"ดิฉันเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ต้องมีเจตนาที่แน่วแน่มั่นคงในการที่จะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด"
ข้อความตอนหนึ่งจาก "#14ปีสมชาย จดหมายจากครอบครัวนีละไพจิตร"
12 มีนาคม 2547 คือวันที่ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนผู้มีบทบาทยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ถูกกระทำจากกระบวนการยุติธรรมได้ถูกทำให้หายตัวไป และเป็นที่รู้กันดีว่าการหายตัวไปของเขามีสาเหตุมาจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงหลายคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้ทางการยังหาตัวสมชาย นีละไพจิตรไม่พบ แต่คดีของสมชายก็เป็นที่กล่าวถึงในสังคมในฐานะคดีอุ้มหายคดีแรกๆ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อีกนัยหนึ่งคดีดังกล่าวทำให้เห็นว่าชะตากรรมของผู้ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐมีจุดจบเช่นไร และความน่าสะพรึงกลัวร่วมสมัยเช่นนี้ก็ทำให้นักกิจกรรมและนักเรียกร้องสิทธิรุ่นใหม่ต้องระวังตัวด้วยเช่นกัน
อาชญากรรมแรกเริ่มที่กระทำโดยรัฐไทย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายอาชญากรรมโดยรัฐในบทความ 'รัฐกับความรุนแรง: จากถังแดงถึงบิลลี่' ว่า อาชญากรรมโดยรัฐ (State Crime) หรือความรุนแรงโดยรัฐ (State Violence) หมายถึงการกระทำความรุนแรงหรืออาชญากรรมที่กระทำขึ้นโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยแทนที่จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน กลับใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายต่อพลเมืองของตนเองโดยมีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ กำจัด และควบคุมประชาชน
แม้ไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าความรุนแรงครั้งแรกที่กระทำโดยรัฐไทยเกิดขึ้นตอนไหน แต่จากฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าใน พ.ศ.2492 รัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้จับกุมสี่อดีตรัฐมนตรีผู้ต้องหาคดีกบฎวังหลวง ซึ่งระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในข้อหากบฎ สี่อดีตรัฐมนตรีถูกข่มขู่และกระทำทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนการสร้างพยานหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อให้รับสารภาพ และผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมดระหว่างการย้ายไปคุมขัง ต่อมาหลัง พ.ศ.2500 ได้มีการสอบสวนและพบว่าฝ่ายตำรวจได้สังหารบุคคลทั้งสี่เอง คดีฆ่าสี่รัฐมนตรีจึงนับว่าเป็นคดีแรกๆ ที่ปรากฎอาชญากรรมโดยรัฐขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
หลังจากคดีฆ่าสี่อดีตรัฐมนตรีไม่นาน 12 ธันวาคม 2495 เตียง ศิริขันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร หัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ได้หายตัวไปหลังจากถูกกล่าวหาในข้อหากบฎ ก่อนจะสืบทราบว่าตำรวจได้จับไปทรมานและฆาตกรรมในที่สุด จากนั้นก็มีคดีการอุ้มหายของ พร มะลิทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน และ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำศาสนาอิสลามที่นำเสนอวิธีการปกครองแบบสันติวิธีกับคนมุสลิม
อาชญากรรมนอกกฎหมาย สู่อาชญากรรมที่รัฐทำให้ถูกกฎหมาย
ภายหลังการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อพ.ศ.2500 มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 มาตรา 17 ระบุว่า "ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร กวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"
