจารณา และลองตอบคำถามดูบ้าง ไม่ใช่เอาแต่     ก่นด่าคนที่ตั้งคำถามกับนักข่าว เช่น นักข่าวกล้าถามแบบถึงลูกถึงคนกับผู้ที่นักข่าวเห็นว่าสถานะสูงกว่า อย่างองคมนตรีหรือไม่? นักข่าวกล้าหาความจริงเรื่องเบื้องหลังรัฐประหารหรือไม่ หรือนักข่าวเห็นว่าไม่มีเบื้องหลังใดๆ นอกจากการไล่รัฐบาลเลวซึ่งเหมาะสมแล้ว? นักข่าวสนใจหาความจริงเรื่องการปราบปรามประชาชนเสื้อแดงหรือไม่ หรือเพราะสรุปไปแล้วว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ร้าย ชายชุดดำเป็นฝ่ายคนเสื้อแดง    จึงไม่ต้องมีความจริงเรื่องอื่นอีก นอกจากสรุปว่าคนเสื้อแดงเลว ถูกทักษิณซื้อ?

คำถามของนักข่าวต่อคุณอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีในกรณีสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ว่า  จะจัดการอย่างไรเมื่อฝ่ายหนึ่งบอกว่าทำถูกแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าเป็นฆาตกร แม้เป็นคำถามที่อาจจะทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีอึดอัด ก็ยังไม่อาจเรียกว่าเป็นการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการสลายชุมนุม

นักข่าวไม่ใช่ดารา นักข่าวมีหน้าที่หาข่าวสารและนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามจริง ความขัดแย้งของแหล่งข่าวกับนักข่าวไม่ควรเป็นเรื่องที่สื่อจะต้องนำมาเป็นประเด็นใหญ่

สิ่งสำคัญกว่าคือข่าวสารที่นักข่าวนำเสนอว่า เป็นเรื่องแต่งตามพล็อตที่นักข่าวเขียนขึ้นบนฐานความเชื่อ หรือเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงจากทุกมุมมอง

 

               

               

               

 

 

 

ใครเลือกใคร