Skip to main content

เรื่อง: พีรดนย์ ภาคีเนตร
นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวารสารสนเทศและสื่อใหม่
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี ข่าวพยากรณ์อากาศทางโทรทัศน์พูดคำศัพท์ที่คุ้นหูเรา ๆ คือ “ความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้” ซึ่งจะมีกำลังแรงขึ้นหรืออ่อนลงก็ว่ากันไปตามสภาวการณ์ในปีนั้น ๆ

ปีนี้เป็นคิวของพายุโซนร้อน “โกนเซิน” และ “เตี้ยนหมู่” (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน ซึ่งภายหลังพายุทั้งสองลูกได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน) ก่อตัวขึ้นบริเวณชายฝั่งของประเทศเวียดนาม นำมาซึ่งพายุฝนฟ้าคะนองที่กระจายตัวอย่างหนาแน่นในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางตอนบน

การพยากรณ์แบบนี้มาพร้อมกับการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับมือและระวังภัยที่จะเกิดขึ้นจากน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม หรือไข้มาลาเรียที่อาจเกิดขึ้นได้ในบริเวณที่มีน้ำขัง ก่อนจะตัดเข้าช่วงข่าวกีฬา หรือข่าวอาชญากรรมที่เป็นประเด็นร้อนมากกว่าในสังคม

ประเด็นก็คือ ข่าวพยากรณ์อากาศแบบนี้ ถ้าไม่มีพายุเข้าจนน้ำท่วมขนาดหนักก็มักจะรายงานแค่แจ้งเตือน หรือมักเป็นเพียงข่าวสั้นที่ถูกเล่าอย่างผิวเผินบนพื้นที่รายการข่าวโทรทัศน์

หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์เองก็มีเพียงแค่การพาดหัวตัวเลขหลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบ ความสูงของระดับน้ำ จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ไปจนถึงจำนวนโค กระบือที่อดอยากเนื่องจากภัยน้ำท่วม  

ส่วนย่อหน้าถัด ๆ ไป ก็จะเล่าถึงการช่วยเหลือจากทางการเพียงหยิบมือ บทสัมภาษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดที่สาระสำคัญไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการยืนยันว่า หน่วยงานนั้นให้ความช่วยเหลืออย่างถึงที่สุดแล้ว ขอให้ประชาชนอดทนและภาวนาไม่ให้ฝนตกซ้ำ

 


ภาพ: มติชน

 

ข่าวที่ออกมายังเห็นผู้นำประเทศใส่ชุดสูทออกมาแถลงหน้าตึกทำเนียบรัฐบาล แสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสีย และพูดทำนองว่า มันเป็นภัยพิบัติบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้

ฉากเดิมถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้มาตลอดหลายสิบปี ไม่ต่างอะไรกับสื่อต่างประเทศที่รอคอยถ่ายฉากคนลื่นล้มจากหิมะในช่วงฤดูหนาว พอได้ภาพออนแอร์ก็จากไป สื่อไม่ได้มีการรายงานเพื่อบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้สืบเสาะหาต้นตอของน้ำท่วมอย่างจริงจัง

แน่นอนว่า มนุษย์ไม่อาจไปบังคับมิให้หย่อมความกดอากาศต่ำนั้นก่อตัวขึ้น แต่ระบบชลประทานและการจัดการพื้นที่ทางน้ำไหลอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สามารถพึ่งพาได้ แล้วเหตุใดจึงไม่มีสื่อหลักทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน หรือชูประเด็นปัญหาน้ำท่วมที่เรื้อรังมากว่าหลายสิบปีของไทยให้มันถูกแก้ไขหรือทำให้ทุเลาไปเสียที

การจัดการน้ำเป็นวาระสำคัญของรัฐไทยที่ต้องแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากตัวเลข 1,700,000 ครัวเรือนจาก 66 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยปี 2554 และตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 14% ของ GDP สื่อจำเป็นต้องหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาเพื่อผลักดันให้รัฐแก้ไข

อย่างไรก็ดี มันไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดก็ต่อเมื่อมีน้ำท่วม และท้องเรื่องเป็นการสูญเสียเชิงตัวเลขของคนนับร้อยพันที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สุดท้ายเรื่องภัยพิบัติถูกทำให้เป็นเรื่องชินชาในสังคมด้วยการรายงานข่าวอย่างทื่อ ๆ และวางเฉย ขณะที่เม็ดเงินนับแสนล้านที่จมหายไปกับน้ำซึ่งนั่นคือลมหายใจของผู้คน กลับถูกมองข้ามไป เช่นเดียวกับชีวิตการทำมาหากินของผู้คนที่สัมพันธ์กับเรือกสวนและไร่นาที่ถูกทำลายลงในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวก็หายไปด้วย

