เรื่อง: ณัฐวดี สระแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 2
ภาพ: ธัญกร อุดมฐิติพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาพ: ธัญกร อุดมฐิติพงศ์
#แบนสื่อช่องหลัก เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อสื่อหลักบางสำนัก จากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เนื่องจากเสนอข่าวผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ และผู้ชุมนุมบางคนขว้างไม้ เอาขวดน้ำปาตำรวจ แต่ไม่เสนอว่า เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธและทำร้ายประชาชนอย่างไรบ้าง ทำให้ประชาชนหลายคนตั้งคำถามและแสดงถึงความ “ไม่พอใจ” ต่อสื่อ
“สื่อต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือปกปิดข้อมูล รับผิดชอบต่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชน นั่นคือสิ่งที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ”
เป็นความคิดของนักเรียนสื่ออย่าง นวนันท์ คลานุวัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เธอบอกต่อว่า การนำข้อเท็จจริงมาบอกอย่างตรงไปตรงมาสำคัญมาก เพราะสื่อเป็นตัวกลาง เป็นพื้นที่ และเป็นช่องทางสำหรับการสื่อสารข้อมูลและความเป็นไปในสังคมให้สาธารณะได้รับรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน
แม้ทุกวันนี้ คนเราจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ติดตามกระแสความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคม แต่หลายครั้งก็ไม่มีความชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ บทบาทของสื่อในการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง (verification) ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ
“ยิ่งเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา คนก็ยังต้องการการยืนยันจากสื่อหลักๆ อยู่ดี เพราะเข้าถึงข้อเท็จจริงได้มากกว่า”
นวนันท์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เหตุการณ์ที่ประชาชนคาดหวังให้สื่อตรวจสอบรัฐ การนำเสนอข้อมูลแบบเจาะลึกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน อย่างเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในตอนแรกๆ เราไม่ทราบแน่ชัดว่า ตกลงแล้วจะมีวัคซีนยี่ห้ออะไร จำนวนเท่าไหร่ และมาตอนไหนกันแน่ ตอนนั้นสื่อหลักยังรายงานแค่ข่าวแถลงจากรัฐ เราดูทีวีทุกวัน ออกแต่ข่าวเดิมๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ชมทราบมากขึ้น
เธอบอกอีกว่า กรณีสื่อทีวี บางทีก็เอาข่าวในอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์มาอ่านจนหมด โดยที่ไม่เกิดการตรวจสอบกันเองระหว่างสื่อโทรทัศน์กับสื่อหนังสือพิมพ์
“สิ่งนี้ ทำให้ “ความน่าเชื่อถือ” ของสื่อหลักลดลงนะ” เธอว่า
“คือ พอเข้าใจแหละว่า มีการครอบงำจากผู้มีอำนาจ และด้านหนึ่งสื่อต้องลงทุน เป็นธุรกิจ มันเลยไม่อิสระ แต่จะวางสมดุลอย่างไรให้ข่าวสารมันได้คุณภาพตามความคาดหวังของผู้คน เราคิดถึงตรงนี้”
เรื่องนี้ยังส่งผลถึงความ “แฟร์” นวนันท์มองว่า การที่สื่อถูกครอบงำโดยรัฐ และทุน ซึ่งบางทีใกล้ชิดกันด้วย มันเลยเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจ อย่างตัวเธอเคยฟังรายการข่าวท้องถิ่นผ่านวิทยุ บางข่าวมีการนำเสนอที่ดี แต่บางข่าวก็นำเสนอตามใจผู้มีอำนาจในท้องถิ่น
หรืออย่างข่าวชุมนุม สื่อหลัก มีมุมมองกลายๆ ว่า “ชุมนุมสร้างความเดือดร้อน” กล่อมทุกวัน แต่กลับไม่ให้พื้นที่อธิบายว่า “แล้วอะไรที่ทำให้ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง”
เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำ และใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
ภาพจาก https://web.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/pcb.465220154927047/465219858260410/
ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ทำให้การเสนอข่าวต้องรวดเร็วขึ้น โซเชียลมีเดียปั่นชีพจรข่าวสาร ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เธอเห็นว่า ปัจจัย 2-3 อย่าง ที่ว่าไป มันไม่เอื้อต่อการทำหน้าที่ มันทำให้สื่อต้องแข่งกับเวลาจนบางทีละเลยความถูกต้องของข้อมูลที่นำเสนอ หลายครั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“การให้ดารา คนดังมาเป็นผู้ประกาศข่าว หรือให้คน 2 – 3 คนมานั่งคุยกันเล่าข่าว โยนกันไปมา ซึ่งบางทีไปหัวเราะคนในข่าวเลยนะ เราก็แบบ...เอิ่ม?! แต่คิดว่า อาจเป็นเพราะการนำเสนอข่าวแบบเดิมถูกมองว่าน่าเบื่อ โบราณ เลยมีการนำเสนอออกมาในรูปแบบนี้ เพราะรายการทีวีต้องมีเรตติ้ง มีการแข่งขันที่มากด้วย จึงต้องดึงความสนใจจากคนดู ขายของขายรายการ”
เรื่องนี้เองทำให้เธอกังวลว่า การรายงานเหตุการณ์แบบที่เรียกว่าเล่าข่าว ที่มีการใช้น้ำเสียง ลีลาดำเนินเรื่อง หลายครั้งไปขยายเพิ่มเติมแต่งข้อเท็จจริง มันจะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกเอนเอียง ซึ่งอันตราย เพราะนอกจากทำให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ก็ยังสร้างอารมณ์คล้อยตามเหมือนเรียกกระแส
อีกประการ คือเรื่อง การตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นจากการรายงานข่าวนั้นออกไป เช่น กรณี ‘กราดยิงที่โคราช’ ครั้งนั้น บางสำนักใช้กล้องถ่ายทอดสด หรือการใช้โซเชียลมีเดียหาแหล่งข่าวในนั้น คิดว่า ต้องประเมินก่อนถ่ายทอดออกไปด้วย ระหว่าง คนนอกพื้นที่จะได้ประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กับ คนในพื้นที่นั้นอาจมีอันตราย
เนื่องด้วยเธอเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงขณะเกิดเหตุกราดยิงโคราช จึงย้อนอดีตให้ฟังว่า บ่ายวันนั้นเสียงดังมาก ตัวเองกำลังกินข้าวในร้านอาหารที่อยู่ซอยถัดไปเพียงแค่หนึ่งถนน ความรู้สึกตอนนั้น คือ อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และต้องไปทางไหนถึงจะปลอดภัย
“ห้องข่าวกับนักข่าวคงต้องปรึกษากันก่อนนำเสนอ เพราะการเลือกที่จะปล่อยข่าวหรือปิดข่าวไว้มีความเสี่ยงทั้งสองทาง อาจทำให้คนข้างในทราบว่า คนร้ายอยู่ตรงไหนแล้วย้ายหนีได้ทัน กลับกัน อาจทำให้ผู้ที่กำลังซ่อนตัวอยู่ไม่ปลอดภัยเสียเอง ต้องดูว่า หากมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย สื่อต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้ เธอเห็นว่า ต้องระวังการนำเนื้อหาที่ผู้ก่อเหตุโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ และเขารู้สึกอย่างไร มานำเสนอ เพราะทำให้ผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากมายใต้โพสต์ จนบางคนมองว่าเป็นไอดอล เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนได้ยินข่าวเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีก 1-2 แห่ง
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาการนำเสนอข่าวของสื่อวารสารศาสตร์ไทย เธอเห็นว่า ก็ต้องย้อนมาจับพันธกิจที่สื่อต้องยึดโยงประชาชนให้แข็งแรง ตรงนี้ น่าจะทำให้เกิดความมือกัน และการพิทักษ์จากประชาชน
“เคยอ่านหนังสือพบว่า การรัฐประหารในอดีตในยุคสื่อหนังสือพิมพ์เฟื่องฟู ตอนนั้นสื่อก็ถูกปิดกั้นนะ แต่ประชาชนก็แบ็คอัพสื่อเพราะช่องทางในการรับข่าวสารไม่มีความหลากหลาย ทุกคนอ่านหนังสือพิมพ์เป็นกิจวัตรประจำวัน สื่อจำนวนหนึ่งเลยกล้าที่จะรวมกลุ่มกันต่อต้านเผด็จการ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”
เธอบอกว่า ยังมีความเชื่อมั่นว่า ประชาชนยังคงคาดหวังในสื่ออยู่ เพราะบทบาทของสื่อที่มีต่อคนในสังคมนั้นเยอะมาก ไม่ว่าในช่องทางไหนก็ตาม ผู้คนยังคงหวังพึ่งพาสื่อในทุกสถานการณ์
“แต่คงแก้ยากนะ คงมีอะไรสักอย่างที่ทำให้คนยังรู้สึกว่า ไม่ต้องหวงแหนสื่อเท่าไหร่ แต่ยังคิดว่า สื่อกับประชาชนต้องร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาไปด้วยกัน เพราะอำนาจของสื่อกับอำนาจของประชาชนนั้นเชื่อมโยงกันอยู่ ประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุน สื่อก็ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง”
