สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Nation
สวัสดีครับท่านผู้ชม และขอคารวะท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เนื่องในโอกาสครบรอบอายุ ๘๐ ปี ผมจะทำอย่างนี้นะครับ เนื่องจากผมไม่ได้เรียนหนังสือกับท่านอาจารย์ชาญวิทย์โดยตรง ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมเป็นพวกไม่มีศาสตร์อะไรทั้งสิ้น แต่ว่าก็ติดตามอ่านงานของอาจารย์ และได้มีโอกาสทำงานทำการเกี่ยวกับอาณาบริเวณศึกษากับอาจารย์อยู่หลายชิ้น เพราะฉะนั้นก็จะพยายามจะทำวันนี้ว่า สิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์ทำบอกอะไรกับเรา ให้อะไรกับเราในการศึกษาเรื่องพม่านะครับ
อาจารย์ชาญวิทย์ ถ้าเราติดตามงานของท่าน นี่น่าจะเป็นงานชิ้นแรกๆ (หนังสือ “พม่า : อดีตและปัจจุบัน”) ที่อาจารย์ทำเกี่ยวกับพม่า เริ่มจากบทความขนาดยาวแล้วมันก็พัฒนามาเป็นหนังสือเล่ม (หนังสือ “พม่า ประวัติศาสตร์และการเมือง”) ความจริงพิมพ์ห้าครั้งแล้วนะครับ ผมหยิบฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่มา เพราะว่า ฉบับพิมพ์ครั้งที่ห้า อาจารย์เติมลำดับเวลา (chronology) หน่อยหนึ่งเพื่อเล่าลำดับเหตุการณ์ว่าอะไรเป็นอะไร แต่สิ่งที่ผมหยิบมา ดึงมาเพื่อการเสวนาวันนี้ก็คือวิธีการมองการเมืองของพม่า เนื่องจากอาจารย์เป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ผมก็เลยทำวิธีอย่างอื่น มองหาอย่างอื่นในงานของอาจารย์ชาญวิทย์ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ผมได้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ภาษาโรมันมา ๓ ตัวนะครับ M ๒ ตัว และ C อีก ๑ ตัว
อาจารย์ชาญวิทย์ใช้อักขระทั้ง ๓ ตัวนี้ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองในพม่า โดยจับเอา คือช่วงนั้นอาจารย์เขียนตั้งแต่ประวัติศาสตร์โบราณนะครับ แต่ว่าสิ่งที่อยู่ในความสนใจของเราร่วมสมัยนี่ ก็คือเหตุการณ์ในปี ๑๙๘๘ (พ.ศ. ๒๕๓๑) มีการลุกฮือของนักศึกษาขึ้นมานะครับ การลุกฮือครั้งนั้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับการเมืองไทย
สิ่งที่นักศึกษาพม่าทำเหมือนกับสิ่งที่นักศึกษาไทยทำในปี ๒๕๑๖ (ค.ศ.๑๙๗๓) นักศึกษาพม่าใช้เวลาแค่สามเดือนจากเหตุการณ์ลุกฮือไปจนถึงถูกปราบปราม นักศึกษาไทยใช้เวลาสามปี จาก ๒๕๑๖/ ๑๙๗๓ ถึง ๒๕๑๙/ ๑๙๗๙ อันนี้คือการเปรียบเทียบ แต่นั่นก็เป็นแค่เหตุการณ์นะครับ สิ่งที่อาจารย์ให้ก็คือวิธีมองว่าพัฒนาการของเรื่องประชาธิปไตยในพม่า ประชาธิปไตยในไทย มีปัจจัยสามอักขระที่ผมจะพูดต่อไปนี้นะครับ
ตัวแรก monarchy คือ สถาบันกษัตริย์ ในพม่าไม่มี monarchy แต่ว่าอาจารย์ชาญวิทย์บอกว่า monarchy ถ้าเปรียบเทียบในประเทศไทยและในประเทศพม่า monarchy เป็นตัวช่วยหน่วงกระแส ช่วยยับยั้งหายนะ ไม่ให้เกิดขึ้น อาจารย์เปรียบเทียบว่านักศึกษาพม่านี่เผชิญหน้ากับกองทัพโดยตรง และไม่มีตัวช่วยเลยในการต่อสู้ในปี ๑๙๘๘/ ๒๕๓๑ ในขณะที่ปี ๒๕๑๖/ ๑๙๗๓ นักศึกษาไทยมีตัวช่วย นะครับ ผมเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่ แต่โอเค อยากจะให้ท่านอื่นลองเสวนาบ้าง monarchy มีบทบาทในการเมืองไทยมากกว่านี้แน่ ในพม่าไม่มี monarchy จึงทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยอาจจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร ซึ่งผมเห็นตรงกันข้ามแต่อยากจะทิ้งประเด็นนี้เอาไว้นะแค่นี้ครับ
