สวัสดีครับ สวัสดีทุกท่านที่อยู่ทางบ้าน ไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไร แต่ก็คงไม่น้อย สวัสดีทุกท่านที่อยู่ที่นี่ มีทั้งผู้อภิปราย และผู้ที่ติดตามเรามาจนกระทั่งถึงกลางดง [ปากช่อง โคราช]
เมื่อสักครู่นี้ท่านคณบดีของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ [อัครพงษ์ ค่ำคูณ] ได้ฉายให้เราดูพระขาว เห็นมั้ยครับ พระขาวซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของเคหาสน์หลังนี้นะครับ นี่เป็นกระท่อมน้อยของคุณป้าสุภัตรา ภูมิประภาส ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มาจัดงานกันที่นี่
ผมต้องบอกว่าขอบพระคุณมากนะครับ
ขอเข้าเรื่องนะครับ ที่อภิปรายกันมานี้... หลายท่านทั้งคุณสุภลักษณ์ (กาญจนขุนดี) คุณสุภัตรา (ภูมิประภาส) ก็ไปขุดหนังสือเก่าที่ผมเขียน เอามาพูดคุยกันนะครับ มันทำให้ผมคิดถึงอดีตอันแสนไกลของตัวเองนะ
ปีนี้ก็อายุ ๘๐ แล้วนะครับ แล้วก็มีคนมาฟื้นความหลังว่าตัวเองไปพม่าครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๑ ด้วยความประทับใจมาก ๆ นะครับ แล้วก็มีหนังสือบางเล่มที่คุณสุภลักษณ์เอามาด้วย เล่มแรก เล่มนี้นะครับ [หนังสือ “พม่า: อดีตและปัจจุบัน”] ผมเขียนหนึ่งบท อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เพื่อนเก่าของผมแต่ก่อนจากโรงเรียนเก่า ก็เขียนด้วยหนึ่งบท พร้อมด้วยอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตของอาจารย์ฉลาดชาย คืออาจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ ทั้งคู่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เราก็เขียนมาด้วยกัน เขียนถูกเขียนผิดอะไรก็ตามนะ นั่งฟังวันนี้แล้ว ผมก็อาจจะบอกว่า ที่โปสเตอร์ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พยมยงค์จั่วหัวงานวันนี้ใช้คำว่า same same but different นะครับ
อันนี้เป็นคำที่ผมชอบใช้เพราะชอบเสื้อ เสื้อยืดน่ะ ที่มันเขียน same same but different ผมก็เลยเอามาใช้ในกรณีศึกษาไทยกับพม่า
ผมคิดว่าพม่ากับไทยก็เหมือนๆ กันล่ะ แต่มองเข้าไปแล้วจริง ๆ ก็ต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็เหมือนกัน หลายคนที่ฟังผมอยู่ขณะนี้ หรือว่าหลายคนที่ตามดูในเฟซบุ๊ก ในเพจของผมนี่ ก็คงจะทราบดีว่าผมได้โพสต์รูปของแมวไทยกับแมวพม่า