เมื่อต้นปีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อัดฉีดงบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2564 ไปแสนล้านบาท เพื่อหวังแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มปริมาณน้ำถึง 1.4 พันล้านลบ.ม.ในช่วงน้ำแล้ง คาดว่าจะช่วยเกษตรกร-ประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ยังไม่นับรวมกับงบกลางที่เบิกมาเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขวิกฤติเกือบ 4,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เงินเหล่านี้ลงทุนไปกับการก่อสร้างและบำรุงที่กักเก็บน้ำ การพัฒนาระบบชลประทาน รวมถึงการเยียวยาผู้ประสบภัย

 


ภาพจากเพจ https://onwr.thaiwaterplan.com/twp/v2/landingpage

 

คำถามคือ เงินก้อนนี้ถูกนำไปพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะผลที่ตามมาจะไม่ได้มีเพียงการสูญเสียของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่หมายรวมถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่กระทบเป็นวงกว้าง

สื่อไม่เพียงรายงานอย่าง “เป็นกลาง” ในแบบที่ “วางเฉย” ไม่รู้ร้อนต่อปัญหา แต่ยังรายงานตามแว่นตาของคนเมืองด้วยการมุ่งนำเสนอแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคนกรุงเทพฯ ราวกับพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบแต่เพียงผู้เดียว และผลักไสคนชนบทให้กลายเป็นต้นตอของปัญหา

หลายบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ ยังมีการอ้างถึงปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย การบุกรุกถางที่ป่าของชาวนา ทำให้ปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ซ้ำซัด เช่น รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสเมื่อปี 2561 ระบุว่าเหตุน้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี มีต้นเหตุมาจากการทำไร่เลื่อนลอยในป่าต้นน้ำเขื่อนแก่งกระจาน

หรือจากรายงานล่าสุดของสยามรัฐและฐานเศรษฐกิจเปิดแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนของผู้ว่าฯ ระบุให้ประชาชนลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยตามแนวทางพระราชดำริ 

ในขณะที่บทวิเคราะห์ด้านการจัดการน้ำและการชลประทานของรัฐบาลนั้นเบาบาง มีระบุเพียงแค่ปริมาณน้ำมหาศาลที่เกิดขึ้นในฤดูมรสุมอันเป็นเหตุให้เขื่อนจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำ

ทั้งที่งบชลประทานไหลบ่าแรงกว่าสายน้ำ แต่กลับไม่มีสำนักข่าวใดหยิบยกขึ้นมาให้เห็นและตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณดังกล่าว

กลับกันเมื่ออ่านข่าวเกษตรกรรมในช่วงปลายปี-ต้นฤดูร้อน กลับพบว่าพื้นที่ลุ่มเพื่อการเกษตรกรรมกลับแห้งเหือด นั่นเท่ากับว่าการชลประทานประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังอย่างหนักและควรแก้ไขโดยด่วน

เมื่อใดที่น้ำจวนจะไหล่บ่าเข้ากรุงเทพฯ วาระข่าวสารเรื่องนี้จึงค่อยถูกวางไว้ลำดับแรกในรายการข่าวโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ พร้อมทั้งมีการเกาะติดกระแสข่าวนานหลายสิบวันเพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาน้ำท่วมจะถูกคลี่คลายลง ทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันมิให้น้ำเข้ากรุง

ในทางกลับกัน พื้นที่อยุธยามีรายงานความเสียหายในหลายอำเภอโดยเฉพาะอำเภอบางบาลที่เป็นที่ลุ่มต่ำ และอำเภอบางไทรที่จำต้องเป็นสถานีรับน้ำด่านสุดท้ายก่อนเข้ากรุงเทพฯ ก็ถูกสร้างความเป็นจริงว่า เป็นความจำเป็นไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเมืองหลวง แต่ทัศนะการรายงานข่าวเช่นนี้เป็นการยินยอมให้เมืองโดยรอบกทม. ต้องเสียสละแต่เพียงผู้เดียวอยู่เสมอ คำถามก็คือ ทำไมภาษีที่คนทั่วประเทศจ่ายกลับมีเพียงแค่คนกรุงเทพฯ ได้ประโยชน์

 


ภาพจากเพจ https://web.facebook.com/prayutofficial

 

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต้องทนอยู่กับภัยธรรมชาติที่หมุนรอกมาซ้ำซัดพวกเขาทุกปี นายทุนและคนเมืองกลับได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องการเตือนภัย พื้นที่ที่เป็นแหล่งสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างเมืองหลวงหรือย่านพาณิชยกรรมจะถูกรายงานเป็นอันดับต้น ๆ ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมกลับถูกเพิกเฉยและจำต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ เพราะภาคการเกษตรถูกทำให้เป็นพลเมืองชั้นรองของประเทศ ที่นายทุนจะเอารัดเอาเปรียบเช่นไรก็ได้อย่างนั้นหรือ ทั้งที่สื่อควรต้องรายงานเตือนภัยและติดตามถึงต้นตอของปัญหาของพื้นที่เหล่านั้น ไม่ใช่แค่การรายงานการสูญเสียพอเป็นพิธี

