10 กว่าปีที่แล้ว ถ้ามีคนมาถามว่า “คิดอย่างไรกับการเมืองไทย”
ภาพที่ชัดขึ้นมาในความคิดของฉันในตอนนั้นเป็นภาพผู้คนออกมาชุมนุม ใส่เสื้อ 2 สีที่แตกต่างกัน คือสีเหลือง กับสีแดง
เด็ก 10 ขวบ อย่างฉันจำความได้ว่า มีการชุมนุมบ่อยมาก
เสื้อสีเหลืองไปสนามบินสุวรรณภูมิ ไปประท้วงที่สถานีโทรทัศน์ ไปยึดทำเนียบรัฐบาล
ส่วนเสื้อสีแดงชุมนุมปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกราชประสงค์
แต่เรื่องราวที่ได้รับการบอกเล่าจากสื่อแล้วจำได้ชัดเจนสุดคือ ความโกลาหล การปะทะกันระหว่างประชาชนกับทหาร
ฉันในวัยนั้นรู้สึกสูญเสีย ทั้งประชาชนที่ต้องเสียชีวิตและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งล้มตายในช่วงเมษายน-พฤษภาคม ปี 2553
เรื่องเล่าจากสื่อหลักในตอนนั้นบอกว่า มีไฟไหม้หลายจุด รวมถึงเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างใหญ่ใจกลางเมืองที่ถูกเผา
และให้ความหมายด้วยว่า การชุมนุมเป็นการจลาจลจนเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ต้องประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่ 20.00 น. จนแถวบ้านเงียบสงัดไร้ผู้คนในเวลากลางคืน
ถัดมาคือ สื่อหลักยังประโคมข่าวการทำความสะอาดเมือง Big Cleaning Day ทำนองว่า ล้างกรุงเทพฯ ล้างรอยไหม้
วัยนั้นฉันไม่รู้หรอกว่า เป็นการล้างร่องรอยความจริงที่เกิดขึ้น
ความจริงว่าด้วยการปราบปรามประชาชนมือเปล่าจนเสียชีวิตเกือบร้อยศพ
คงเหลือแต่ความจริงที่รัฐสร้าง ว่าด้วยความรุนแรงของการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง แล้วยังถูกตอกย้ำซ้ำทวนฝังในชิปความทรงจำของคนส่วนหนึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
สื่อกับการสร้างภาพจำการเมืองไทย
หลังจากฉันโตขึ้นจนเข้ามหาวิทยาลัย ได้มาเรียนด้าน Journalism ก็พอเข้าใจว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความหมายหลากหลายแบบตามแต่ที่คนเล่า อยากจะเห็นและอยากจะเล่า
สื่อเองก็เช่นกันที่เป็นผู้ให้ความหมายเหตุการณ์ให้ออกมาในทิศทางใดๆ ตามแต่ที่สื่อนั้นจะให้ความหมาย
ฉะนั้น ต่อให้โลกล่มสลาย สื่อไม่มีทางที่จะบอกเล่าเรื่องราวอะไรออกมาแล้วไม่ไปเข้าทางใครได้
เพราะก่อนที่สื่อจะเล่าอะไรออกมา ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ล้วนผ่านการทำความเข้าใจเหตุการณ์ของคนที่อยู่ในกระบวนการทำ story ชิ้นนั้นออกมา
แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ข่าว” เองก็ตาม ก็มีกรอบ/แก่น (frame/theme) บางอย่างแอบฝังอยู่ใต้พื้นผิวของขนบธรรมเนียมในการรายงาน
Headline และ Lead นั่นแหละเป็นจุดที่สื่อ “คัดเลือก” สิ่งที่สื่อคิดว่าสำคัญที่สุดออกมาบอก
ขอวงเล็บไว้ด้วยว่า เอาเข้าจริง ฉันคิดว่า การตีเนียน ใส่เสื้อคลุมของการมีอำนาจในการบอกเล่าเรื่องราวของโลกใบนี้ที่เรียกว่า “มืออาชีพ” เล่าออกมาในรูปแบบที่เรียกว่าเป็นข่าว แล้วอ้างว่า “ไม่มีความคิดเห็นของตัวเองปะปน” น่ากลัวกว่า การเปิดเผยมุมมองมาชัดๆ เสียอีก
อย่างกรณีนี้ ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ชุมนุมครั้งใหญ่ๆ ในอดีต สื่อเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความคิดของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำหนักเป็นพิเศษหรือไม่ให้น้ำหนัก ในการรายงานความเคลื่อนไหว
การรายงานจำนวนผู้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ที่มีการใช้คำหรือภาษาที่บอกเป็นนัยว่า ใครกระทำ-ใครถูกกระทำ ใครรับ-ใครรุก
ตลอดจนมุมภาพที่นำมาใช้ ถ้าอยากให้ดูคนเยอะๆ ก็ใช้ภาพมุมกว้าง มุมสูง ถ้าอยากให้ดูคนน้อย ๆ ก็ใช้ภาพมุมแคบ
