ควบคู่กับความร้อนแรงของเนื้อหาละคร “เพลิงพระนาง” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของความขัดแย้งใน “เมืองทิพย์” คือกระแสการประท้วงและเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศจากทายาทของกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าที่กล่าวว่า “ละครเรื่องนี้น่ารังเกียจ ประวัติศาสตร์ควรต้องเป็นบทเรียนที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อมาทำลายชื่อเสียงผู้อื่น”[1] และการโต้กลับของผู้จัดละครในประเทศไทยที่สะท้อนความเห็นร้อนแรงกลับผ่านทางสื่อใหม่อินสตาแกรมว่า “ไม่ชอบก็ไม่ต้องดูนะคะ ละครเค้าทำไว้ให้ดูเพื่อความบันเทิง ถ้าดูแล้วไม่มีความสุขก็อย่าดู”[2] มุมหนึ่งของข้อโต้แย้งอาจจะทำให้เรทติ้งของละครเพิ่มมากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้กลุ่มผู้เสพละครและผู้ผลิตสื่อบางกลุ่มต้องตั้งคำถามกับตัวเองและสังคมว่าละครอิงประวัติศาสตร์ควรต้องมีขอบเขตระหว่างความจริงและจินตนาการมากแค่ไหน ความบันเทิงสามารถถูกสื่อสารออกมาอย่างมีความรับผิดชอบได้หรือไม่ และนั่นคือที่มาของมีเดียคาเฟ่ ของ มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ (MIO) ในวันอังคารที่ 4 เมษายน 2560 ที่เพิ่งผ่านมา
และนั่นคือประเด็นแห่งสาระของวงสื่อสนทนาที่ประกอบไปด้วยผู้ร่วมสนทนาผู้มากด้วยความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในอุษาคเนย์และการวิเคราะห์สื่ออย่าง สมฤทธิ์ ลือชัย และนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ผู้สนใจเรื่องราวในราชสำนักแห่งภูมิภาคเดียวกันอย่างชานันท์ ยอดหงษ์ และสุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปลหนังสือ ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง เข้าร่วมเวทีในตอนท้าย โดยมีเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี เป็นผู้ดำเนินการสนทนา
ทำความรู้จักกับ “เพลิงพระนาง”
แม้จิตรลดา ดิษยนันท์ ผู้จัดละครเรื่องเพลิงพระนาง แห่งค่ายกันตนาจะเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ว่า “ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของเมืองสมมติที่จินตนาการขึ้นมา จึงไม่มีอะไรผิด อะไรถูก เป็นการดีไซน์ใหม่ ทั้งฉากและเครื่องแต่งกาย เพราะไม่ต้องการให้เป็นชนชาติใด ส่วนยุคสมัยแม้จะเป็นพีเรียดแต่ก็ไม่ได้บอกว่ายุคไหน พ.ศ.อะไร ทุกอย่างอยู่ที่เราจินตนาการ”[3] แต่ก็ไม่สามารถทำให้ปฏิเสธได้ว่า เพลิงพระนางเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ในราชสำนักของพม่าประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพจ SAI-International Music & Movie ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงและภาพยนตร์ของชาวพม่าถึงกับลงรายละเอียดเทียบตัวละครกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าเพลิงพระนาง คือละครอิงประวัติศาสตร์ของเรื่องราวในราชสำนักมัณฑะเลย์ในยุคของพระเจ้าธีบอ พระเจ้าอยู่หัวพระองค์สุดท้ายแห่งพม่าก่อนจะเสียเอกราชให้อังกฤษ โดยมีพระนางศุภยาลัต พระมเหสีของพระเจ้าธีบอ เป็นศูนย์กลางในการเดินเรื่อง
นอกจากนี้จากคำบอกเล่าของชานันท์ทำให้ทราบว่า เมื่อครั้งเพลิงพระนางถูกสร้างครั้งแรกในปี 2539 ยังมีการระบุว่าดัดแปลงจากหนังสือ 2 เล่มที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของพม่าคือ เที่ยวเมืองพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พม่าเสียเมือง ผลงานเขียนของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
แล้วการที่ผู้จัดละครเรื่องนี้อ้างว่าเป็นเพียงเรื่องสมมติ?