ตัว M ตัวที่สอง คือ military (ทหาร) อาจารย์บอกว่านักศึกษาพม่าแพ้เร็ว และปัจจุบันนี้ก็อาจจะไปในทิศทางนั้นนะครับ เดี๋ยวอาจารย์คงจะช่วยแก้ข้อนี้ถ้าหากผมผิด อาจารย์บอกว่าทหารพม่ามีเอกภาพมาก ก็คือสามารถครอบงำสังคม การเมืองพม่า ความจริงแล้ว control ควบคุมการเมืองพม่าอยู่ตั้งแต่สมัย ๑๙๖๒/ ๒๕๐๕ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ความเป็นเอกภาพของกองทัพ ตั๊ดมะด่อ ทำให้กระบวนการต่อสู้ต่างๆ ไม่สามารถบ่อนเซาะหรือเข้าไปแทรกได้ ความเป็นเอกภาพทำให้ทหารพม่าปราบปรามประชาชนได้โดยไม่ลังเล เพราะฉะนั้นมีแนวโน้มที่การต่อสู้ในพม่าจะแพ้กองทัพเนื่องจากความเป็นเอกภาพของกองทัพ ผมมีประเด็นนี้อาจจะช่วยนิดหนึ่ง แต่ผมอาจจะเห็นแย้งกับท่านอาจารย์ในแง่ที่ว่ากองทัพพม่ามีเอกภาพก็จริง ในลักษณะโครงสร้าง แต่ในปี ๑๙๘๘, ๑๙๘๙ ความไม่เป็นเอกภาพในกองทัพระดับหนึ่งที่ช่วยให้ซอ หม่อง, หม่อง ลวิน ลงจากอำนาจ และกลุ่มตาน ฉ่วย-ขิ่น ยุนท์ ขึ้นมาแทน นั่นคือความไม่เป็นเอกภาพที่สามารถแทรกให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทหารพม่าก็ยังมีอำนาจอยู่ดี เพราะว่ามันก็เป็นเอกภาพภายในความไม่เป็นเอกภาพอยู่ในกองทัพ
ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา (ภาพ : Mandel Ngan, AFP)
ตัวที่สาม คือตัว C คือ civil society หรือภาคประชาสังคม อาจารย์เบลมว่านักศึกษาพม่าแพ้เร็วเพราะไม่มีตัวช่วย คือ civil society ไม่มีตัวโอบรับการต่อสู้ หรือ ส่งต่อการต่อสู้ไป อาจจะแตกต่างจากประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีภาคประชาสังคม ภาคประชาชนค่อนข้างจะเข้มแข็ง และใหญ่โต เพราะฉะนั้นการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยค่อนข้างจะถาวร แน่นอนเรามีการยึดอำนาจหลายครั้งกว่าพม่า แต่ว่าทุกครั้งนี่ ประชาชนไทยจะลุกฮือขึ้น และเปลี่ยนแปลงมันได้ในเวลาต่อมา ผมเห็นด้วยในกรณีที่พม่าไม่มี civil society คือมันไม่เคยได้รับอนุญาตให้มี ถ้าเราศึกษาเรื่อง civil society ในพม่า ผมคิดว่างานจำนวนมากที่อาจารย์ชาญวิทย์ใช้และเป็นส่วนต่อขยายของการศึกษาเรื่องนี้นี่ พูดถึงความพยายามในการก่อร่างสร้างตัวของ civil society ในพม่าอยู่เหมือนกัน จากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จาก SLORC (สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ) และ SPDC (สภาสันติภาพและการพัฒนา) ครองอำนาจ เขาก็อนุญาตให้มีการสะสมทุนจำนวนหนึ่ง มันเกิดคนที่ร่ำรวยพอประมาณ ติดต่อกับต่างประเทศ เราอาจจะใช้เรื่องนี้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ว่าการเติบโตของ civil societyในช่วงจากปีเลือกตั้งปี ๒๐๑๐/ ๒๕๕๓ นะครับ คือปี ๒๐๑๐ นี่ต่อให้อ่องซาน ซูจี ไม่ลงเลือกตั้ง เอ็นแอลดีบอยคอต แต่เราก็ได้คนอย่างเต็ง เส่ง ซึ่งก็เป็นทหารนั่นล่ะครับ แต่คนเชื่อว่าในวงการนี่ เต็ง เส่งเป็นคนที่หัวปฏิรูปที่สุดเลย และสามารถทำให้การสะสมทุนมันเติบโตระดับหนึ่ง อนุญาตให้มีเสรีภาพในการสะสมทุน ประชาชนทำมาหากินได้ และที่สำคัญเชื่อมโยงกับต่างประเทศ มันทำให้ สิ่งเหล่านั้นเนี่ยปะทุขึ้นในปัจจุบัน ประชาชนไม่ยอม เพราะว่าอะไร เขาเคยมีโอกาสในการทำมาหากิน เขาเคยมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่เสรีพอสมควร เมื่อตั๊ดมะด่อจะพาการเมืองกลับไปสู่ยุค ๑๙๘๘ อีกครั้งหนึ่ง คนจำนวนมากไม่ยอมแล้วล่ะ ผมอยากจะทิ้งตรงนี้ไว้เป็น ๒-๓ ประเด็นโดยการเปรียบเทียบ จบรอบนี้ก่อนนะครับ
อาจารย์ชาญวิทย์เคยถามผมและหลายคนที่เคยร่วมอภิปรายในเวทีต่างๆ นะครับ ผมจำได้ที่ถามชัดเจนที่สุดนี่ หลังการเลือกตั้งในปี ๒๐๑๕/ ๒๕๕๘ ผมกับเพื่อนนักข่าวหลายคนไปทำข่าว แล้วก็กลับมา แล้วเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็ถามอย่างนี้ว่า “คุณคิดว่าไทยกับพม่านี่ ประเทศไหนจะถึงประชาธิปไตยก่อนกัน?” ตอนนั้นผมตอบว่า อ๋อ พม่าแน่นอน เพราะว่าอ่องซาน ซูจี ชนะ นะครับในปีนั้น แล้วหลังจากนั้นอ่องซาน ซูจีก็บริหารประเทศเรื่อยมา เพียงแต่ว่า และเนื่องจากปีนั้น ๒๐๑๕ คุณประยุทธ์เพิ่งยึดอำนาจใหม่ๆ นะฮะ มันเป็นคำถามที่อาจจะ ยังไงก็ต้องตอบแบบนั้น มาถึงวันนี้นี่ บางทีเราอาจต้องคิดและทบทวนใหม่ว่า ๒ M กับ ๑ C จะ interplay (มีปฏิสัมพันธ์กัน) อย่างไร และขับเคลื่อนการเมืองในพม่าอย่างไร ผมสรุปไว้เป็นการรวบยอดเพื่อตอบคำถามในช่วงนี้ของอาจารย์ไปก่อนว่า ผมยังยืนยันว่า วันนั้นผมตอบว่าพม่า วันนี้ผมก็จะตอบว่าพม่าจะพัฒนาเร็วกว่าไทยอีกแน่นอน เพราะ M แรกที่ผมเห็น ในพม่าไม่มี ในประเทศไทยมี และ M แรก กับ M สอง ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่เรียกกันว่าเป็น nexus (อนุกรม) ที่ควบคุมการเมืองของไทยอยู่ตลอดเวลา นะครับ มากกว่าจะช่วยลดความรุนแรง หรือช่วยเป็นตัว catalyse (เร่งปฏิกิริยา) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่ามันเป็นการตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น ในพม่าตั๊ดมะด่อควบคุมการเมืองไว้เบ็ดเสร็จร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็เผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจาก civil society ซึ่งกำลังเติบโตมากขึ้น
ตั๊ดมะด่อมีความชอบธรรมอยู่แค่สองอย่างนะครับ ที่จะบริหารประเทศต่อไป อย่างแรกคือ อ้างความเป็นเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่น เพื่อต่อสู้ อันที่สอง อ้างสิ่งที่เขาเรียกกันว่า performance legitimacy ผลงานในการพัฒนา ปรากฏว่าปัจจุบันความเป็นปึกแผ่นของพม่าอาจจะไม่เกิดแล้วนะครับ เนื่องจากว่าประชาชนต่อต้านมาก เดี๋ยวพี่จุ๊ (อาจารย์นฤมล ทับจุมพล) อาจจะเล่าให้ฟังว่า ประชาชนตั้งรัฐบาลขึ้นมาแข่ง รวมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ถืออาวุธต่อสู้แล้ว ตั๊ดมะด่อสู้กับประชาชนของตัวเอง ก็ไม่รู้จะอ้างความมั่นคงนั้นให้ใคร legitimacy อันที่สอง ปัจจุบันตั๊ดมะด่อไม่เหลือแล้วนะครับ เศรษฐกิจพม่าอยู่ในสภาวะที่ใกล้จะล้มละลายแล้ว นะครับ เนื่องจากการประท้วงของประชาชนขบวนการอาระยะขัดขืน (civil disobedience) ทั้งหลายแหล่เนี่ย ได้ทำให้เศรษฐกิจพม่าปัจจุบันนี้เป็นอัมพาตแล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ย ก็จะทำให้พม่าสามารถเปลี่ยนแปลง การเมืองพม่าจะเคลื่อนเร็วกว่าการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน คำตอบของผมจึงเป็นพม่าครับ