ยังไม่นับพวกรายการเล่าข่าว หรือบทความ ที่เป็นตัวอธิบายขยายความข่าว (รูปแบบ “ข่าว” มีกฎกติกาบางอย่างกำกับอยู่ เช่น ไม่ใส่ความเห็นของตัวเองลงไปอย่างโจ่งแจ้ง เกินความหมาย แต่ยกเว้นสื่อบางเจ้านะคะ ที่เล่าข่าว หรือพาดหัวข่าวแล้วใส่ความเห็นไปอย่างโจ่งแจ้ง ประณามหยามเหยียดผู้ชุมนุมบางกลุ่มกันจะๆ)
สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นภาพจำว่า หากมีการชุมนุมของคนกลุ่มนี้ ทำได้ เป็นความถูกต้อง ทำเพื่อชาติ
แต่ถ้าเป็นการชุมนุมของคนอีกกลุ่ม จะต้องมีการปะทะกันและจะมีการสูญเสียเกิดขึ้น เป็นการทำลายชาติ คนเหล่านี้โง่ โดนหลอก ไม่มีการศึกษา เป็นพวกไม่หวังดี หรือมีผู้ไม่หวังดีอยู่เบื้องหลัง และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ภาพจำทางการเมืองของฉันในวัยเยาว์ที่ยังไม่รู้เท่าทันก็เป็นเช่นนี้
เสียงโห่ร้องของผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้คนล้มตาย นักข่าวที่ต้องหลบกระสุน ครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่เขารัก นักเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าเป็นคนก่อความวุ่นวาย - นี่คือความหมายที่ปรากฏออกมาบนหน้าจอสื่อหลักเมื่อ 10 ปีก่อน ของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53
จากเด็กม.1 ที่มองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่ยากจะทำความเข้าใจ เพราะความหมายการเมืองของฉันในตอนนั้น หมายถึงการบริหารประเทศ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ
ยิ่งมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำความคิดเหล่านั้น และเกิดความเข้าใจว่า การชุมนุม ถึงจะเป็นกิจกรรมทางการเมือง แต่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และอาจจะมีการแสดงออกด้วยวิธีการอื่น ๆ โดยที่ไม่มีใครต้องสูญเสีย หรือส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ
ความคิดของฉันในตอนนั้น เป็นสิ่งที่ฉันเชื่อและเป็นสิ่งที่สังคมไทยคิดเหมือนกัน ก่อนที่จะพบว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้นเอง
10 ปี ความทรงจำ (ไม่) หายไป
แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 10 ปี ตัวฉันจากเด็กม.1 โตขึ้นสู่นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย แต่สำหรับบางคน คือการอยู่กับความสูญเสียที่ไม่อาจหายไปจากความทรงจำ
โดยเฉพาะในวาระครบ 10 ปีเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ว่าสื่อออนไลน์ เช่น The Matter บีบีซีไทย The101World และ Way Magazine นำเสนอเรื่องราวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
ตัวอย่าง บทความของบีบีซีไทย เรื่อง ‘10 ปีการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 3 เรื่อง 3 บาดแผลจาก 3 ผู้ประสบเหตุ’ https://www.bbc.com/thai/extra/mhbw46if20/red_shirt_protest_anniversary_thai
บทความนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของ 3 บทบาท ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ต้องสูญเสียดวงตา ทหารที่ต้องเป็นอัมพฤกษ์ก่อนเลื่อนขั้น และช่างภาพข่าวที่ต้องสูญเสียขา อีกทั้งต้องผ่าตัดจำนวน 8 ครั้ง ก่อนจะกลับมาเดินอีกครั้ง
แม้จะเป็นเพียงบทความสั้นๆ ที่อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต แต่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทย แม้จะต่อสู้อยู่ในบทบาทใดก็ตาม สุดท้ายก็ไม่คุ้มค่า เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือความสูญเสีย
และความปรองดองที่ไม่จริงคือ การปราศจากการร่วมมือในการทำความจริงให้ปรากฏเพื่อความยุติธรรม
“คุณจะให้เหตุการณ์ปี 53 มันเหมือนที่ผ่าน ๆ มาใช่ไหม พอจบแล้วพวกคุณก็สบาย คนตายก็ตายฟรี” เสียงของผู้สูญเสียท้วงดังก้อง ในสังคมที่ถูกทำให้เชื่อว่า ความเงียบเป็นสิ่งดี
หรืออย่างเรื่องราวของแม่ พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ที่ลืมไม่ลงในครั้งนี้ จาก way magazine
เธอรู้สึกว่าเธอโดนรัฐหลอก มีการแถลงบอกลูกสาวเธอมีรูกระสุน 2 จุด
แต่ความจริงมีทั้งหมด 11 จุด
ลูกสาวของเธอเป็นพยาบาลอาสาที่เข้าไปช่วยทำหน้าที่ช่วยเหลือคนอื่นในวัดปทุมวนาราม แต่กลับเป็นผู้เสียชีวิตเสียเอง และไม่สามารถนำตัวผู้ทำความผิดมาลงโทษได้
10 ปีของคนส่วนใหญ่ คือการใช้ชีวิตในแต่ละวัน แต่สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 ศพ ทุกวันของเขาอาจเป็นการนึกย้อนความทรงจำเกี่ยวกับคนที่พวกเขารัก และความพยายามในการเรียกร้องหาความจริงเพื่อพิสูจน์ว่า ‘ลูกหลานของพวกเขาไม่ได้ตายฟรีและคนทำผิดต้องได้รับการลงโทษ’ แม้ขั้นตอนจะซับซ้อนหรือยากลำบากก็ตาม
จากความทรงจำ สู่ การหาความจริง
บาดแผล ความเจ็บปวด และความทุกข์จากเหตุการณ์ทางการเมืองจากที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสู่ #ตามหาความจริง บอกเล่าความรู้สึกเหล่านั้น
แม้จะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ แต่เป็นหนึ่งกระบอกเสียงของประชาชนคนไทยที่ตั้งคำถามว่า ความจริงของเหตุการณ์นี้คืออะไร
ในวันครบรอบ 10 ปี เมษา-พฤษภา 53 บนตึกอาคาร หรือ สกายวอล์คของกรุงเทพมหานคร มีการฉายกราฟิกตัวอักษร #ตามหาความจริง ที่จัดโดยคณะก้าวหน้า แสดงถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นที่จดจำและไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของไทย วันที่ประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย (หลายฝ่ายด้วยซ้ำ? แต่ฝ่ายประชาชนคนธรรมดาไม่ถูกใส่ใจ) ปิดสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร มีการชุมนุมในต่างจังหวัด และ จบลงพร้อมคำถามจากเหตุการณ์นี้ ที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบ
ทำไมประชาชนต้องตาย?
กระสุนมาจากฝั่งรัฐ แล้วทำไมถึงไม่มีความรับผิดชอบ?
ชายชุดดำคือใคร?
ประเทศไทยมีเสรีภาพจริงไหม?
ใครคือจุดเริ่มต้นของความสูญเสีย?
คำถามเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการคำตอบ แต่อาจหลงลืมไปตามกาลเวลา เนื่องจากไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลในเวลานั้น ล่วงเลยมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน
ที่สำคัญคือ ผู้กระทำความผิดก็ยังไม่ได้รับการลงโทษ
มันเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เป็นการโทษตัวบุคคล แต่สิ่งที่พวกเขาได้ทำ ส่งผลต่อความมั่นคง ความสูญเสีย และความเชื่อมั่นของประชาชนและประเทศไทย
สุดท้าย สำหรับความทรงจำของเด็กยุคใหม่ต่อการเมืองไทยในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาปี 53 อาจแตกต่างกันตามพื้นที่และการรับข่าวสาร
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ คือภาพของคนมือเปล่าถูกปราบปรามในวันนั้น ซึ่งวันนี้ เด็กยุคนั้นผ่านประสบการณ์ การเรียนรู้ รวมถึงได้รับข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้พวกเขามองเห็นภาพกว้างของสังคมและประเทศที่พวกเขาเองเป็นเจ้าของ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งมองว่า ความจริงคือสิ่งไม่ตาย และคนทำผิดควรได้รับการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม
