Skip to main content

การสรรหาผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ หยิบยกมาเป็นประเด็นสำหรับ มีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา อีกครั้งหนึ่งเมื่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสประกาศรายชื่อผู้สมัครผู้อำนวยการคนใหม่ที่มีทั้งหมด 8 คน เป็นรายชื่อที่มาพร้อมข่าวลือมากมายอันทำให้เกิดการทำนายชื่อผู้จะดำรงตำแหน่งไปต่างๆ นาๆ การพูดคุยภายใต้หัวข้อ การสรรหา ผอ. ไทยพีบีเอส.. ซับซ้อน หรือซ่อนเงื่อน จึงเกิดขึ้นเมื่อ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมเสวนา คือ หทัยรัตน์ พหลทัพ พนักงานฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส, จักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผู้เคยมีส่วนร่วมการสรรหากรรมการนโยบายไทยพีบีเอส, อธึกกิต แสวงสุข คอลัมน์นิสต์อิสระ และ รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นผู้นำการเสวนา

ไทยพีบีเอส 10 ปี 3 ผู้อำนวยการ

อาจจะไม่แปลกที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะใช้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร 3 คน ในเวลาไม่ถึง 10 ปี เพราะการนำพาสถานีโทรทัศน์ที่มีคุณลักษณะของการเป็นสื่อสาธารณะ ซึ่งเป็นคุณลักษณะใหม่ของวงการสื่อเมืองไทยให้สามารถสถาปนาองค์กรได้มั่นคงและรักษาปรัชญาของการเป็นสื่อสาธารณะไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ไม่เพียงต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจทั้ง “ความเป็นสื่อ” และ “ความเป็นสื่อสาธารณะ” แต่ยังต้องการคนที่มีความกล้าหาญทั้งทางจริยธรรมในการบริหารองค์กรและความกล้าหาญในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมาไม่เอื้อเฟื้อต่อสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะของฝ่ายใด

แต่เมื่อพิจารณาเหตุผลของการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการไทยพีบีเอสที่ผ่านมาแล้ว ไม่น่าจะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ปกติของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ผู้อำนวยการคนแรกคือนายเทพชัย หย่อง อยู่ครบตามวาระ 4 ปี คนที่สองนายสมชัย สุวรรณบรรณ เข้ามาด้วยกระบวนการสรรหา ถูกให้ออกจากตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2558 และคนที่สามทันตแพทย์กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ที่แม้จะลาออกเองแต่ก็มีภาพของการถูกบังคับให้ออกกลายๆ เพราะเป็นการประกาศลาออกในขณะที่ถูกคณะกรรมการนโยบายพิจารณาความเหมาะสมในการกระทำหน้าที่ ผอ. สถานีที่นำเงินขององค์กรไปซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นจำนวน 193 ล้านบาท

 “(การพ้นวาระของผู้อำนวยการ 2 คนหลัง) เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการนโยบาย (กนย.) กับ ผอ.ที่มีความสับสนทางการสื่อสารเกิดขึ้น ตัว ผอ. ไมรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรต้องรายงาน (กนย.) และอะไรไม่ต้องรายงาน น่าแปลกใจที่องค์กรด้านการสื่อสารกลับมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร” คือข้อสรุปของ จักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่เคยมีบทบาทในฐานะกรรมการสรรหากรรมการนโยบายไทยพีบีเอสมา  2 ชุด

ทั้งนี้ สมชัย สุวรรณบรรณ ถูกกรรมการนโยบายพิจารณาเลิกจ้างด้วยเหตุผลที่กรรมการนโยบายคนหนึ่งบอกกับสื่อว่า “ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะของกรรมการนโยบาย ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลง และแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขันและผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท”


อดีตผู้อำนวยการ (จากซ้าย) เทพชัย หย่อง, สมชาย สุวรรณบรรณ, ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์

ด้านอธึกกิต วิเคราะห์ผู้อำนวยการทั้ง 3 คนที่ผ่านมาของไทยพีบีเอส ว่าน่าสนใจยิ่ง มุมมองของเขาคือ

“เทพชัย: ทำข่าวให้เข้าใจได้ แต่ในบริบทสังคมมันทำให้เกิดการเลือกข้าง และเทพชัยไม่ใช่นักบริหาร สอบไม่ผ่านเรื่องการบริหารแต่เก่งเรื่องข่าว