คือเอาเข้าจริงผมไม่เคยรู้ว่ามันมีเบอร์มีสแคท จนกระทั่งไปเรียนหนังสือเมืองนอก แล้วท่านอาจารย์ ปรมาจารย์ที่ผมเคารพมาก ๆ คือ Professor D. G. E. Hall บอกว่า เบอร์มีสแคท กับไซมีสแคทนี่มันเหมือน ๆ กันนะ หน้าตามันเหมือนๆ กัน ผมไม่เคยรู้ว่ามันมีเบอร์มีสแคท ไม่เคยรู้ว่ามันมีแมวพม่า แต่เมื่อเอารูปมาดูแล้ว เออ มันเหมือนกันจริง ๆ มันเหมือนแมวโคราช มันเหมือนแมวสีสวาท
แล้วท่านก็พูดเปรยๆ ว่า ‘เอ แต่เขาว่าอารมณ์ของเบอร์มีสแคท กับอารมณ์ของไซมีสแคท มันต่างกันนะ’ แคทตัวไหนมันอารมณ์ดุดัน รุนแรงมากกว่ากัน เออ อันนี้ลองไปดูสิครับ เบอร์มีส หรือไซมีส
อาจารย์ลลิตา [หาญวงษ์] บอกว่าคนพม่านั้นดุดัน ดื้อรั้น ฉะนั้น ตกลงแมวไทยมันน่ารักมากกว่าหรือ ? ชักไม่ค่อยอยากจะเชื่อนะ ไม่ค่อยอยากเชื่อ อะไรที่เคยเชื่อ ๆ ก็ชักจะเปลี่ยนใจแล้ว
เอาเป็นว่า ผมคิดว่าอย่างนี้นะครับ ทำไมผมทำเรื่องพม่า เพราะผมคิดว่าการศึกษานี่ ถ้าดูเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดด ๆ โดยเฉพาะดูเรื่องความเป็นไทย โดยไม่เปรียบเทียบกับใครเลย บางทีมองไม่เห็น มันตัน
การที่เรามีสิ่งที่เรียกว่า comparative studies การที่เรามีสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาเปรียบเทียบ มันให้แสงสว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังมืด ตีบตันกับเรื่องอนาคตของประเทศไทยของเรา บางทีเรามองไปรอบ ๆ บ้านนะครับ
มองไปพม่า มันกำลังเกิดอย่างนั้นนะ มองไปที่ลาวสิ มองไปไกล ๆ สิ อินโดนีเซียล่ะ มาเลเซียล่ะ อะไรทำนองนี้นะครับ มองให้รอบ ๆ ในอาเซียนของเรา บางทีเราอาจยังไม่หมดหวังนะ
เชื่อมั้ยว่า นอกจากปรมาจารย์ D. G. E. Hall ที่ท่านมักจะคุยอะไรต่อมิอะไรกับผมหลายอย่าง เช่นบอกว่า ผมไม่ควรจะดื่มกาแฟ ผมไม่ควรจะสูบบุหรี่ อะไรอย่างนี้ ซึ่งตอนหลังผมก็เชื่อท่านนะครับ ทำให้ผมนั่งคิดถึงอาจารย์อีกคนที่มักจะใช้ comparative studies
คุณสุภัตราพูดถึงเรื่องเราสามคน [สุภัตรา ภูมิประภาส – สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี – ชาญวิทย์ เกษตรศิริ] เราถูกห้ามเข้าประเทศพม่า เมื่อผมบอกเรื่องนี้ให้กับอาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เจ้าของวาทกรรมเรื่องชุมชนจินตกรรม แกหัวเราะหึ ๆ บอกอีกไม่กีปีมันก็หลุด
อาจารย์เบนนั้น ถูกห้ามเข้าอินโดนีเซีย เพราะเขียนโจมตีรัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โตอยู่ประมาณ ๒๐ กว่าปีนะ ๒๔-๒๕ ปีเลย นานมาก ๆ แกไม่เคยหมดหวังเลย
แล้วในที่สุดนะครับ ซูฮาร์โตซึ่งมาเป็นเผด็จการทหารนับตั้งแต่การรัฐประหารปี ๑๙๖๕ ในอินโดนีเซีย มาจนกระทั่งถึงต้มยำกุ้ง ๑๙๙๗/ ๒๕๔๐ จำได้มั้ย ซูฮาร์โตพัง อาจารย์เบน แอนเดอร์สันได้กลับไปอินโดนีเซีย แกก็กลับไปได้ด้วยความภาคภูมิใจ
ผมเองก็กลับไปพม่าหลายหน แต่ตอนนี้จะได้กลับเมื่อไร ยังไม่รู้ แต่คิดว่าได้กลับแน่ ๆ นะครับ เพื่อนเราที่พม่าก็กำลังรอเราอยู่ว่าเราจะได้กลับกันไปเมื่อไร คือรวมความแล้ว ผมกำลังพูดว่า ในการศึกษาเปรียบเทียบ มันอาจจะมองเห็นอะไรหลายอย่าง same same but different
เพราะฉะนั้น ก็มาถึงประเด็นท้าย ๆ ที่ทุกท่านได้คุยกันมาแล้วนะครับ เรื่อง M กี่ตัวใช่มั้ยครับ M monarchy พม่าไม่มี ถึงแม้จะพยายามรื้อฟื้นกันขึ้นมา แต่มันก็ได้แต่ monarchy เล็ก ๆ อย่างเจ้าพม่าในรัฐฉาน ไทยใหญ่ อะไรทำนองนี้นะครับ
ส่วนเจ้าพม่าในระดับราชวงศ์พม่านั้น เป็นไปไม่ได้ แล้ว จบแล้วก็จบเลยนะครับ M ที่หนึ่งนั้น พม่าไม่มี M ที่สอง military พม่ามี อย่างที่พูดกันมา บางคนใช้คำว่า “ตั๊ดมาด่อ” หรือเราจะใช้ว่ากองทัพของไทยก็ได้นะครับ ซึ่งผมว่าประเด็น M ที่สองนี้ น่าสนใจมาก แล้วผมอยากเชื่อว่า M ที่สองของพม่านี่ ตั้งแต่มี military มาในพม่า ผมไม่คิดว่า military ของพม่าจะเสียศรัทธาและเกียรติภูมิมากเท่ากับปัจจุบัน
อาจารย์ [สุภลักษณ์] ก็ได้พูดไปแล้วเมื่อสักครู่นี้นะครับ แล้วผมอยากจะเชื่อว่าอันนี้ same same ผมคิดว่า same same นะ ถ้าผมเป็นทหารนี่ ผมจะต้องใจหายมาก ๆ เลย ใจหายมาก ๆ ว่าเราจะกู้เกียรติยศ ชื่อเสียง ศรัทธาอันนี้ (ของกองทัพ) จะกลับมาได้อย่างไร
M ที่สาม ที่อาจารย์พูด [นฤมล ทับจุมพล] ก็คือ money แน่นอน money มีเยอะเป็นบ้าเลย ตอนนี้ทั้ง money ในพม่า และ money ในไทย มันมากมายมหาศาล สรุปแล้วนี่ พม่าเปลี่ยนไปแล้ว money มันเยอะมาก ทหารพม่าในอดีต สมัยสังคมนิยมของนายพลเนวิน เป็นทหารที่มีอุดมการณ์นะครับ ผมเชื่อว่าเขามีอุดมการณ์อย่างแท้จริง อยู่อย่างยากจน เขาก็อยู่ แต่ทหารพม่าปัจจุบันอยู่ไม่ได้ รับรองอยู่ไม่ได้นะครับ แล้วยิ่งถูกบอยคอต แล้วนี่ money พม่ากำลังลำบากมาก ๆ money ไทยลำบากมั้ย ไม่น้อยนะครับ ไม่น้อย
ทีนี้เมื่อมีสาม M แล้ว ผมคิดว่ามีอีก M ที่เราไม่น่าจะมองข้ามได้เลยนะครับ mass คือประชาชน มวลชน ราษฎร จะใช้คำว่าอะไรก็ได้ ตอนนี้เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น Z ของเราบอกว่า ใช้คำว่าประชาชนก็ใช้ไปเถอะ แต่เขาขอใช้คำว่า “ราษฎร” ผมว่าอันนี้ดีมาก ๆ นะ นำคำว่าราษฎรเข้ามา จะได้ทำให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สำนึกว่าบทบาทของตัวเองนั้นสำคัญอย่างไร
คำว่า mass นี่น่าจะใช้คำว่าราษฎร ดังนั้น ผมคิดว่า พม่าเอย ไทยเอย เปลี่ยนไปแล้วครับ เปลี่ยนไปแล้ว จะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปอย่างไรก็ตาม คุณสุภัตราบอกว่า เอ๊ะ เมื่อยี่สิบกว่าปีเราก็พูดเรื่องนี้ ตอนนี้เราก็ยังต้องมาพูด เรากลับมาที่เดิมหรือเปล่า มันคล้าย ๆ เรากลับมาที่เดิมนะ แต่ผมว่าไม่ใช่อ่ะ มันไม่ใช่แล้ว
วันนี้เราออกมาจากกรุงเทพนะครับ มายังกระท่อมน้อยของคุณป้าแหม่มที่กลางดงนี่ เราใช้เวลาเท่าไร ผมออกมา ๙ โมง ผมมาถึงนี่ ๑๑.๓๐ นะครับ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เราทำอย่างงั้นไม่ได้ แต่ทีนี้ อะไรมันเปลี่ยนไปแล้วนะครับ
เพราะฉะนั้น อะไรต่อมิอะไร ก็คงไม่เหมือนเดิม ถามว่าเรามีความหวังมั้ย ผมว่าเรามีความหวังนะ ถ้านึกถึง ๑๙๘๘ ใช่มั้ย เลข ๘ สามตัว วันที่ ๘ เดือน ๘ ค.ศ.๑๙๘๘ นะครับ ๓๓ ปีมาแล้วใช่มั้ยครับ คนรุ่นนั้นที่ออกมาเมื่อตอน ๑๙๘๘ อายุประมาณยี่สิบ ตอนนี้เขาอายุประมาณ ๕๐ กว่า ๆ เขาน่าจะเป็นกำลังสำคัญของขบวนการปัจจุบัน เขากลับมา
มันเหมือนกับ ผมมีความรู้สึกนะ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ถึง ๖ ตุลา ๒๕๑๙ บางคนคงนั่งฟังเราอยู่ พวกนี้จำนวนหนึ่งก็กู่ไม่กลับแล้ว ใช่มั้ยฮะ เพื่อนสนิทของผมหลายคนก็กู่ไม่กลับแล้วนะ อยู่ที่ไหนกันบ้าง บางคนก็ไปอยู่ที่สูง ๆ บางคนก็ยังอยู่ที่เดิม แถว ๆ ท่าพระจันทร์ แถว ๆ รังสิต อะไรทำนองนั้นน่ะครับ จำนวนไม่น้อยเลยก็คงกู่ไม่กลับ แต่จำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน เขาก็กลับมานะฮะ เขากลับมาในช่วงปี-สองปีเนี่ย นะครับ คนรุ่นเบบี้ บลูมเมอร์ ใช่มั้ยครับ เขามาทำอะไร เขามาช่วยพวกเจเนอเรชั่น Z เขามาเป็นกำลังใจ เขามายืน เขามาเดิน เขามาทำอะไรหลายอย่าง เป็นกำลังใจให้คนแบบเพนกวิน เป็นกำลังใจให้คนแบบรุ้ง คนแบบอานนท์ คนแบบโตโต้ คนอีกจำนวนเยอะเลยน่ะครับ
ผมว่าสถานการณ์ทั้งพม่า และไทยเนี่ย ผมว่า same same แม้จะ different ก็ตาม same same มันอยู่ที่ตรงที่หลายท่านก็ตั้งประเด็นมา ใครจะไปถึงประตูชัยก่อนกัน พม่าหรือไทย ไทยหรือพม่า ผมเคยคิดนะ ผมเคยคิด พม่าน่าจะไปถึงก่อนน่า พม่าไม่ซับซ้อนเท่ากับของไทย M ของเขามีน้อยกว่า M ของไทย อะไรทำนองนี้นะครับ
คุยไปคุยมา พบกับนักการทูต พบกับคนที่อยู่ในระดับที่ใกล้ ๆ กับข้อมูล คุยกับคนที่ใกล้กับข้อมูลในเรื่องของพม่านะครับ ผมก็เป็นคนชอบคุยใช่มั้ย แล้วชอบตั้งคำถาม บางทีตัวเองตอบไม่ได้น่ะ บางทีตั้งไปอย่างนั้นเอง ปรมาจารย์ผมบอกว่า บางทีคำถามที่ดี อาจจะดีกว่าคำตอบก็ได้นะครับ คำถามที่ดี ๆ มันอาจจะดีกว่าคำตอบ
