รศ. ดร. นฤมล ทับจุมพล
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ)
ต่อเลยนะคะ ก็คือสุภลักษณ์ (กาญจนขุนดี) พูด M-M-C [monarchy-military-civil society] เราก็จะต่อไปว่า บางอันเห็นด้วยกับสุภลักษณ์ บางอันไม่เห็นด้วยนะ แล้วก็ขอเริ่มจากประเด็นที่อาจารย์ชาญวิทย์เคยทำหนังสืออีกเล่มหนึ่งเรื่อง “พม่า: ขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันน่าระทึกใจ” ในแง่นี้สำหรับส่วนตัวของเรานี่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าระทึกใจสำหรับกลุ่มคน Gen Z มาก ทีนี้ถ้ากลับไปในกรณีของพม่านี่ชัดเจนว่า M แรก (monarchy) ไม่มี และสำหรับเรา M แรกมีในไทย ก็เหมือนต้มกบ[1] น่ะค่ะ อืดไปเรื่อยๆ ส่วนของพม่าชัดเจน ส่วนของเราก็ชัดเจนว่าเราจะทะเลาะกับ…
ส่วน M ที่สอง military คนพม่าชัดเจนว่าเขาคิดยังไงกับกองทัพ เขาจัดการยังไง และอย่างเช่นถ้าเราเห็นตอนนี้นี่ ในการเมืองพม่าที่สุภลักษณ์พูดไว้ เราก็จะเห็นสิ่งที่เรียกว่า PDF – People’s Defence Force ก็คือกองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน ซึ่งเรียกว่ามันเป็นสิ่งใหม่ ถ้าจะเทียบกับหลังปี 1988 นี่ ปี 1988 หลังจากที่มีรัฐประหาร มี NCGUB (National Coalition Government of the Union of Burma) ซึ่งเป็นคล้ายๆ รัฐบาลพลัดถิ่น แต่รัฐบาลพลัดถิ่นที่ว่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทางด้านกำลังพล แต่คราวนี้ NUG (National Unity Government) หรือที่เราเรียกว่ารัฐบาลสมานฉันท์ของพม่าที่เขาตั้งขึ้นโดยเชิญกลุ่มชาติพันธุ์ และเชิญกลุ่มกองกำลังบางส่วนเข้ามาร่วม NUG นี้มีการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า People’s Defence Force คล้ายๆ กับอาสาสมัครป้องกันตนเอง แต่เราถามเขาว่าคิดยังไง คำอธิบายของเขาคือมันเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เป็นไปเอง เพราะว่าทหารพม่านี่บุกเข้ามาจับ มีการซ้อม มีการเสียชีวิต ดังนั้น คนจำนวนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาป้องกันตัวเองตามหมู่บ้าน ตามตลาดอะไรแบบนี้ ดังนั้น เพื่อให้การจัดตั้งเป็นไปได้ เขาก็ตั้งอันนี้ขึ้นมา เรียกว่า PDF นะคะ
PDF ที่ว่านี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือสัมพันธ์กับ NUG อีกส่วนหนึ่งมันเป็น community PDF ซึ่งใครที่สนใจ civil society คงมึนนิดหน่อยว่าเราเจอ civil society ที่แปรสภาพเป็นกองกำลังเล็กๆ แต่กองกำลังพวกนี้ก็ไม่ใช่กองกำลังในความหมายมีกำลังทางทหารนะคะ
PHOTO: (EPA- EFE)
สิ่งที่เราสนใจ ที่คิดว่ามันน่าสนใจก็คือ ถ้าหลังปี 1988 เขาจะเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ไปเลย จะเข้ากับกลุ่มกะเหรี่ยง กะฉิ่น คะยาห์ ฉาน อะไรพวกนี้ เป็นกองกำลังไปเลย แต่คราวนี้ไม่ใช่ คราวนี้พวกกะเหรี่ยง ฉาน คะยาห์เป็นฝ่ายเทรน เป็นคนเทรน ยกเว้นกะฉิ่น กะฉิ่นนี่ไม่ได้ยุ่งกับ PDF บอกว่าถ้าอยากสู้กับกองทัพพม่า มาร่วมกับฉันเลย อาจเป็นเพราะว่าเขามีอำนาจทางการทหารที่ชัดเจน ขณะที่กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง หรือฉานนี่หยุดยิงไป ดังนั้นสภาพของเขา ก็คล้ายๆ กับมาเทรน
ดังนั้นในมุมของเรา อันนี้คือสิ่งที่เปลี่ยน แล้วคนที่เข้าไปก็เป็นหนุ่มสาว Gen Z นะคะ ถ้าใครเปิดเฟซบุ๊ก ก็จะเห็นมีการสาบานตน มีการทำโน่นทำนี่ เขาก็ไม่ได้ใช้การทหารแบบ employ เต็มรูปแบบ แต่สำหรับเรา เราคิดว่าอันนี้มันน่าสนใจสองอย่าง แล้วก็เป็นความเสี่ยงด้วย ทั้งเป็นโอกาสและเป็นอันตราย โอกาสก็คือคนที่สนใจเรื่องกองทัพแบบเรื่องสหพันธรัฐ ที่กองทัพพม่าไม่เคยยอมนี่ อาจจะมีโอกาสได้เห็น เพราะมันมีการเปลี่ยน มันอนุญาต ในแต่ละพื้นที่ มันให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่นั้นเป็น commander แต่ความเสี่ยงของมันก็คือ มันอาจกลายเป็นรัฐที่ไร้เอกภาพ เป็น failed state หรือเป็น lawless society ไปก็ได้ อันนี้คงต้องดูว่ามันจะจัดการยังไง
