ภาพวาดประธานคิมอิลซุง ตรวจเยี่ยมโครงการ "ม้าพันลี้"/ ภาพ: สงวน คุ้มรุ่งโรจน์
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2016 มีรายงานข่าวว่าทีมข่าวของบีบีซีที่ไปทำข่าวการประชุมสมัชชาพรรคคนงานของเกาหลีเหนือถูกขับออกจากกรุงเปียงยาง รายงานระบุว่าผู้นำของเกาหลีเหนือไม่พอใจการรายงานของทีมบีบีซีที่เน้นเรื่องการดำเนินชีวิตของผู้คนในเมืองหลวง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สื่อมวลชนไทยจากหลายสำนักที่มีโอกาสได้ไปเยือนกรุงเปียงยางในช่วงเวลาเดียวกัน และช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน ได้สะท้อนภาพกรุงเปียงยางที่มีรอยยิ้ม การกินดีอยู่ดีของผู้คน และเสรีภาพในการทำข่าวไว้อย่างน่าสนใจ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ "เสรีภาพสื่อ…ประสบการณ์เปียงยาง" โดยเชิญนักข่าวที่มีประสบการณ์ตรงในการทำข่าวเกาหลีเหนือมาร่วมสนทนา คือ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโส และเป็นเจ้าของเพจ สำนักข่าวหงวน จัดให้ และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น (The Nation)
พิณผกา งามสม ผู้ดำเนินรายการกล่าวนำว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีมนต์เสน่ห์สำหรับผู้สื่อข่าว เพราะเป็นประเทศที่ปิดอยู่หลังม่านเหล็ก ซึ่งเมื่อก่อนมีหลายประเทศที่เป็นเช่นนั้น แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย เช่น พม่า จะเห็นบรรยากาศที่เปิดมากขึ้น ในขณะที่จีน การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้จีนเปลี่ยนบุคลิกไปมาก “เกาหลีเหนืออาจเป็นอีกประเทศที่กำลังตามมา ในด้านหนึ่งเปิดให้คนท่องเที่ยวมากขึ้น สื่อต่างประเทศเข้าไปทำงานได้มากขึ้น แต่อาจจะยังมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา"
การสนทนาวันนี้จะคุยกันเรื่องประสบการณ์การรายงานข่าว จากนักข่าวอาวุโสสองท่านที่ไปผจญภัยในเปียงยาง บางคนบาดเจ็บ ถูกคุมขังเป็นระยะเวลาสั้นๆ ด้วย แต่ทั้งนี้จะเริ่มจากเกาหลีเหนือที่โลกรับรู้ในปัจจุบันก่อน แล้วค่อย ๆ ย้อนไปดูว่าจนบัดนี้ เมื่อย้อนไปถึงปี 1997 เป็นเวลาหลายสิบปีนี่ เกาหลีเหนือเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ผู้ร่วมสนทนา, จากซ้าย - สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, พิณผกา งามสม, สงวน คุ้มรุ่งโรจน์
พิณผกา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเองในฐานะนักข่าวว่า “ล่าสุดมีการไล่นักข่าวบีบีซี ออกจากประเทศหลังจากเข้าไปรายงานข่าวการประชุมของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่เข้ามาขัดขวางการรายงานข่าวโดยบอกว่าคำพูดมีลักษณะการดูถูกดูแคลนคนเกาหลีเหนือ ทีมข่าวสามคนถูกควบคุมตัวและสอบสวนอยู่เป็นเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง และเป็นที่น่าสนใจว่า ปีนี้สำนักข่าวใหญ่ระดับโลกอย่างบีบีซี จะทุ่มเทสรรพกำลังให้กับการรายงานข่าวในซีกโลกที่ใช้ภาษาเกาหลีด้วย ก็จะพุ่งเป้าไปที่เกาหลีเหนือด้วย ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งทิศทางของข่าวระดับโลกที่พอจะชี้ได้ว่า เกาหลีเหนือจะถูกจับตามากขึ้น”
พิณผกาเล่าว่าเมื่อต้นปี เธอมีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้หญิงชาวเกาหลีเหนือคนหนึ่งที่หนีออกมาจากประเทศ “เธอเล่าเรื่องการเดินทางจากเกาหลีเหนือไปสู่เกาหลีใต้ บางช่วงตอนก็อาจจะคลุมเคลือและเราไม่ได้ความชัดเจนมากนักว่าระหว่างนั้นทำอะไร แต่ที่เล่าออกมาให้เราฟังทั้งหมดนั้นสะท้อนความยากลำบากของคนที่อยู่ในเกาหลีเหนือ...”