“คุณมีสิทธิปฏิเสธแต่คนอื่นมีสิทธิไม่เชื่อ เรื่องนี้มันสนุกเพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าวันหนึ่งมันเกิดขึ้นกับเราแล้วมีคนอธิบายด้วยตรรกะเดียวกัน คุณจะรู้สึกอย่างไร เพราะคุณไม่เคยเจ็บปวดคุณจึงอธิบายแบบนี้” สมฤทธิ์กล่าวก่อนจะเสริมประเด็นนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยคำถามและข้อสังเกตต่อกระแสตอบกลับของคนไทยที่มีต่อกระแสต่อต้านละครเรื่องนี้จากเชื้อสายราชวงศ์พม่า “หากมีการทำเรื่องราวของราชวงศ์ไทยแบบนี้บ้าง กระแสตอบกลับจากสังคมไทยจะเป็นอย่างไร พม่าเขาผ่านบาดแผลของการถูกล่าอาณานิคม เสียงเขาดังเท่าเราไหม เสียงของครอบครัวของพระเจ้าธีบอดังเท่าเสียงคนไทยหรือไม่”
จากซ้าย: เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี, ชานันท์ ยอดหงษ์, สมฤทธิ์ ลือชัย
เพลิงพระนางในสายตานักประวัติศาสตร์
เจนวิทย์ ตั้งคำถามถึงการทำละครอิงประวัติศาสตร์ หรือละครที่มีส่วนผสมของประวัติศาสตร์อยู่ข้างในว่ามี burden หรือเส้นเขตแดนบ้างหรือไม่ เช่น เราสามารถใช้หลักการแห่งเสรีภาพทำละครประวัติศาสตร์แบบสุดโต่งไปเลยได้หรือไม่ หรือมีเส้นเขตแดนของเสรีภาพ เส้นเขตแดนของความเคารพอยู่ในงานละครของเราได้เหมือนกัน
“เพลิงพระนางเป็นหนึ่งในสองมิติที่ทำให้เรามีปัญหากับเพื่อนบ้าน” คือมุมมองของสมฤทธิ์ ลือชัย และสองมิติที่สมฤทธิ์กล่าวถึงนั้น มิติหนึ่งคือการดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน อีกมิติหนึ่งคือการทำให้ชนกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากสยามในภาคกลางเป็นตัวตลก เช่น การให้ตัวตลกเป็นคนอิสานพูดภาษาถิ่น คนใต้เป็นคนขับรถ ซึ่งเวทีในวันนี้มุ่งเน้นไปที่มิติที่หนึ่งคือการดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน
“มันเป็นเหมือนโรคร้ายที่อยู่ในตัว ไม่เคยหายไปไหน ปะทุมาเป็นนระยะ เพลิงพระนางไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอาการที่เกิดจากโรคดูถูก เหยียดหยามเพื่อนบ้าน โรคนี้แสดงออกได้หลายอาการ ปัจจุบันแสดงออกในรูปของละคร” สมฤทธิ์กล่าว
และสำหรับสมฤทธิ์แล้ว ในบรรดาเพื่อนบ้านทั้งหมดของประเทศไทย พม่าเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกคนไทยเกลียดชังมากที่สุด “พม่าจึงถูกเราพูดถึงหลายรูปแบบ ผลิตซ้ำหลายรูปแบบ เมื่อมีการผลิตซ้ำก็กลายเป็นการได้รับการยอมรับไป”
ขณะที่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อย่างชานันท์มองว่าเพลิงพระนางเป็นภาพสะท้อนการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่อยู่บนฐานของประวัติบุคคล ซึ่งนอกจากเพลิงพระนางแล้ว ละครเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ก็ล้วนถ่ายทอดเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์
“พอเน้นไปที่ประวัติศาสตร์บุคคลมันก็มีแต่เรื่องตีกัน ทะเลาะกัน”
และการทะเลาะกันระหว่างบุคคลในประวัติศาสตร์ก็ถูกนำเสนอเป็นฉากไฮไลต์ของละครเพลิงพระนาง ปี 2560 การเชือดเฉือนกันด้วยภาษาผรุสาทเต็มด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราดอย่างเปิดเผย และการตบตีทำร้ายร่างกายกันของเหล่าตัวละครเอกหญิง มีอยู่ให้เห็นในเกือบทุกตอนของละครเรื่องนี้
