สื่อควรรายงานข่าวอย่างไร?
คำถามนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะตอบว่า สื่อควรรายงานอย่างเป็นกลาง
ที่ตอบแบบนี้ อาจเป็นเพราะโดนกรอกหูกันอยู่ตลอดว่า สื่อต้องเป็นกลาง สื่อต้องนำเสนอความจริง และสื่อต้องไม่เลือกข้าง
นักเรียนวารสารศาสตร์ก็อาจจะถูกสั่งสอนแบบนี้ในสมัยเรียนปีแรก ๆ เช่นกัน
จนหลายคนคิดกันไปว่า การเป็นกลางคือกฎเหล็ก เป็นจรรยาบรรณสื่อที่ไม่ควรละเมิด
ผมสงสัยเรื่องนี้จึงไปลองค้นข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559 มี 30 ข้อ ก็ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้
ที่ดูจะใกล้เคียงที่สุดเห็นจะเป็น ข้อ 10 ซึ่งบัญญัติว่า หนังสือพิมพ์ต้องแสดงความพยายามในการให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ต่างประเทศอย่างสมาคมผู้สื่อข่าวอาชีพในสหรัฐอเมริกา (Society of Professional Journalists: SPJ) ก็ไม่ได้ระบุถึงหลักปฏิบัติดังกล่าวเอาไว้
แล้วเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงมักเข้าใจไปว่า การเป็นกลางคือสิ่งที่สื่อมวลชนสมควรทำ?
อาจจะเป็นเพราะชุดความรู้ชุดหนึ่งที่ครอบงำ เป็นชุดความรู้หลักของสังคมไทย ว่า ใครเขาจะเป็นอะไรกันก็อย่าไปมีปัญหา อย่าไปยุ่งเกี่ยว หรืออย่างไปสร้างความขัดแย้งใด ๆ กับใคร และจะอยู่กันได้ดีต้องประนีประนอม สามัคคีปรองดอง อย่าไปโต้เถียง ขัดแย้ง
พูดให้ง่ายคือ วางตัวเป็นกลาง ไม่ตัดสิน
ผมคิดว่า ความรู้ชุดนี้กลายมาเป็นสิ่งที่นายทุนสื่อ และ/หรือ คนทำงานสื่อยึดถือด้วยเช่นกัน
นานวันเข้า จาก เจ้าของทุนกำชับห้องข่าว บรรณาธิการกำชับนักข่าว ทำกันตามๆ มากเข้า คนที่มาก่อนสอนคนที่มาใหม่ มากเข้าๆ มันจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในหมู่คนทำงาน
ถามว่า คุณค่าแบบนี้มันให้ผลอะไร?
หากมองอย่างผิวเผิน ความเป็นกลางในความหมายแบบนี้ดูจะไม่ส่งผลร้ายแต่อย่างใด (กับสื่อ) ทั้งยังลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรายงานข่าวที่แสดงจุดยืนได้
การเป็นกลางแบบ “ใครว่าอะไรก็ว่าไปตามนั้น” หรือ “ให้ผู้อ่าน/ผู้ดูตัดสินเอง” นั้น ปลอดภัยต่อการทำมาหากินของตนเอง (ธุรกิจ)
ถ้าไปเจาะข่าว รวบรวมข้อเท็จจริงจากหลากหลายแหล่ง พิสูจน์ข้อเท็จจริง (verify) จนพบว่า จริงๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเหตุการณ์นั้นมันหมายความว่าอย่างไร เป็นคุณกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชนไหม แล้วรายงานออกมา ก็อาจถูกผู้มีอำนาจเล่นงานได้
อย่างไรก็ดี การรายงานแบบอ้างความเป็นกลางในลักษณะนี้ ไม่ได้ทำให้คนดู/คนอ่านในฐานะพลเมือง รู้อะไรมากขึ้น และมีอำนาจมากขึ้นแต่อย่างใด
ผมได้อ่านหนังสือ Dateline Earth เขียนโดย กุนดา ดิกซิท นักข่าวชาวเนปาล บทที่ 2 ชื่อบทว่า นักข่าวไร้พรมแดน ชี้ให้เห็นปัญหาในเรื่องนี้ไว้ว่า ถ้าสื่อวารสารศาสตร์เสนอแต่ข่าวในลักษณะ “ภววิสัย” (objectivity) ใครบอกอะไรก็รายงานไปตามนั้น รายงานตรงไปตรงมาถูกต้องตามข้อเท็จจริงเป๊ะๆ แต่ขาดการขุดค้นข้อเท็จจริงอันจะสามารถอธิบายเหตุผลเบื้องหลังของเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ก็เท่ากับสื่อได้ “เลือกข้าง” ชุดความคิดหลักที่ดำรงอยู่แล้ว
เขายังยกตัวอย่างถึงการเสนอข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาว่า หากสื่อเสนอในแง่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวว่า มันจะเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ แต่ไมได้เสนอผลกระทบ การเสนอแบบนี้เท่ากับสื่อได้เลือกข้างชุดความรู้ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมไปแล้ว
ข้อคิดจากหนังสือทำให้ผมคิดถึงข่าวเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ที่สื่อประเภทเน้นการเสนอข่าวเศรษฐกิจ เสนอเหตุการณ์นี้ในประเด็นว่า แผนปั้นเมืองจะนะโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
สื่อดังกล่าวยังอ้างอิงแหล่งข่าวบอกเล่านโยบายต่างๆ ที่จะช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการที่บริษัทจากจีนสนใจจะเข้ามาลงทุนผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ระบบรางรถไฟและหัวรถจักรมูลค่า 4 แสนล้านบาท หรือการเจรจากับเกาหลีในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ตามที่ภาครัฐกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “แบตเตอรี่โซน” เพื่อเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตร โดยอ้างว่า การลงทุนครั้งนี้เป็นการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ในอนาคตที่จะต้องใช้ไฟอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์
มากไปกว่านั้น ในข่าวยังอ้างอิงแหล่งข่าวย้ำอีกด้วยว่า จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 อัตรา
แน่ล่ะว่า ในวันถัด ๆ มา ก็อาจจะมีการรายงานเสียงจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
แต่แล้วอย่างไรต่อ?
ผมคิดว่า การรายงานแบบนี้แหละ เป็นตัวอย่างของการรายงานข่าวที่อ้างความเป็นกลาง คือรายงานเพียงข้อมูลแบบ “ใครว่าอะไรก็ว่าไปตามนั้น”
แม้จะให้พื้นที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ส่งเสียง แต่สุดท้ายการไม่สืบเสาะไปต่อ ก็เป็นการผลิตซ้ำแนวทางพัฒนาแบบที่เน้นตัวเลขเศรษฐกิจ ทั้งที่มีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบมากมาย ในประเด็นที่ประชาชนออกมาเรียกร้องค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย จากการถูกเวนคืนที่ดิน ด้านอาชีพการงาน ที่อาชีพประมงได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสียและอากาศเป็นพิษ และคำถามว่า หากเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ใครจะเป็นเจ้าภาพรับประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
ผมคิดว่า โดยหลักปฏิบัติในการทำงาน สื่อต้องทำมากกว่านี้ ทั้งในแง่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการเดินหน้าโครงการนี้คิดบนข้อมูลรอบด้านไหม โครงการนี้มันจะเป็นคุณต่อใครกันแน่
นี่น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนผู้รับรองอำนาจการทำหน้าที่สื่อ พึงจะได้รับ
หรืออีกเหตุการณ์ในต่างประเทศ อย่างเวเนซุเอลาช่วงปี 2543 ที่สื่ออ้างว่า นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง บอกเล่าเรื่องราวนโยบายประชานิยมที่สวยหรูของภาครัฐ ทำข่าวการส่งออกน้ำมันดิบในประเทศสู่ตลาดโลกมากมายจนทำให้ประเทศเวเนซุเอลายิ่งร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งยังมีนโยบายการสร้างบ้านภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลกว่า 2 ล้านหลัง
การรายงานข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ดูไม่มีปัญหาอะไรในเวลานั้น แต่การที่สื่อละเลยที่จะทำความเข้าใจแล้วเจาะเหตุการณ์เชิงลึก ไม่ยอมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐว่านโยบายต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือแนวทางของรัฐบาลเป็นไปเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา
ท้ายที่สุด เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รายได้หลักของประเทศที่มาจากการการขายน้ำมันจึงลดฮวบและนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจของชาติในทันที จนตอนนี้ผ่านมากว่า 20 ปี ก็ไม่มีทีว่าเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะดีขึ้น
สุดท้ายการรายงานแบบ “เป็นกลาง” นี้ สื่อมักใช้คำนี้เป็นข้ออ้างในการนำเสนอข่าวที่ย่อยง่าย และตนเองไม่ต้องลงทุนสืบค้นข้อมูลเชิงลึก (ยิ่งในสภาพการเมืองที่ไร้เสรีภาพแล้ว ยิ่งไม่คุ้มต่อการทำแบบนั้นตามมุมมองของนายทุนสื่อ)
ผมยังเห็นต่อไปอีกว่า ที่ร้ายยิ่งกว่าคือ การกอดคุณค่าแบบนี้มันยังทำให้ คนที่ “อ้างว่า” ตัวเองนั้นทำงานอย่างเป็นกลาง ดูดี-ดูมีอำนาจเหนือการโต้แย้งถกเถียง
ทั้งที่จริงแล้ว การรายงานข่าวออกมาสักชิ้นหนึ่ง ล้วนมีมุมมอง/การตัดสินเชิงคุณค่า/มีอุดมการณ์บางอย่างของผู้รายงานฝังอยู่
เพียงแค่นักข่าวคัดเลือกเหตุการณ์นั้นๆ มารายงานเป็นข่าว นั่นก็เป็นการให้ความหมายแล้วว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สังคมควรรับรู้
ในเหตุการณ์ที่ถูกคัดเลือกมา นักข่าวก็ยังคัดเลือกแง่มุมในนั้นมาเลือกชู ทำให้โดดเด่น ผ่านโครงสร้างข่าว ซึ่งรูปแบบปิรามิดหัวกลับที่ใช้กันในการรายงานข่าวนั้น บังคับให้นักข่าวต้องคัดเลือกแง่มุมที่นักข่าวเห็นว่าสำคัญโดดเด่นที่สุดมานำเสนอก่อน และโปรยมันผ่าน headline และ lead ไล่ลำดับความสำคัญมากไปหาน้อยในเนื้อข่าว (body)
มันจึงไม่มีทางที่จะทำให้ ข่าวชิ้นใดๆ ไม่มีแก่นความคิดอะไรฝังอยู่ได้
ถ้าจะพูดให้สุดคือ ความเป็นกลางในความหมายที่ เรื่องจะออกมาแล้วไม่เข้าใคร บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงไม่มีจริงมาตั้งแต่ต้น
เพราะฉะนั้น การพยายามบอกว่า ตัวเอง (ผู้รายงานข่าว) ปลอดการเมือง เอาเข้าจริงมันคือ การเมืองแบบหนึ่ง เพราะทำให้ตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า
ผมอยากยกตัวอย่างเหตุการณ์ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ทวีตแจก “กล้วย” ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ในการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อปลายเดือนกันยายน
สื่อหลายสำนักไฮไลท์สิ่งที่ รุ้ง แสดงออก ว่า ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ อ้างอิงแหล่งข่าวเช่นโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ หรือคนอื่นๆ อีก เป็นต้น
จริงอยู่ที่ว่า สื่อสามารถเสนอประเด็นนี้ได้ แต่ผมตามข่าวก็พบว่า ผ่านมา 4-5 วันแล้ว สื่อหลายสำนักยังเสนอเรื่องนี้อยู่
จึงกลายเป็นว่า สื่อเลือกโฟกัสที่ปรากฏการณ์หวือหวา แต่ไม่ยอมเจาะลึกต่อไปให้เห็นว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับระบบผู้แทนในสภา ส.ส. ส.ว. ตรงไหนไม่ยึดโยงประชาชนหรือไม่ ผิดเพี้ยนจากหลักการประชาธิปไตยอย่างไร นักศึกษาถึงต้องออกมาสบถใส่
ผมไม่ได้บอกว่า การสบถแบบนั้นสุภาพ แต่ผมสนใจว่า ระบบแบบไหนกันที่ทำให้เกิดการสบถแบบนี้ (และทำไมสื่อหลักถึงสนใจเพียงแต่สีสัน และกล่าวโทษคนตัวเล็กๆ ที่สบถใส่ผู้มีอำนาจ)
ทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ความเป็นกลางในความหมายที่ว่า เสนอเนื้อหาออกมาแล้วไม่ไปเข้าข้างใครก็ตามนั้นไม่มีทางมีอยู่จริง เพราะสื่อจะเป็นผู้เลือกแหล่งข่าว เป็นคนวางน้ำเสียง และตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายว่าจะรายงานออกไปในแง่มุมไหน