เพราะฉะนั้น ผมถามไปถามมาเนี่ย คนจำนวนไม่น้อยเลยคิดว่า เผลอ ๆ ชาญวิทย์ You may be more lucky คุณอาจจะโชคดีกว่าเราก็ได้ในพม่า ในเมืองไทยอาจจะเกิด miracle มีอัศจรรย์ มีปาฏิหารเกิดขึ้น อะไรก็ได้นะครับ ที่จะทำให้เราไปถึงหลักชัยได้ก่อน ถ้ามันเป็นอย่างนั้น โอ ผมก็คงดีใจเป็นบ้าเลยนะ อันนี้พูดในฐานะที่ตัวเองเป็นเจเนอเรชั่น builder ใช่มั้ยครับ ก่อนเบบี้ บลูมเมอร์ด้วยซ้ำนะครับ ก็เวลาก็เหลือน้อยแล้ว อะไรทำนองนั้นครับ ถ้าเราจะได้เห็น มันก็คงเป็นความสุขในบั้นปลายชีวิตนะครับ
เอาเป็นว่า ขอสรุปด้วยคำสอง-สามคำนะครับ บางทีเวลาผมคิดอะไรก็ตามเนี่ย ผมคิดไม่ออกนะ ถ้าคิดในภาษาไทย บางทีคิดไม่ออก เพราะเราอยู่ใกล้มันเกินไป บางทีผมก็หนีไปคิดเป็นภาษาอื่น คือผมเป็นคนที่ชอบคุยด้วย “บะหม่าสะกา เบี้ยวบาเด่” ผมก็ชอบภาษาพม่า ได้เรียนภาษาพม่า ครับ
นอกจากนั้นยังชอบ ตอนเรียนมัธยม เรียนมหาวิทยาลัยนี่ ก็ไปเรียนภาษาฝรั่งเศสด้วย ก็เลยชอบภาษาฝรั่งเศสด้วย ทำนองนี้ แต่ว่าเอาดีสักภาษาไม่ได้นะครับ ถึงแม้ว่าจะเรียนพม่า เรียนญี่ปุ่น เรียนอินโดนีเซีย อะไรก็ตาม แต่มันทำให้บางทีผมหลุดออกไปคิดเป็นภาษาอื่นนะ
ผมหลุดไปคิดว่า เอ มันเกิดอะไรขึ้นในพม่าตอนนี้ วันนั้นผมไปนั่งคุยกับทูต เอกอัครราชทูตคนหนึ่ง ท่านพยายามซักผมว่าผมคิดอะไรใช่มั้ย ผมต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษ เอาง่ายๆ ผมว่า I think Burma is exploding ครับ explosive หรือ explode น่ะ คือระเบิด มันระเบิด บึม ๆ ๆ ตูมตามเลย แล้วมันก็เปลี่ยน มันจะระเบิดขึ้น แต่ผมสงสัยว่า Thailand is imploding. คือมันฟุบ แฟบลงไปข้างใน แทนที่มันปังขึ้นไปข้างบน มันวูบลงไปข้างใน แฟบ ฝ่อลง ๆ ๆ มันอาจจะเกิดคู่กันไปก็ได้นะ
แต่ใครจะ explode ก่อน หรือจะ implode ก่อนนี่ ตอบไม่ได้นะ วิชาประวัติศาสตร์ตอบไม่ได้ ต้องไปหาคนดูดวง ต้องไปหาหมอดูนะครับ เพราะฉะนั้น ผมขอจบตรงนี้ว่า ผมมองว่า เข็มนาฬิกาหมุนมันกลับไม่ได้น่ะครับ มันเดินข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เหมือนอย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์พูด มันเดินอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ในกรณีพม่ามันก็คือ คงจะ explode ในกรณีของไทยคงจะ implode ครับ ขอจบแค่นี้ ครับ