“ทายาทของพระเจ้าธีบอส่งข้อความมาหาดิฉัน บอกได้หมดเลยว่าใครเป็นใคร เทียบตัวละครในเรื่องกับคนในประวัติศาสตร์พม่า และบอกด้วยว่าพวกนี้ไม่ทำการบ้านเลย มาว่าพระราชินีของเราว่าทำให้เสียเมือง และในราชสำนักเขาไม่ลุกขึ้นมามีท่าทีเกรี้ยวกราดแบบนี้” สุภัตรา ภูมิประภาส เล่าข้อมูลที่เธอได้รับตรงจากทายาทพระเจ้าธีบอให้ผู้เข้าร่วมเวทีในวันนั้น
สุภัตราให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหนังสือราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง ที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของราชสำนักมัณฑะเลย์ในยุคของพระนางศุภยาลัตกับพระเจ้าธีบอก็มีเรื่องราวความขัดแย้งและการกระทบกระทั่งกันระหว่างตัวละครทางประวัติศาสตร์ แต่ทายาทของพระเจ้าธีบอไม่ได้โกรธสุดา ชาห์ (Sudha Shah) ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ เพราะฉากความขัดแย้งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้น “มันไม่เกินจริง”
“การไม่ทำการบ้าน” ของละครเพลิงพระนาง คือความเห็นที่ผู้ร่วมเวทีทั้ง 3 ท่าน คือ สมฤทธิ์ ชานันท์ และสุภัตรา มีร่วมกัน
สุภัตรา: “ประเด็นคือก่อนจะทำละครคุณออกไปศึกษาหรือเปล่า คุณบอกว่า 20 ปีที่แล้วมีการสร้างมาแล้ว แต่ปีนี้หลักฐานมันเพิ่มขึ้น ข้อมูลมันมากขึ้น คุณจะหยุดอยู่แค่นี้หรือ การบอกว่าให้เปลี่ยนช่อง บอกว่าละครเป็นเรื่องสมมติ แสดงถึงการไม่รับผิดชอบ กันตนาลงทุนมหาศาลกับฉากกับเสื้อผ้า ทำไมไม่ลงทุนเรื่องข้อมูล กันตนาจะสร้างละครอย่าง 20 ปีที่แล้ว ไม่ไปไหนเลยหรือ”
สมฤทธิ์: “ทำไม่ไม่ตั้งทีมขึ้นมาศึกษา ข้อมูลมันหาไม่ยาก หลักฐานมียืนยันแล้วว่าพระนางไม่ได้เป็นคนสุมเพลิง ไม่ได้เป็นคนทำให้เสียเมือง …. ในตอนนั้นไม่ว่าพม่าจะมีพระนางศุภยาลัตหรือไม่ อังกฤษก็จะยึดเพราะเขาจ้องอยู่แล้ว”
ชานันท์: “พอเกรงว่าจะไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ยัดคำว่าตำนานใส่ลงไป หรือการทำให้เป็นเมืองทิพย์ไป”
ชานันท์มองว่าไม่ใช่เพียงแค่เพลิงพระนางเท่านั้นที่ไม่มีการปรับสาระและมุมมองวิธีคิด แต่รวมถึงละครเรื่องอื่นๆ ด้วยที่ยังคงมีลักษณะของการ “เอาความทรงจำเมื่อ 250 ปีก่อนที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับปัจจุบันมาถ่ายทอด”
จากความเห็นร่วมของผู้ร่วมเวทีทั้งสามที่มองเห็น “การไม่ทำการบ้าน” ของละครเพลิงพระนาง ทำให้เจนวิทย์ ผู้ดำเนินรายการสรุปย่อสั้นๆ ว่าเพลงพระนางกำลัง “แช่แข็ง” ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนไทย
“วันก่อนคุณบอย ถกลเกียรติ [วีรวรรณ] แถลงข่าวว่า สี่แผ่นดินจะกลับมาเดือนสิงหาคม แล้วมีคนมาเมนท์ผมว่า ทำไมสังคมไทยผลิตละครเรื่องนี้อีกแล้ว คำตอบของผมแบบเดียวกับอาจารย์สมฤทธิ์และแบบพี่ป้อง [ชานันท์] ก็คือว่า ละครเรื่องหนึ่งที่เราดูสะท้อนการสตาฟฟ์สังคม การแช่แข็งของสังคมด้วย เพลิงพระนางก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ไปไหนต่อประเด็นความสำคัญเพื่อนบ้าน วงการละครไม่ไปไหนไกลกว่านี้ยังพร้อมจะทำของที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีสารอาหารออกให้คนเห็นอยู่ อีกด้านหนึ่งรัฐก็พร้อมจะส่งเสริมกิจกรรมแบบนี้ ในเมื่อความคิดไม่เปลี่ยน ความคิดต่อเพื่อนบ้านไม่เปลี่ยน ความคิดต่อชาตินิยมของไทยไม่เปลี่ยนก็สตาฟฟ์วงการละคร สตาฟฟ์วงการสื่อมวลชนและสตาฟฟ์อีกหลายวงการแช่แข็งไปด้วย”