เมื่อเป็นแบบนี้ ผมคิดว่า สิ่งที่สำคัญในการรายงานข่าวคือ การพยายามมองให้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างหลังเหตุการณ์ปัญหาและนำเสนอทางออก
หากไม่มีความรู้เพียงพอที่จะวิเคราะห์แล้วเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงมาตีแผ่รายงาน ก็ควรไปพุ่งตรงไปหาผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถ และขยายเสียงของเขาเพื่อให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลอย่างรอบด้านสูงสุด
ในบทที่ 2 ของหนังสือ Dateline Earth ยังให้ข้อคิดอีกว่า สื่อมักนำเสนอเพียงเรื่องราวของคนมีชื่อเสียง ส่วนคนธรรมดาทั่วไป รวมถึงคนยากจนจะได้พื้นที่สื่อก็ต่อเมื่อคนเหล่านั้นล้มตายเป็นจำนวนมาก หรือก่อคดีสยองขวัญ ไม่ก็กำลังคุกคามชีวิตของอภิสิทธิ์ชน
ผมอ่านแล้วก็คิดว่า ดูจะเป็นเรื่องจริง กล่าวคือ นอกจากประชาชนทั่วไปจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อแล้ว ข้ออ้างรายงานข่าวอย่างเป็นกลาง ก็ยิ่งผลักให้คนที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชนต้องเสียเปรียบอยู่ร่ำไป
ยกตัวอย่างจากรายงานชุด “ประชาธิปไตยบนทางสัญจรเมืองกรุง” ตอนหลักที่เสนอว่า “ทางสัญจรในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ของทุกคน แต่เป็นของรถเก๋ง!” จากเว็บไซต์นิสิตนักศึกษา หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนิสิตสาขาวิชาเอกและโทวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายงานชุดนี้ ไม่ได้ชี้นิ้วอย่างง่ายๆ ว่า วินมอเตอร์ไซต์ที่ขับขึ้นมาบนทางเท้าเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่พยายามมองไปยังต้นตอของปัญหา โดยพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบคมนาคมของไทยต่างหากที่ไม่เอื้อให้รถทุกคันและคนทุกคนสามารถสัญจรได้อย่างเสมอภาค และปลอดภัย ทำให้เขาเหล่านั้นถูกผลักเป็นคนชายขอบและจนต้องนำรถจักรยานยนต์มาสัญจรบนทางเท้าเพื่อเลี้ยงปากท้อง
สุดท้ายผมคิดว่า การเป็นกลางเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ไม่ได้อยู่ในหลักจรรยาบรรณของสื่อมวลชนข้อไหน
แต่หลักจรรยาบรรณข้อหนึ่งที่สื่อมวลชนมีแน่ ๆ คือ การตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยที่กระบวนการนั้นเป็นระบบระเบียบมีหลักฐาน เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้นึกเอง เออเอง
เป้าหมายเพื่อให้ทราบว่า จริงๆ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ประชาชนก็จะได้ใช้ข้อมูลนี้ไปตัดสินใจในการดำเนินชีวิตในอนาคต
เป็นพันธกิจสื่อที่ต้องสอดส่องดูแล ระแวดระวัง เหตุการณ์ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงป้องกันและหาทางออกของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ควรอ้างเพียงแค่ว่า ได้นำเสนอเสียงทุกฝ่ายแล้ว
มิเช่นนั้นก็เท่ากับว่า สื่อกำลังทิ้งคนหลาย ๆ คน ไว้ด้านหลัง ในนามของความเป็นกลาง
……………………..
อ้างอิง
ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559, https://bit.ly/36jaYKK
รายงานชุด “ประชาธิปไตยบนทางสัญจรเมืองกรุง”, https://nisitjournal.press/2020/01/21/cars-rule-bkk-roads/
สรุปวิกฤตเวเนซุเอลา 9 ตุลาคม 2562, http://www.investerest.co/economy/venezuela-crisis/
Dateline Earth โลกในอุ้งมือสื่อ บทที่ 2. โดย กุนดา ดิกซิท: บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ (บรรณาธิการ) บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์ และสกุลรัตน์ วรธำรง (ผู้แปล)
SPJ Code of Ethics, https://www.spj.org/ethicscode.asp