เหตุการณ์ที่เราเห็นว่ามีการยึดอาวุธที่แม่สาย ถ้าใครจำได้ อันนั้นล่ะค่ะ คืออาวุธที่จะเอาไปของพวก PDF นะคะ คุณจะเห็นว่าอาวุธมีนิดหน่อย ที่เหลือเป็นยา เป็นอาหาร เป็นข้าวสาร เป็นมาม่า ดังนั้นมันก็ชัดเจนว่า มันมีสิ่งนี้ที่เกิดขึ้น
คนหนุ่มสาวพม่าจำนวนมากไปฝึกอาวุธในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เพื่อร่วมเป็น People’s Defence Force กองกำลังป้องกันตนเองของประชาชน
ทีนี้ถ้าจะโยงกลับไปกับ 80 ปีของอาจารย์ชาญวิทย์ก็คือว่า ตอนนั้นเรามองขบวนการนักศึกษาในฐานะที่มันเป็นขบวนการ มันอาจจะมีการจัดตั้งจากตรงกลาง มีเลขาธิการ มี ABSDF (All Burma Students' Democratic Front – แนวร่วมนักศึกษาทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย) ในภาวะสงครามอะไรอย่างนี้ เทียบกับขบวนการนักศึกษาของไทยหลัง 6 ตุลา (พ.ศ. 2519/ 1976) แต่คราวนี้สิ่งที่เปลี่ยนนี่ มันไม่ใช่ ABSDF แต่มันเป็น People’s Defence Force ซึ่งมีลักษณะเหมือนองค์กรชุมชน พูดง่ายๆ เป็น civil society ที่เดิมเป็นองค์กรชุมชน แล้วทำหน้าที่ช่วยเหลือ แล้วก็แปรสภาพมาป้องกันตนเอง ดังนั้นมันจึงมีลักษณะค่อนข้างกระจาย แล้วก็อยู่บนฐานของการกระจายอำนาจระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าถ้าเผื่อมันสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีเนี่ย เพราะว่าอันนี้มันเพิ่งเป็นระยะต้น แล้วสามารถทำให้ความขัดแย้งยุติลงได้เร็ว หยุดยิงได้เร็วนี่ อันนี้ก็จะเป็นอำนาจต่อรองที่จะทำให้สามารถเถียงกันในเรื่องของสันติภาพในพม่าได้ว่า ไหนคุณบอกว่าคุณไม่สามารถจัดตั้งรูปแบบกองทัพแบบสหพันธรัฐ เขาก็จะบอกว่ามันสามารถทำได้ แต่ถ้าจัดการไม่ดี กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกบดทำลายโดยกองทัพพม่า ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามีการทิ้งระเบิด มีการใช้ ฮ. มีใช้กองทัพอากาศยานในการจัดการ
แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนถ้ากลับไปประเด็นสุภลักษณ์ สำหรับ M ที่สอง ก็คือ military ของพม่าตอนนี้สูญเสียความชอบธรรม ไม่เคยมีครั้งใดที่แม้แต่ USDP (Union Solidarity and Development Party – พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา) ออกแถลงการณ์ว่าเราไม่เชื่อมั่นคุณอีกแล้ว เราจำเป็นต้องจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเองของเรา คือคิดดู USDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุน อยู่กับกองทัพ ประกาศออกมาแล้วว่าฉันไม่ไว้ใจคุณแล้ว ฉันคิดว่าคุณไม่สามารถทำอะไรได้ อันนี้คือสิ่งที่น่าสนใจ และหนุ่มสาว Gen Z ในขณะที่เขาเนี่ยอาจจะมีลักษณะที่เป็นแบบ anarchy แต่เราก็จะเห็นว่าเขามีลักษณะการใช้สื่ออย่างมากมาย และในแง่นี้ อันนี้เราคิดว่าน่าสนใจว่าจะเป็นยังไงต่อไป
ส่วน C ที่สุภลักษณ์พูดถึง civil society นี่ เราก็จะต้องมี s เติมเข้ามา ก็คือ students ในแง่นี้ เราคิดว่าภายใต้ C อันนี้ CSO – civil society students แล้วก็ organisation นี่มันกำลังเกิดขึ้น อันนี้ก็อาจเป็นประวัติศาสตร์อันน่าระทึกใจในอนาคตนะคะว่า มันจะเกิดอะไรต่อไปในอนาคต
[1] วิกฤตต้มกบ เดิมใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ซบเซาลงอย่างต่อเนื่องไม่ทันทีแบบฟองสบู่แตก ส่วนต้มกบในทางการเมืองจะเป็นลักษณะที่ค่อย ๆ ซบเซา แย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำตั้งแต่น้ำยังไม่เดือด เมื่ออุณหภูมิน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กบจึงไม่รู้ตัวและก็ตายในที่สุด