เขตแดนระหว่างความจริงทางประวัติศาสตร์และความบันเทิงของละครอิงประวัติศาสตร์
บนเวทีวันนั้นไม่มีใครปฏิเสธการทำละครอิงประวัติศาสตร์ เพราะละครเป็นสื่อแขนงหนึ่งที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือให้สังคมศึกษาประวัติศาสตร์ได้ หากแต่ละครต้องอิงอยู่บนฐานของความถูกต้องทางประวัติศาสตร์
สมฤทธิ์ยกตัวอย่างซีรียส์ตะวันตกเรื่อง The Tudors ที่สร้างโดยอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งราชวงศ์อังกฤษ
“ผมดู Tudors สามรอบ เรื่องของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และคนใกล้ชิด แต่ละครเป็นมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ หลง ดี ชั่ว หมด ไม่มีใครคนหนึ่งขาวสะอาดอีกคนดำมืด มีทีมงานทางประวัติศาสตร์ ทำให้คนเห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ แต่เพลิงพระนางมีไหม ที่ชั่วก็ชั่ว มันยังติดกับกับดักอันนี้อยู่ การทำประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องของละครต้องทำให้เห็นอันนี้...หากจะทำเพลิงพระนางให้เห็นแบบ Tudors ให้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาข้อมูลมันหาไม่ยาก คุณอาจใส่ความเป็นมนุษย์ลงไป รักโลภโกรธหลง ผมเชื่อว่าพระนางร้ายพอสมควรแต่ไม่ได้ชั่ว ในฐานะความเป็นพระนางศุภยาลัต ซึ่งมีอำนาจตั้งแต่อายุยังน้อย 18-19 ก็มีอำนาจแล้ว หากเราตีโจทย์อันนี้เป็นละครมันจะไม่เป็นยาพิษ”
ขณะที่ชานันท์มองว่าเขตแดนสำคัญในการผลิตละครอิงประวัติศาสตร์อยู่ที่เส้นแบ่งเรื่องภาระหน้าที่ ซึ่งหมายความรวมถึงความรับผิดชอบของสื่อ
“มันต้องมีเส้นเขตแดนอยู่แล้ว และต้องมีเส้นแบ่งระหว่างภาระหน้าที่ของผู้ผลิตสื่อว่าอยู่แค่ไหน หากไปชี้นำสังคมมันมีปัญหาแล้ว”
ประเด็นสำคัญที่ชานันท์เห็นว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ละครอิงประวัติศาสตร์ไม่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมเพราะขาดความเชื่อมโยงในผลประโยชน์ระหว่างผู้ผลิตสื่อกับผู้ชม
“การผลิตรายการทีวีไม่ได้คำนึงถึงผู้เสพ แต่คำนึงถึงรายได้ เช่น การที่สามารถตัดคนดูกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยออกไป บอกให้เปลี่ยนช่องไปสิ เพราะเขาอยู่ได้ด้วยโฆษณา” ซึ่งตรงนี้ชานันท์มีคำถามตามมาอีกด้วยว่า “การห้ามเข้าถึงสื่อ หรือการห้ามเข้าถึงวัฒนธรรมบันเทิงอะไรสักอย่าง ใครควรจะมีอำนาจบอกว่าใครควรดูอะไร ใครไม่ควรดูอะไร”
ทั้งสมฤทธิ์และชานันท์มองบทบาทของละครในสังคมไทยว่าเป็นเครื่องมือตอกย้ำมายาคติทางประวัติศาสตร์ซึ่งรัฐไทยสร้างขึ้น “รัฐไทยประสบความสำเร็จในการสร้างให้คนไทยเกลียดคนอื่น” สมฤทธิ์กล่าว
