Skip to main content

เรื่องโดย อภิสิทธิ์ เกียมขุนทด กีรติกา อติบูรณกุล และ นวนันท์ คลานุวัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2
ภาพโดย ธัญกร อุดมฐิติพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 


ภาพ: Israchai Jongpattranitchapun

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์กรสื่อไร้พรมแดน (Reporters Without Borders หรือ RSF) เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (WPFI) ประจำปี 2021 โดยประเมินสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนใน 180 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 137 ของโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน

แม้อันดับของประเทศไทยจะสูงขึ้นจากปีก่อน 3 อันดับ แต่ก็ยังถือว่า ห่างไกลจากสภาพมีเสรีภาพ

มีข้อเท็จจริงที่ว่า นักข่าวไทยถูกกระทำจากรัฐหลายกรณี เช่น เหตุการณ์สลายชุมนุม 16 ตุลาคม ปีที่แล้ว ที่แยกปทุมวัน ผู้สื่อข่าวประชาไท มีป้ายห้อยคอและปลอกแขน ถูกเจ้าหน้าที่ไม่ให้ถ่ายรูป และเข้ามาควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขัง

หรือการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวง 20 มีนาคม ปีนี้ มีนักข่าวและช่างภาพบาดเจ็บจากกระสุนยางขณะปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อย 3 ราย เป็นต้น

ชุติมา อร่ามเรือง นักศึกษา Journalism ชั้นปีที่ 2 จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นว่า สภาพการณ์ตอนนี้ แม้สื่อไทยจะมีพัฒนาการด้านวิธีการนำเสนอข่าวสารให้น่าสนใจเยอะมาก เช่น การใช้กราฟิกเข้ามาอธิบาย การใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ ลีลาการบอกเล่าใหม่ๆ ให้เข้าถึงผู้ดู ผู้อ่าน แต่ในด้านเนื้อหาแล้ว สื่อไทยไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอมากเท่าที่ควร

"มีหลายประเด็นที่ประชาชนสื่อสารข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐสู่สาธารณะด้วยกันเอง ซึ่งในความเป็นจริง นี่เป็นหน้าที่สื่อโดยตรง แต่การที่รัฐคอยกดดันการทำงานของสื่ออยู่ตลอดเวลาก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สื่อหลายสำนักของไทยไม่กล้านำเสนอข่าวที่ประชาชนควรได้รับรู้ เพราะเกรงกลัวจะมีผลต่อความอยู่รอดในการทำธุรกิจ สุดท้ายจึงกลายเป็นการรับใช้อำนาจรัฐไปโดยปริยาย” 

เธอเห็นว่า ถ้าเทียบกับต่างประเทศ สื่อของเขามีอิสระในการเสนอข่าวมากกว่า บางเรื่องที่สื่อไทยไม่สามารถเสนอได้ แต่เราก็เห็นสื่อต่างประเทศเสนอในประเด็นทำนองเดียวกันนี้ได้ในประเทศของเขา และถ้าเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เขาก็ยังเสนอการเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชนไทยด้วยในฐานะที่เป็นคุณค่าสากลของมวลมนุษย์  

 


ภาพ: ธัญกร อุดมฐิติพงศ์

 

ไม่ต่างกับ เกศราภรณ์ สุวรรณ นักเรียนสื่อร่วมสำนักเดียวกัน บอกว่า เท่าที่จำความได้ ช่วงที่เธอโตขึ้นมา สมัยก่อนที่จะมีนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้ สื่อมีเสรีภาพที่จะเสนอข่าวได้อย่างตรงไปตรงมามากกว่านี้ มันมีบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้สื่อสามารถนำเสนอข่าวสารที่เข้มข้นได้มากกว่า

 


ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ขณะทำการถ่ายทอดสดสถานการณ์ ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม
(ภาพ: Noppakow Kongsuwan)

 

"ถ้าคิดตามบรรดาหลักปฏิบัติทั้งหลายที่เรียกว่า code of conduct เพื่อให้สื่อวารสารศาสตร์ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามพันธกิจนั้น ในบริบทเสรีประชาธิปไตยมันเอื้อให้มีโอกาสทำได้มากกว่า เมื่อก่อนเรามีเสรีภาพที่จะพูดมากกว่านี้ แต่ในปัจจุบันเราไม่ได้เป็นแบบนั้น มันมีความเบ็ดเสร็จอยู่ ไม่สามารถที่จะพูดทุกอย่างได้แม้จะเป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตของเราเอง สภาพการณ์แบบที่ว่า คิดว่าทำให้สื่อทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่" 

เธอตั้งข้อสังเกตต่อว่า เมื่อเป็นแบบนี้ เรื่องสำคัญอย่าง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) สื่อหลักอย่างสื่อโทรทัศน์จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่กระทบถึงปากท้องของคนในประเทศ หรืออย่างข่าวการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณล่าสุด ที่ข่าว 'ลุงพล' กลายเป็นไฮไลท์แทนในบางช่อง ยังไม่รวมถึงการทำแอนิเมชันประกอบการเสนอข่าวพวกฆาตกรรม ทำร้ายร่างกายที่เหมือนซ้ำเติมผู้ถูกกระทำ แต่ก็ถูกทำออกมาเพื่อเร้าอารมณ์ให้คนมาสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ  แทนเรื่องเข้มๆ

ขณะที่ ปริณดา พันธุ์วา นักศึกษาด้านภาพยนตร์ สถาบันเดียวกัน มองว่า หลังจากรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีการกีดกันเสรีภาพสื่อ ปัจจุบันเรื่องการเสนอข่าวสารเชิงตรวจสอบการใช้งบประมาณภาษีจากประชาชนก็ยังอ่อนไหวมาก จึงรู้สึกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องของการเมือง กฎหมายบางอย่าง และความไม่ชัดเจนของระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ส่งผลให้อิสระของสื่อลดน้อยลง และบทบาทก็ถูกลดทอนลงไปด้วย

ในฐานะที่เติบโตขึ้นมาในยุคสื่ออินเทอร์เน็ต ปริณดา ยังเห็นว่า ในอดีต เมื่อเทคโนโลยีสื่อสารยังไม่ก้าวหน้า มีสื่อไม่กี่ช่องทาง สื่อ broadcast ถูกใช้ในการชักจูงประชาชนให้มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการ สื่อก็อาจจะโดนตีค่าว่า เป็นเครื่องมือของรัฐ ขณะที่ปัจจุบันมีสื่อหลากหลาย โซเชียลมีเดียทำให้เปิดรับข่าวสารได้หลายทาง และยังสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนข้ามพรมแดน

 


นักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวจากภาคสนาม (Photo courtesy Tanakorn Wongpanya)

 

“เมื่อบทบาทของสื่อแต่เดิมไม่ได้มีรากฐานที่แข็งแรง คนสมัยนี้จึงเชื่อถือสื่อหลักๆ น้อยลง และไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สื่อดั้งเดิมมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับชีวิตประจำวัน”  

สำหรับทางออก ปริณดามองว่า มี แต่ต้องใช้เวลายาวนานเนื่องจากโครงสร้างอำนาจที่มันไม่เสมอภาค มันไม่เอื้อให้เราทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของสังคมนี้เท่าๆ กัน แสดงออกทางความคิด เมื่อเป็นแบบนี้จึงกดทับการเสนอข้อมูลข่าวสาร จึงต้องสร้างระบบให้ดีขึ้น

แต่เธอย้ำว่า ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าสื่อจะไม่ต้องทำอะไร แต่ต้องพยายามขยายพื้นที่ทางความคิด และรับใช้ด้านข่าวสารแก่ประชาชนหากยึดถือตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย เพราะสุดท้ายแล้วการที่สื่อจะอยู่ต่อไปได้หรือไม่นั้น เป็นเพราะแรงสนับสนุนของประชาชน

ส่วน เกศราภรณ์เห็นว่า  ต้องทำให้สื่อสำนักต่างๆ สถานีต่างๆ มั่นใจว่า เขาสามารถพูดออกมาได้ และเขาจำเป็นต้องพูดออกมา ยิ่งวันนี้สถานการณ์บ้านเมืองรุนแรง อยู่บนความเป็นความตายของประชาชน จึงไม่ควรหันหลังให้ประชาชน ถ้าคิดว่า เอาตัวเองให้อยู่รอดอย่างเดียวพอ ประชาชนไม่รอด สื่อก็ไม่รอดด้วย

"เราคิดว่า ถ้าสื่อออกมาพูด คนก็จะสนใจ พอมีคนสนใจมากๆ ผู้มีอำนาจก็ทำอะไรสื่อไม่ได้ สื่อได้แสงมาจากประชาชน ก็อยากให้สื่อและประชาชนทุกคนช่วยกันออกมาจับจ้อง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐทุกวัน ก็น่าจะมีเสรีที่จะพูดกันมากขึ้นไปด้วยกัน"

ขณะที่ ชุติมาเห็นว่า รากฐานของสื่อคือ รับใช้ประชาชนในแง่จัดหาข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นกับประชาชน เพื่อสิทธิเสรีภาพ และตัดสินใจอนาคตของประเทศโดยตัวประชาชนเอง ฉะนั้น การที่ประชาชนลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อทุกวันนี้ก็น่าจะทำให้เห็นว่า การทำงานของสื่อยังเดินไปใกล้เคียงรากฐานที่ว่าแล้วหรือยัง ซึ่งถึงที่สุดแล้ว สื่อก็ต้องยึดโยงกับประชาชน สื่ออยู่ได้เพราะเสียงของประชาชนที่ไว้ใจให้คุณทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการหาข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอ

“ที่สำคัญคือ หลายคนบอกว่า ถ้าการเมืองดี พวกการศึกษา ถนนหนทาง การจัดทำบริการสาธารณะด้านต่างๆ จะดีด้วย เราเลยคิดว่า ถ้าการเมืองดี มันจะทำให้สื่อมีโอกาสเสนอข่าวได้อย่างอิสระเช่นเดียวกัน”

 

อ้างอิง

  • “ดัชนีเสรีภาพสื่อไทยกระเตื้อง อยู่อันดับ 137 ของโลก” จากhttps://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/146635
  • “สื่อ ‘ไขว่ห้าง’ สะท้านทำเนียบ เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่?” จากhttps://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2654045
  • "ม็อบจุฬาฯ ลั่น ถ้าจะเป็น ‘เสาหลัก’ ต้องค้ำจุน ปชต. ไม่ใช่ผดุงเผด็จการ" จากhttps://www.matichon.co.th/politics/news_2307697
คุยกับนักเรียนสื่อ “ถ้าการเมืองดี สื่อมีโอกาสเสนอข่าวได้อย่างอิสระ”