จากคำสั่งคณะปฏิวัติและคำสั่งนายกรัฐมนตรีในช่วง พ.ศ.2501 - 2504 พบว่ามีคำสั่งประหารชีวิตถึง 76 คน และจำคุกกว่า 116 คน ซึ่งมาจากข้อหาแบ่งแยกดินแดน คอมมิวนิสต์ วางเพลิง และยาเสพติด ซึ่งมีกรณีน่าสนใจอย่างการประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และกบฎแบ่งแยกดินแดน และ ศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อต้านระบอบเผด็จการต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนหน้าการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ก็ถูกประหารชีวิตในข้อหาแบ่งแยกดินแดนเช่นเดียวกัน
หลัง พ.ศ.2540 นอกจากคดีอุ้มหายของสมชาย นีละไพจิตรยังมีกรณี กมล เหล่าโสภาพันธ์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน ถูกอุ้มหายจากสภ.บ้านไผ่เมื่อ พ.ศ.2551 และ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่หายไปเมื่อ 17 เมษายน 2557 โดยถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับตัวไป ก่อนจะพบชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ที่ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี เมื่อ พ.ศ.2562
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภรรยาของสมชาย นีละไพจิตรยอมรับว่า ปัจจุบันคดีอุ้มหายไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่สิ่งที่มาแทนที่คือการฟ้องร้องทางกฎหมาย ซึ่งข้อหาเหล่านี้แม้ในชั้นศาลส่วนใหญ่จะถูกยกฟ้อง แต่ก็ทำให้นักกิจกรรมเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม
"ในประเทศไทยเองเมื่อก่อนนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกอุ้มหาย ถูกฆาตกรรมเยอะมาก แต่ตอนนี้การฆ่า การถูกอุ้มหายเราแทบไม่พบ เราจะพบการคุกคามรูปแบบใหม่ ก็คือการคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรม การฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อปิดปากไม่ให้ (นักสิทธิมนุษยชน) ทำงาน" อังคณากล่าว
การคุกคามนักกิจกรรมโดยรัฐไทยร่วมสมัย
"เริ่มโดนคุกคามตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปี 2560 ที่ชูป้ายจุฬาฯ รักเผด็จการ ตอนนั้นไม่รู้ว่าโดนติดตามจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่รัฐมาตามตัวที่คณะ ตามหาคนในรูปภาพที่ชูป้าย พร้อมทั้งบอกว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกบันทึกไว้หมดแล้ว" ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ระบุถึงการถูกรัฐคุกคามในครั้งแรกๆ
ธนวัฒน์ยอมรับว่าหลังจากนั้นเขาถูกเฝ้าระวังโดยรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงมีการชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ภาครัฐเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากเคลื่อนไหวผ่านทวิตเตอร์และเพจเฟซบุ๊ก "สมัยก่อนนานๆ ทีเขา (เจ้าหน้าที่รัฐ) จะตามเรา ตามการชุมนุม พอเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นเขาก็เริ่มถ่ายรูป เริ่มเดินตาม ดูว่าเรานั่งรถทะเบียนอะไร เป็นรถใคร มากับใคร เพื่อมาเชื่อมโยง นานๆ เข้าก็เริ่มมาเฝ้าที่ใต้หอ มาคุยกับยามบ้าง"
นอกจากการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ธนวัฒน์ยังถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมหรือจัดการชุมนุมมาแล้วหกคดี ซึ่งคดีจบในชั้นศาลไปแล้วสองคดี ธนวัฒน์ยกตัวอย่างการถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการเข้าร่วมกิจกรรมแขวนพริกเกลือ คดีดังกล่าวธนวัฒน์มองว่าไม่น่าจะถูกดำเนินคดี เนื่องจากมีผู้ทำกิจกรรมแค่สองคน ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่ได้ปราศรัย โดยในวันดังกล่าวตำรวจได้ล้อมพื้นที่ปิดถนนและแจ้งข้อกล่าวหากับเขา กรณีดังกล่าวทำให้เสียทั้งเวลา เงินค่าเดินทาง และเงินค่าทนาย โดยธนวัฒน์มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการปิดกั้นให้คนไม่กล้าที่จะออกมาทำกิจกรรม เพราะมองว่าต้องใช้ต้นทุนสูง
"ที่ไม่มีใครกล้ามาชุมนุม ไม่มีใครกล้ามาเรียกร้อง เพราะภาพของการดำเนินคดีต่างๆ ทำให้เห็นว่าคนมาร่วมกิจกรรมโดนคดีหมด คนมาเรียกร้องโดนเล่นงานหมด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ถ้ามาชุมนุมเป็นพันเป็นหมื่นเขา (รัฐ) ดำเนินคดีไม่ไหวหรอก แต่เมื่อไรก็ตามถ้าคนมันมาน้อย 10-20 คน เขาแจ้งหมด เพราะคนมันมาน้อย เขารู้ตัวหมดเลย" ธนวัฒน์เล่าถึงสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบัน
ปฏิบัติการทางข่าวสาร การโจมตีของรัฐสมัยใหม่
"ก่อนหน้านี้มันไม่เคยรู้สึกว่าเป็นรัฐมาก่อนเลย นึกว่าเป็นความเห็นของฝ่ายตรงข้ามมาโจมตีธรรมดา แต่อันที่เป็นรูปแบบชัดเจนเลยคือเรื่องการชักธงดำ เพราะว่าน่าสงสัยตั้งแต่มีโพสต์ออกมา มีการช่วยกันแชร์เข้ากลุ่มแบบ กปปส. หรือสนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งตรงนี้มันเป็นรูปแบบเลย ไม่ใช่เสียงออแกนิค เขาเหมือนจะมีโพสต์ใหญ่เป็นตัวเริ่ม แล้วจะมีไอโอ (IO: Information Operation) ต่างๆ แสดงความเห็นคล้ายๆ กัน ไปในทางเดียวกัน และแชร์ต่อไปในกลุ่มต่างๆ" สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตชั้นปีที่สาม คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในกลุ่มผู้จัดกิจกรรม 'เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป' กล่าว พร้อมระบุว่าตนเองไม่เคยโดนคุกคามจากรัฐมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเป็นการโจมตีทางข้อมูลข่าวสาร
สิรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะการทำงานแบบซ้ำๆ ทั้งการแชร์และการแสดงความเห็น ทำให้สังเกตได้ชัดว่าไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นกลุ่มคนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีตัวบุคคลให้หมดความน่าเชื่อถือ ทั้งสร้างประเด็นความเกลียดชังเรื่องธงชาติ และการโจมตีภาพลักษณ์ของตน เช่น รอยสัก สีผม โดยหลายคอมเมนต์มีลักษณะดูถูกเหยียดหยาม นอกจากนี้สิรินทร์ยังมองว่าเป็นเรื่องแปลกที่คลิปวิดีโอการชักธงดำในกิจกรรมเสาหลักจะไม่หักอีกต่อไปหลุดจากเจ้าหน้าที่จุฬาฯ ไปสู่บุคคลภายนอกได้อย่างไร
ในกรณีคล้ายกัน ธนวัฒน์ยอมรับว่าถูกเฟซบุ๊กปิดเพจ โดยหลังจากสอบถามไปยังบริษัทได้ทราบสาเหตุว่ามาจากการถูกคนจำนวน 3,000 คนกดรายงานพร้อมกันในเวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งกรณีเช่นนี้ถือว่าผิดปกติ เพราะในโพสต์ล่าสุดของเพจไม่ได้มีเนื้อหาความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นเพียงโพสต์ประชาสัมพันธ์แฟลชม็อบในหลายๆ มหาวิทยาลัย และคนธรรมดาไม่สามารถรวมกลุ่มกดพร้อมกันได้กว่า 3,000 คน ในเวลาอันสั้นมากๆ หากไม่ใช่กรณีที่ถูกจับตามองหรืออยู่ในความไม่พอใจของสังคม
ไม่นานมานี้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ได้อภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารหรือ IO ผ่านรัฐสภาว่า เป้าหมายของปฏิบัติการ IO มีสี่ลักษณะ คือหนึ่ง คุกคามผู้ที่มาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยการขุดประวัติ โพสต์ประจานให้คนมารุมด่า และยุยงสังคมให้เกิดการล่าแม่มด สอง ความคิดเห็นใดที่มีคนกดไลก์เห็นด้วยจำนวนมาก IO จะเข้าไปแสดงความคิดเห็นในเชิงลบ สาม เข้าไปแชร์โพสต์หรือแชร์ข้อความด่าทอเพื่อสร้างความแบ่งแยกในหมู่ประชาชน และสี่ นำเสนอข้อมูลด้านที่ดีของรัฐบาลโดยให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ซึ่งวิโรจน์ยังยกตัวอย่างถึงปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารที่ใช้โจมตีนักสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีด้วย
"ท่านคือหนึ่งในตัวการที่ทำให้สามจังหวัดชายแดนใต้ไม่สงบสุขเสียที" วิโรจน์กล่าวต่อนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐสภา
การกระทำของรัฐที่นำมาสู่ความกลัว
"เราก็กลัวตั้งแต่รู้ว่าเป็นเป้าหมายของการโจมตี ปกติเราอยู่คนเดียวเราอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีคนอยู่ด้วยตลอด ไปไหนมาไหนต้องปกปิดใบหน้า กลัวการล่าแม่มด กลัวการถูกติดตาม ต้องเปลี่ยนจากนั่งรถสาธารณะเป็นการขับรถส่วนตัวแทน" สิรินทร์ นักกิจกรรมเสาหลักจะไม่หักอีกต่อไปเล่าถึงความกลัวหลังจากปฏิบัติการที่เกิดขึ้น พร้อมยอมรับว่าแม้ตนเองจะมีแรงสู้หรือเรียกร้องสิทธิต่อไป แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอต้องพกหนังสือเดินทางติดตัวตลอดเวลาเผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น การถูกเรียกตัว การถูกทำร้าย หรือถูกอุ้มหาย
สอดคล้องกับธนวัฒน์ที่ระบุว่าตนเองต้องระวังตัวตลอดเวลาทั้งการแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ และการเข้าร่วมการชุมนุมหรือกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งอาจจะถูกดำเนินคดีไปจนถึงการอุ้มหาย ธนวัฒน์เสริมว่าแม้กรณีการอุ้มหายจะเกิดไม่บ่อยนัก แต่อย่าลืมว่าการอุ้มหายครั้งล่าสุดก็เกิดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเราก็ไม่รู้ว่ารัฐจะตัดสินใจจัดการอย่างไรกับเรา หรือเราไปล้ำเส้นผู้มีอำนาจมากขนาดไหน
"ทุกคนมีโอกาสได้รับผลเฉลี่ยจากความรุนแรงในอาณาจักรของรัฐนั้นได้ ที่น่ากลัวก็คือความกลัวนั้นได้แผ่ซ่านไปในทุกที่ของรัฐ" ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์กล่าวในการเสวนา 'รัฐ: อาณาจักรแห่งความกลัว' โดยธเนศมองว่าความกลัวเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกพื้นที่ แม้สังคมเข้าใจเพียงว่าผู้ที่ตกอยู่ภายใต้ความกลัวจากการใช้ความรุนแรงของรัฐมีเพียงประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
"เมื่อไรที่รัฐทำให้ประชาชนพลเมืองของตัวเองไม่กล้าพูดหรือแสวงหาความจริงเพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นจับกุมคุมขัง ต่อต้าน ทำให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง และรัฐที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเองได้ เป็นความสำเร็จของรัฐอย่างสูง และเมื่อคนหวาดกลัวและค่อยๆ หมดบทบาท ไม่มีการตรวจสอบหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน อำนาจที่ไม่มีการควบคุมก็จะหมิ่นเหม่ต่อการเป็นอธรรม" ธเนศกล่าว
- หมายเหตุ: บทความนี้เป็นผลงานในรายวิชาสิทธิมนุษยชนและวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อาชญากรรม
- อาชญากรรมโดยรัฐต่อผู้เห็นต่าง
- ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร
- ไอโอ
- ทิฆัมพร บุญมี
- สมชาย นีละไพจิตร
- ประจักษ์ ก้องกีรติ
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- เตียง ศิริขันธ์
- พร มะลิทอง
- หะยีสุหลง โต๊ะมีนา
- ครอง จันดาวงศ์
- ศุภชัย ศรีสติ
- กมล เหล่าโสภาพันธ์
- พอละจี รักจงเจริญ
- อังคณา นีละไพจิตร
- อาชญากรรมนอกกฎหมาย
- การคุกคามนักกิจกรรม
- ธนวัฒน์ วงค์ไชย
- สิรินทร์ มุ่งเจริญ
- วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
- พลเมือง
- ประชาชน
- เสรีภาพ