สมฤทธิ์มองว่าที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำของไทย ประวัติศาสตร์แปลว่าความรู้เกี่ยวกับความเป็นมา แต่สำหรับประเทศไทย “ประวัติศาสตร์ถูกผลิตเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามประวัติศาสตร์ของเราแทรกว่าเพื่อนบ้านคือศัตรูคือคนที่ไว้ใจไม่ได้ มันแทรกในประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นกระทรวงศึกษาธิการ” โดยสมฤทธิ์ยกตัวอย่างว่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ที่เต็มไปด้วยอคติต่อพม่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 กว่าปีมานี้ สมัยอยุธยามายาคติเช่นนี้ยังไม่ถูกสร้าง “อคติต่อพม่า หรือการมีมายาคติต่อพม่า หากศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จะเห็นว่ามันเพิ่งประกฏเมื่อสองร้อยก่าปี รัตนโกสินทร์ เป็นคนสร้างประวัติศาสตร์นี้ขึ้นมาสมัยอยุธยายังไม่มี”
และจากมายาคติในรูปของหนังสือมาถูกสร้างซ้ำอีกครั้งในรูปของละคร
“ที่น่ากลัวคือพอคนได้รับข้อมูลซ้ำขึ้นเรื่อยๆ ก็คิดว่ามันคือเรื่องจริง ละครไทยผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ชาตินิยม หากแก้เพลิงพระนางไม่ได้ อาการของโรคก็จะเกิดขึ้นอีก เราต้องแก้ที่การศึกษาให้คนไทยมีการรับรู้ต่อพม่าที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปชเวดากองแล้วบอกว่าเป็นทองของไทย หรือการกล่าวว่าคนพม่านุ่งโสร่งไม่นุ่งกางเกงใน ผมว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก หากไม่แก้วันนี้ก็จะเกิดอีกต่อไปเพราะเราไม่ได้แก้สมมติฐานของโรค”
ขณะที่การรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับพม่าว่าต้อยต่ำกว่า ป่าเถื่อนกว่า ถูกสร้างและตอกย้ำผ่านสื่อโดยที่สื่อไม่ได้พูดถึงความจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับพม่า
“ทำไมเร้าต้องวัดความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติที่ใส่กางเกงในหรือไม่ อย่าลืมนะว่าสยามไม่เคยรบชนะพม่า เพราะฉะนั้นเขายิ่งใหญ่กว่าเรามาก มีแต่เขายึดเราได้ เรายึดเขาไม่ได้” สมฤทธิ์กล่าว
ประเด็นสำคัญที่สมฤทธิ์มองเห็นและมีความวิตกกังวลคือการที่คนไทยหรือสังคมในภาพรวมรับเอา “มายาคติ” ที่ส่งผ่านออกมาจากละคร แล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ชานันท์ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยเขามองว่าทุกวันนี้คนไทยยังมองเพื่อนบ้านถอยกลับไปเมื่อ 200 ปี “เรามองกัมพูชาว่ายังอยู่ในปราสาทหิน เรามองเพื่อนบ้านแบบนี้ ผลิตเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านแบบนี้”
“เมื่อดูภูมิภาคอื่น เรามองล้านนาเป็นผู้หญิงชะมดชะม้อย มองอิสานว่าลึกลับ มีไสยศาสร์เชื่อมโยงกับกัมพูชา ป่าเถื่อน การศึกษาแย่กว่า มองภาคใต้ว่าเถื่อน มีอำมหิต เป็นการสร้างภาพตัวแทนอย่างมีมายาติทำให้เราไม่เห็นอะไรไปมากกว่านี้”
ทำอย่างไรให้ละครอิงประวัติศาสตร์เป็นสื่อสอนประวัติศาสตร์ให้สังคมได้
ละครคือสื่อแขนงหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ส่งสารให้ผู้รับสาร สมฤทธิ์จึงมองว่าการจะให้ละครรับใช้สังคมด้วยการส่งสารที่เป็นสาระทางประวัติศาสตร์ต้องเริ่มจากการผลิตสารที่ละครจะเป็นผู้นำไปต่อยอด
“รัฐสยามหรือรับไทยที่ผ่านมาพยายามทำตัวเป็นเจ้าอาณานิคมเพราะเขาทำและคิดในสิ่งเดียวกับที่อาณานิคมโลกทำคือมองเพื่อนบ้านว่าต่ำต้อย แย่ ป่าเถื่อน คนพวกนี้จะหลุดพ้นได้ด้วยการช่วยเหลือของเรา เพราะฉะนั้นการที่เราไปยึดเขามาเป็นเมืองขึ้นมันจึงถูกมองว่าเป็นภาระหน้าที่ของมนุษยชาติ”