ปรากฏการณ์เช่นนี้พิสูจน์แล้วว่าน้ำไม่ได้ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แต่ไหลจากพื้นที่ที่มีอำนาจสูงลงไปยังพื้นที่ที่มีอำนาจลาดต่ำกว่า ตามที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ไว้

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะว่าร้ายคนกรุง เพราะการให้ความสำคัญกับพื้นที่เมืองหลวงที่เป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ หากแต่สำนักข่าวควรทำความเข้าใจกับภูมิทัศน์ปัญหาน้ำท่วมเสียใหม่ว่า พื้นที่นอกเมืองเองก็มีความสำคัญมากต่อองค์รวม กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลายน้ำ เพราะฉะนั้นต้นน้ำรับมือกับปัญหาอย่างไร กรุงเทพฯ ก็จะพลอยได้ผลกระทบไปด้วยเช่นกัน

ทัศนะเช่นนี้คือการมองทุกคนในชาติอย่างมีความสำคัญเสมอภาคกัน มองเห็นปัญหาทั้งระบบ และสื่อมวลชนควรตั้งคำถามรัฐบาลว่า พวกเขามีทัศนะเช่นนี้ในการบริหารภาษีน้ำบ้างหรือไม่

จะดีกว่าหรือไม่หากการรายงานข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นถูกถ่ายทอดให้ใกล้ชิดกับคนเมืองมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือไม่ใช่การรายงานว่า “น้ำ” จะมาเมื่อไหร่ แต่เป็นการรายงานว่าภาษีสำหรับ “การจัดการ น้ำ” ที่ประชาชนทุกคนจ่ายไปถูกใช้ไปอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ แล้วทั้งคนเมืองและคนนอกเมืองได้อะไรกลับมาบ้าง

ถึงเวลาแล้วที่พื้นที่ต่างจังหวัดที่เป็นกำลังหลักภาคการเกษตรและแรงงานอุตสาหกรรมให้กับประเทศจะถูกมองและมีความสำคัญเสมอภาคเท่ากับทุกภาคส่วน ทุกเม็ดเงินที่สูญเสียไปจะต้องแลกมาด้วยการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐซึ่งสื่อต้องขยายผลและเรียกร้อง

รวมไปถึงเลิกรายงานข่าวด้วยแว่นของคนเมืองที่มองว่าคนชนบทนั้นทำร้ายสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ จนนำมาซึ่งปัญหาภัยพิบัติที่สมแก่การกระทำ เพราะอันที่จริงแล้วอัตราการบริโภคทรัพยากรและการปล่อยมลภาวะนั้นสูงมากในตัวเมือง โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน ซึ่งสื่อมวลชนจะต้องคลี่คลายความจริงนี้ให้สังคมได้รับรู้ เพื่อความยุติธรรมกับประชาชนในพื้นที่ชนบท ที่รับรองเสรีภาพการทำงานของสื่อไม่ต่างกับคนอื่น ๆ

 

อ้างอิง

  • บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 http://tiwrmdev.hii.or.th/current/flood54.html
  • ผลกระทบจากอุทกภัย https://www.pier.or.th/abridged/2015/12/flood-and-farmers/
  • ทุ่มงบแสนล้านแก้น้ำท่วม-แล้งปี 64 https://www.thansettakij.com/business/419528
  • 15 ก.ย. นายกฯ ลงพื้นที่ชัยนาทติดตามน้ำท่วม – ครม.อนุมัติงบกลาง 3,851.23 ลบ. ค่าใช้จ่ายแก้น้ำท่วมภัยแล้ง https://workpointtoday.com/politics-107/
  • ชี้ภาพ "ป่าแหว่ง" แก่งกระจานเป็นพื้นที่บุกรุกเดิม https://news.thaipbs.or.th/content/273804
  • ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์รุดช่วยเหลือ 400 ครัวเรือน น้ำท่วม “หล่มเก่า” https://www.thansettakij.com/general-news/495576
  • พ่อเมืองเพชรบูรณ์ รุดช่วยเหลือ ปชช.กว่า 400 ครัวเรือนหลังน้ำหลากท่วม 2 ฝั่งแม่น้ำป่าสัก https://siamrath.co.th/n/279998
  • จับตา "สถานีบางไทร" ระบายน้ำ ชี้ชะตาน้ำท่วมกรุงเทพ https://www.bangkokbiznews.com/news/963550
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า สื่ออย่าเฉยชากับปลายฝนต้นหนาว