สมชัย: เข้าใจเรื่องข่าว แต่เป็นนักจัดระเบียบ เลยไปเน้นทำเรื่องนี้ รอง ผอ. คนหนึ่งในสมัยสมชัยมาจากสายธนาคารที่ไม่เข้าใจเรื่องข่าวนัก

ทันตแพทย์กฤษฎา: ไม่เข้าใจข่าวเลย แต่บอกว่าตนเองทำงานกับสื่อมาเป็นสิบปี ซึ่งมันคนละเรื่องกัน”

อีกไม่นาน สถานีโทรทัศน์ที่มีภาพลักษณ์และฐานะของการเป็นสื่อสาธารณะแห่งเดียวของประเทศก็จะมีผู้อำนวยการคนที่  4 ซึ่งมีภาระสำคัญยิ่งรออยู่คือการทบทวนพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสื่อสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีการทบทวนทุก 10 ปี ของการดำเนินงาน

ด้านหทัยรัตน์ บุคลากรฝ่ายข่าวของไทยพีบีเอส ซึ่งมีโอกาสร่วมงานกับผู้อำนวยการทั้ง 3 คนที่ผ่านมากล่าวว่า “กฎหมายบอกว่าอย่างน้อยทุกสิบปีต้องมีการทบทวนที่มารายได้ และสัดส่วนองค์การ ...โจทย์ใหญ่ของผู้อำนวยการคนใหม่คือการทบทวน พ.ร.บ. เพราะมันคือความเป็นความตายขององค์กร อย่างที่รู้กันดีว่ารัฐบาลหรือ คสช. เองก็อยากได้สถานีช่องนี้ ผอ. คนใหม่จึงต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ และต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้พอสมควร”

ข่าวลือเรื่องล็อคสเปค ข่าวจริงเรื่องเพิ่มข้อบังคับ

                หัวข้อการเสวนาที่ มีเดีย อินไซด์ เอาท์ ตั้งไว้ในคราวนี้คือ การสรรหา ผอ. ไทยพีบีเอส...ซับซ้อน หรือซ่อนเงื่อน โดยการเสวนานี้เกิดขึ้นภายหลังมีการเปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร ที่ผ่านเข้ามาสู่มือคณะกรรมการสรรหารวมทั้งหมด 8  คน ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่าจะมีโอกาสผ่านเข้าไปถึงรอบของการแสดงวิสัยทัศน์ ได้เพียง 3 คน เป็นชาย 2  และ หญิง 1

หทัยรัตน์ มองแย้งว่าสำหรับเธอแล้วสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะกระบวนการสรรหาที่กำลังเกิดขึ้นเป็นกระบวนการเดียวกับการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสทั้ง 3 คนที่ผ่านมา

“ซ่อนเงื่อนหรือไม่ ไม่ตอบคำถาม แต่เมื่อเช้าหัวหน้าเตือนให้ระวังการพูดครั้งนี้ เพราะอาจมีคนเอาคำพูดของเราไปทำให้สถานการณ์ไม่ดี” เธอกล่าว

หทัยรัตน์กล่าวว่าการสรรหาผู้อำนวยการแต่ละครั้งที่ผ่านมา เธอไม่ได้ให้ความสนใจโดยเฉพาะกับข่าวลือที่เกิดขึ้นเพราะสำหรับเธอผู้บริหารที่ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นใครน่าจะเหมือนกัน แต่การสรรหาผู้อำนวยการคนที่ 3 ทำให้เธอรู้สึกว่าในฐานะบุคลากรคนหนึ่งของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เธอต้องสนใจ

“ส่วนตัวไม่เคยสนใจกระบวนการสรรหา คิดว่าใครมาเราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี  แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราต้องลุกขึ้นมามอนิเตอร์ และดูว่าคนในองค์กรสื่อจะเดินต่อไปอย่างไร ... ตอนเลือกหมอกฤษฎา ก็มีข่าวลือว่าล็อคสเป็ก  คุณสมบัติข้อหนึ่งระบุว่า ผู้จะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ มีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือสื่อสารสาธาณะ  ซึ่งตอนนั้นคุณสมบัติหมอกฤษฎาไม่น่าจะได้ แต่ท้ายสุดเราก็เห็นว่าคุณหมอเข้ามาทำหน้าที่นี้   คราวนี้ดิฉันจึงให้คุณค่าข่าวลือครั้งนี้ 70:30 ทั้งที่สื่อมวลชนไม่ควรให้ค่าข่าวลือ” หทัยรัตน์กล่าว