ในมุมมองของสมฤทธิ์ การกดขี่ดูหมิ่นเพื่อนบ้านที่เป็น “อาการของโรค” ของสังคมไทยทุกวันนี้ เป็นผลมาจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาผลิตซ้ำโดยสื่อแขนงอื่น เช่น ละคร
“เริ่มจากอวสานราชบัลลัก์พม่าของเสถียร พันธะรังษี ตามมาด้วยงานของคึกฤทธิ์ ปราโมช ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้ไม่เคยขาดช่วง มันฝักรากลึกมานาน มันกลายเป็นอวิชชาที่เราต้องเปลี่ยนมันให้เป็นอวิชชาทางประวัติศาสตร์...เราต้องชำระประวัติศาสตร์ ราชอาณาจักรอยุธยาพังก่อนที่พม่าจะเข้ามา อยุธยาถูกเผาก่อนหน้านั้น ในพงศาวดารที่เกี่ยวกับพระเจ้าตากสินฯ ก็บอกไว้แล้วว่ากรุงศรีอยุธยามีควันพุ่งก่อนที่พม่าจะเข้ามา แล้วใครเผาในเมื่อพม่ายังไม่มา ก็เรากันเองนี่แหละเผา”
นอกเหนือภาระหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระประวัติศาสตร์แล้ว ผู้ผลิตละครก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย สมฤทธิ์มองว่าวงการสื่อควรต้องมีการฝีกอบรมหรือจัดการเทรนนิ่งเพื่อให้สื่อมีความรับผิดชอบมากขึ้น และให้สามารถผลิตละครที่ทำให้เกิดความสร้างสรรค์มากกว่าที่ทำลายมนุษยชาติได้
“สื่่่อข้าม boundary ได้ สื่อสามารถสร้างละครที่นางเอกสาวคนกรุงเทพฯ เรียนจบจากอังกฤษ แล้วไปรักกับหนุ่มแรงงานชาวพม่า ให้จบแบบ happy ending ได้....ทำเราไม่สร้างคะครเรื่องดงเร็ก ที่จะทำให้คนไทยกับคนกัมพูชารักกัน”
สมฤทธิ์มองว่าสื่อต้องมีภาระหน้าที่และสำนึกในการรับผิดชอบต่อคุณภาพของสิ่งที่ตัวเองผลิตออกมา
“เหมือนเราผลิตอาหารแล้วขาดคุณภาพ เรามีสิทธิบอกว่าไม่อร่อยอย่ากิน แต่โดยสำนึกเราไม่ควรพูด เหมือนคุณเอาอาหารพิษมาป้อนเด็กของผม แล้วบอกว่าเด็กมันกินเอง แต่คุณเป็นคนป้อนมันไปแล้ว สำนึกที่ผมเชื่อว่า เราเรียนเราศึกษากันมา แต่นี่ถึงเวลาต้องย้ำอีกทีหนึ่ง เรื่องความรับผิดชอบของสื่อมวลชน รัฐบาลควรต้องทำให้สำนึกแห่งเพื่อนบ้านเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่ใช่การเอาใจเพื่อนบ้าน แต่เราต้องมองให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น เขาดียังไง เก่งยังไง อ่อนยังไง เมื่อเราอยู่ในภาวะนั้นมันจะทำให้เราถอดรื้อกระบวนการทางประวัติศาสตร์”
เชิญติดตามบนสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่...
[1] นายโซ วิน เหลนของพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งพม่าหลังเสียเอกราชแก่ประเทศอังกฤษ เกิดจากพระธิดาองค์ที่ 4 ของพระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยาลัต ให้สัมภาษณ์เวบไซต์ข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ http://www.khaosodenglish.com/life/entertainment/2017/03/10/great-grandson-last-burmese-king-wants-thai-soap-canceled/
[2] กันตนาเดือดฉะพวกจับผิดละครเพลิงพระนาง ลั่นถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องดู, ข่าวสดออนไลน์: เข้าถึงได้ที่ https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_213909
[3] http://www.matichon.co.th/news/476066