รายชื่อผู้สมัครผู้อำนวยการไทยพีบีเอส 8 คน ถูกเปิดเผยพร้อมด้วยข่าวลือการล็อคสเปก ที่เกิดขึ้นควบคู่กับปรากฏการณ์จริงบางอย่างที่เอื้อเฟื้อต่อข่าวลือนั้น นำสู่การจับจ้องกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป

“ในรายชื่อ 8 คน ยอมรับว่าเคยทำงานมาแล้วกับ 4 คน อีก 4 ไม่เคยทำงาน แต่ก็รู้จักกันหมด ทุกคนมีข้อดีและเสีย  ตอนนี้เท่าที่ฟังมีรายชื่อวินสองคน คนหนึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามภายในองค์กรเหมือนกันเพราะหากดูข้อบังคับที่กรรมการนโยบายตั้งขึ้นมามีข้อหนึ่งผิดแผก” หทัยรัตรน์กล่าว

ความผิดแผกที่เธอกล่าวถึงคือข้อบังคับว่าด้วยหลักการสรรหา ผอ. ส.ท.ท. ปี 2560 มีข้อหนึ่งระบุว่า บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการต้องเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการศึกษา เทียบเท่าไม่ต่ำกว่าคณบดี เป็นเวลา 1 ปี

“ข้อบังคับนี้ปี 2558 ไม่มี จึงสงสัยว่า (การสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ครั้งนี้) จะมีความโปร่งใสหรือไม่ หรือมีการกำหนดใครไว้แล้ว” หทัยรัตน์กล่าว

จักร์กฤษมองว่าความซับซ้อนของการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอส เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาพร้อมกับการก่อเกิดของตัวองค์กร ที่ให้กรรมการนโยบายเป็นกลุ่มคนที่อยู่บนสุด มีอำนาจควบคุมความเป็นอิสระขององค์กร รวมถึงทำหน้าที่สำคัญในการสรรหาผู้อำนวยการ

                “ผมเคยไปนั่งฟังการเลือกกรรรมการโยบาย และคิดว่าพวกเขาเหมาะสมกับการไปเป็นผู้บริหารองค์กรอื่น  แต่มีคนบอกว่าคต้องเลือก เพาะเขาเสนอตัวมาแล้ว และแสดงวิสัยทัศน์แล้ว กรรมการนโยบาย เองมีความเข้าใจสื่อสาธารณะไม่ตรงกัน เวลาคิดอ่านอะไรบางเรื่องก็จะไปตกกับคนที่คิด เข้าใจ ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง มันทำให้ไม่มีควาเมเป็นเอกภาพ  เพราะจะถูกกำหนดทิศทางโดยคนที่มีความรู้ซึ่งมีเพียงบางส่วน” จักร์กฤษกล่าว

                ในมุมมองของจักร์กฤษคือหากกรรมการนโยบายไม่เข้าใจความเป็นสื่อสาธารณะ ก็เป็นเรื่องยากลำบากที่ไทยพีบีเอสจะได้ผู้อำนวยการที่เข้าใจปรัชญาความเป็นสื่อสาธารณะเข้ามาบริหาร 

                ประเด็น  “ความรู้ความเข้าใจของกรรมการนโยบายที่มีต่อปรัชญาสื่อสาธารณะ” นี้เองที่จักร์กฤษมองว่าเป็นที่มาของปัญหาทางการสื่อสารระหว่างกรรมการนโยบายและผู้อำนวยการ

“กรรมการนโยบายหลายคนที่มีอิทธิพลในไทยพีบีเอส ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสื่อสาธารณะชัดเจน มันก็เหมือนลูกระนาดไล่มาจากผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร จนถึงฝ่ายปฏิบัติการ” จักร์กฤษกล่าว

                เช่นเดียวกับอธึกกิตที่มองว่าปัญหาความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนของการสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสเป็นปัญหาที่สั่งสมมาสิบปี

                “ผมว่าเลือกใครก็มีปัญหาและไม่น่าจะอยู่ยืด แม้แต่ในกรรมการนโยบาย หากเราดูสัดส่วนปัจจุบัน กรรมการนโยบายเองก็ไม่เป็นเอกภาพ ผมดูประวัติตัวบุคคลแล้วไม่เป็นเอกภาพ  และมันมีลักษณะของการแปลกแยกอยู่ หากเราไล่ดูกรรมการนโยบายทั้ง 9 คน จะพบว่ามีคนใหม่ 5 คน คนเก่า 4 คน เมื่อมีความไม่เป็นเอกภาพจะมีปัญหา เพราะเวลาเลือกมันต้องสองในสาม”

                ความไม่เข้าใจในการทำงานของสื่อและความเป็นสื่อสาธารณะของกรรมการนโยบาย เป็นประเด็นสำคัญที่อธึกกิตมองว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นสื่อสาธารณะที่แท้จริง

                “คุณอดิศักดิ์ (ลิมปรุ่งพัฒนกิจ อดีตผู้บริหารเครือเนชั่น) เป็นมืออาชีพ แต่จะทำงานกับกรรมการนโยบายได้ยังไง คำถามคือกรรมการนโยบายจะปล่อยให้มืออาชีพทำงานหรือเปล่า”


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) หทัยรัตน์ พหลทัพ, จักร์กฤษ เพิ่มพูล, อธึกกิต แสวงสุข, อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์

ไทยพีบีเอส ปราการด่านสุดท้ายเสรีภาพสื่อมวลชน

                “สังคมไทยให้ความสนใจกับไทยพีบีเอสน้อย ไม่ต้องพูดถึงสื่อทั่วไป ทั้งที่ถ้าเรามองสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เราแทบไม่มีสื่อที่เชื่อถือได้แล้ว สื่อถูกครอบครองหมดแล้ว ไม่เว้นแม้แต่สื่อที่เป็นคู่สัญญาของ กสทช. ที่วันดีคืนดี กสทช. ก็สั่งปิดวิทยุ 5 วัน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบอะไร... ไทยพีบีเอสต้องชวนให้สังคมตระหนักตื่นตัวว่านี่คือป้อมค่ายสุดท้ายของความเป็นสื่อที่เราต้องรักษาไว้” จักร์กฤษ เพิ่มพูล เปิดประเด็นว่าด้วยความสำคัญของไทยพีบีเอสต่อสังคมไทย

                ภาพลักษณ์และฐานะของไทยพีบีเอสที่เป็นสื่่อสาธารณะสื่อเดียวของประเทศเป็นสิ่งที่ทำให้การสรรหาผู้อำนวยการขององค์กรแห่งนี้มีนัยสำคัญมากกว่าการหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรสื่อทั่วไป

“วันนี้ พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (กสทช.) กลับไปเป็นองค์กรใต้รัฐแล้ว เราจึงต้องดูไทยพีบีเอสเป็นพิเศษ...ไทยพีบีเอสต้องชวนให้สังคมตระหนักตื่นตัวว่านี่คือป้อมค่ายสุดท้ายของความเป็นสื่อที่เราต้องรักษาไว้...ผอ.ใหม่ แค่จะประคองตัวให้รอดก็ยากแล้ว ผมว่าน่าสงสารที่สุด เพราะเข้ามาตอนที่ไทยพีบีเอสเป็นร่างกายที่กำลังอ่อนแอ และเป็นช่วงที่ผู้มีอำนาจกำลังจ้องเข้ามาครอบงำหรือยุบไทยพีบีเอส” จักร์กฤษ กล่าว

                นัยสำคัญของการเป็นสื่อสาธารณะที่ต้องธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพสื่อสำหรับไทยพีบีเอสในปัจจุบัน มิใช่เพียงการเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ หากแต่หมายถึงการเป็นอิสระจากอำนาจของประชาชนในนาม “สภาผู้ชมผู้ฟัง” ด้วย จักร์กฤษมองว่าภาพของไทยพีบีเอสในปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าจะเป็นสื่อสาธารณะหรือไม่ เพราะมีภาพของความเป็น “สื่อเอ็นจีโอ” อยู่ค่อนข้างมาก “คนบอกว่าอิทธิพลทีวีเอ็นจีโอของไทยพีบีเอส เป็นอิทธิพลมาจากสภาผู้ชมผู้ฟัง ซึ่งมาจากเอ็นจีโอแต่ละด้าน เพราะฉะนั้นมันจึงมีภาพว่าไทยพีบีเอส เป็นเรื่องของเอ็นจีโอเฉพาะด้าน” จักร์กฤษกล่าว

                สอดคล้องกับอธึกกิตที่มองว่า “ไทยพีบีเอสเป็นทีวีเอ็นจีโอที่อยู่ในกลุ่มของเอ็นจีโอที่ไม่เข้าใจสื่อ”

                “เราไม่ได้คัดค้านเรื่องการเป็นทีวีเอ็นจีโอ แต่ต้องทำงานอย่างเข้าใจสื่อ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ และถ่ายทอดออกมาไม่เป็น ทำให้มีแต่เอ็นจีโอกลุ่มตัวเองดู และดูแต่เรื่องของตัวเอง ไม่ได้สนใจเรื่องของคนอื่นการนำเสนอให้เป็นวงกว้าง เข้าถึงคนชั้นกลางไม่มี ทำไมไม่สามารถดึงคนให้สนใจปัญหาสังคมด้านต่างๆ ได้ พอไปถึงสภาพผู้ชมก็สนใจแต่เรื่องของตนเอง ขอให้เรื่องของตัวเองได้ออกสื่อเยอะๆ เท่านั้น” อธึกกิตกล่าว

                อธึกกิตหยิบยกเหตุการณ์การเข้าไปขอดูเทปรายการสัมภาษณ์ตัวเองของรสนา โตสิตระกูล มาเป็นตัวอย่างการไม่เป็นอิสระจากเอ็นจีโอของไทยพีบีเอส

                “คุณรสนา สามารถเดินเข้าไปดูการตัดต่อเทป มันไม่ควรเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกับคุณบอกว่าคุณไม่ยอมให้ทหารเข้ามาแทรกแซงสื่อ  แต่คุณรสนาเปรียบเหมือนนายพลของเอ็นจีโอ ที่สามารถเข้ามาดูการตัดต่อเทปให้เป็นที่พึงพอใจของตนเอง  ผมว่ามันไปเยอะเลย” 

                สถานการณ์ปัจจุบันของไทยพีบีเอส ทำให้อธึกกิตอดห่วงอนาคตของไทยพีบีเอสในการไม่เป็นอิสระจากภาคประชาชนไม่ได้หากผู้อำนวยการคนใหม่จะเข้ามาแล้วสนับสนุนแนวทางปัจจุบันของไทยพีบีเอส

                “คุณวิลาสินี (พิพิธกุล หนึ่งในสามผู้ปรากฎชื่อในข่าวลือที่จะผ่านเข้าสู่ขั้นตอนของการแสดงวิสัยทัศน์) ภรรยาของผู้จัดการ สสส. คนปัจจุบัน ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับรายการข่าว แล้วจะคุมยังไง ถ้าไปฟังเสียงเรียกร้องของสภาผู้ชม มันจะไม่ยิ่งไปกันใหญ่หรือ”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเสวนา ที่ผู้เข้าร่วมรายการถ่ายทอดให้เห็นว่า การสรรหาผู้อำนวยการไทยพีบีเอสไม่ใช่เพียงเรื่องของอนาคตองค์กรสื่อองค์กรหนึ่งเท่านั้น หากเป็นเรื่องของเสรีภาพของสื่อที่อยู่บนความง่อนแง่น เสี่ยงต่อการถูกครอบงำทั้งอำนาจรัฐและอำนาจประชาชน หน้าที่ท้าทายของผู้อำนวยการคนใหม่จึงมิใช่เพียงการทบทวนองค์กรตามข้อกฎหมาย หากแต่หมายถึงการกำหนดทิศทางสื่อสาธารณะของประเทศ  รับชมคลิปรายการเต็มได้ที่นี่

หมายเหตุ: ภายหลังสิ้นสุดกำหนดการรับสมัครบุคคลเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ตามกำหนดเดิมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 และได้ประกาศชื่อผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหาจำนวน 8 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น
     แต่วันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางสถานีไทยพีบีเอสได้มีประกาศขยายเวลารับสมัครบุคคลเพื่อรับการสรรหาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ ออกไปอีก 15 วันจนถึงวันที่ 2 มิ.ย. 2560 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีผู้สมัครเพื่อรับการคัดเลือกในตำแหน่งดังกล่าวจำนวนน้อยราย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ”

การสรรหา ผอ. ไทยพีบีเอส.. ซับซ้อน หรือซ่อนเงื่อน