ชีวิตชาวเปียงยาง นักข่าวต่างชาติ และข้อห้ามหลังม่านเหล็ก
ในสายตาของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เกาหลีเหนือไม่มีอะไรเป็นพิเศษไปกว่าการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ประเทศหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ เพื่อเปรียบเทียบระบอบการปกครองประเทศว่า โลกคอมมิวนิสต์นั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร “เกาหลีเหนือต่างจากประเทศคอมมิวนิสต์อื่น เช่น เวียดนาม ลาว จีน และคิวบาค่อนข้างมาก เพราะประเทศอื่นเปิดสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แล้ว มีหลายกรณีคนเกาหลีเหนือหนีเข้าสถานฑูตญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือ” สุภลักษณ์กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า "ถ้าคนในประเทศอยู่ดีกินดี คงไม่มีคนหนีออกมา คนจำนวนหลายพันหลายหมื่นคน บางคนใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี เพื่อหาที่อยู่ที่สุขสบายในบั้นปลายชีวิตหลังจากระหกระเหินมานาน เกาหลีเหนือยังคงมีข่าวแบบนี้ ซึ่งน่าสนใจ”
สุภลักษณ์ เล่าประสบการณ์ที่ไปทำข่าวในกรุงเปียงยางเมื่อปี 2005 เมื่อครั้งร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐมนตรีต่างประเทศในเวลานั้นคือ นายกันตธีร์ ศุภมงคล พร้อมกับนักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ว่าขณะนั้นเขาทำข่าวให้สำนักข่าวเกียวโด “รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่ขึ้นเครื่อง หากเป็นเครื่องบินมุสลิม อาจมีการสวดขอพรพระเจ้านิดหน่อย ถ้าเป็นสิงคโปร์ ขึ้นเครื่องก็มีการสั่งห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ห้ามสูบบุหรี่ กรณีเกาหลีเหนือมีบทสรรเสริญผู้นำก่อนเครื่องลงจอด”
การติดตามรัฐมนตรีไม่ได้ทำให้นักข่าวมีอภิสิทธิ์ใด ๆ ทุกคนเดินเข้าช่องเดียวกัน ถูกค้นและยึดของต้องห้าม “immigration ไม่ได้สนใจว่าเราเป็นนักข่าว แต่ถามคำเดียวว่ามีใครพกโทรศัพท์มือถือมาบ้าง เพราะไม่สามารถเอาเข้าประเทศได้เลย ต้องฝากไว้ที่ ต.ม.”
สุภลักษณ์เล่าถึงกรุงเปียงยางที่เขาได้สัมผัสว่า ขาดแคลนทั้งด้านอาหารและพลังงานไฟฟ้า “พอทุ่มหนึ่ง เวลากินข้าว ไฟดับ บอกว่าเป็นนโยบายประหยัดพลังงาน และเริ่ม lecture ว่านี่คือความจำเป็นอันยิ่งยวดที่ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ มันมืดทั้งเมือง ต้องจุดเทียนกินข้าวเลย และต้องเดินกลับโรงแรมในท่ามกลางความมืด” และแม้จะไปกับคณะรัฐมนตรีก็ตาม อาหารร่วมโต๊ะกับรัฐมนตรี "มี กิมจิ กับไก่นึ่งหนึ่งตัว"
การออกไปสัมผัสชีวิตผู้คนบนท้องถนน เพื่อเก็บภาพและเรื่องราวมารายงานข่าวก็กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักข่าวในเวลานั้น สุภลักษณ์เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องถูกทำร้ายร่างกายและควบคุมตัวอยู่หลายชั่วโมงว่า “รุ่งเช้าชวนเพื่อนไปเดินตลาดเพื่อจะได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจริง ๆ จะเที่ยวเอาข่าวโฆษณาชวนเชื่อมาเสนอไม่ได้ พร้อมกับพกกล้องไปด้วย แถวสถานีรถไฟ เดินไปถ่ายรูปไปด้วย มีคนนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ เหมือนรออะไรสักอย่าง อาการเหม่อลอยคิดไม่ออกว่าจะไปทำมาหากินอะไร ผมก็ถ่ายรูป มีแม่ลูกคู่หนึ่งกำลังป้อนข้าวลูก ผมก็เข้าไปดูว่าป้อนลูกด้วยอะไร ถ่ายไว้หลายมุม กะว่าจะขึ้นหน้าหนึ่งได้ สักพักมีคนวิ่งมาข้างหลังเข้ามากระชากกล้องผม แต่โชคดีกล้องมีสายคล้องคอเลยไม่ติดมือเค้าไป และมีคนจับมือผมรวบข้างหลัง และจับเพื่อนอีกคนด้วย ผมก็ดิ้นคือไม่เข้าใจ เราก็เถียงว่าไม่ได้ทำอะไรผิด สักพักเห็นคนที่ผมเพิ่งถ่ายรูป ลุกและวิ่งมานะครับ เงื้อกำปั้นมาแต่ไกล กะว่าคงชกดั้งผมหักแน่ ๆ ผมหลบเบี่ยงแต่โดนแว่นตาหัก พวกเขาเหยียบจนแบนเหลือเลนส์ข้างเดียว ระหว่างนั้นต้องใช้แว่นตาข้างเดียวส่องเดิน”
จากนั้นเขาและเพื่อนนักข่าวถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวน “สักพัก Liaison ที่พาเราไปกินข้าวเมื่อคืนมาถึงก็โยนสมุดใส่หน้าเรา “I told you” และบอกว่าคุณจะออกมาเที่ยวถ่ายรูปโดยไม่มีการนำพาของรัฐไม่ได้ lecture อยู่ 4-5 นาที ผมก็บอกว่า “sorry, sorry” เขาก็อธิบายว่าหลักการของประเทศนี้ คุณจะถ่ายรูปอะไรก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่การถ่ายรูปบุคคลเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ประเทศเราเคารพเรื่องนี้ ห้ามถ่ายรูปบุคคลจนกว่าจะได้รับอนุญาต ประชาชนเหล่านี้โกรธเคืองคุณ เลยมาจับคุณ”
สุภลักษณ์เล่าว่าเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือยังได้ยึดกล้องของเขาด้วย “สุดท้ายโดนยึดกล้องไป เจรจาอยู่ครึ่งวัน ผมไม่เป็นอันทำข่าว สุดท้ายมีเงื่อนไขว่าจะลบภาพที่ถ่ายในประเทศนี้ออกหมด ผมถามทำไมไม่เลือกภาพที่ผิดกฎหมายล่ะ ผมเจรจาอีกนะ แต่ที่สุดลบเมมโมรี่ทั้งหมดที่มีอยู่ไม่เหลืออะไรเลยครับ เหลือรูปที่กู้มาจากกล้องได้แค่รูปเดียว คือรูปที่คืนแรกเค้าให้เราไปดูกายกรรมเปียงยาง ซึ่งก็แอบถ่าย เค้าห้ามยกกล้องขึ้นมาเลย ห้ามถ่ายวิดีโอเพราะเค้ามีจำหน่ายแล้ว ถ้าอยากได้ให้ไปซื้อเอา ห้ามบันทึกภาพใดๆ ทั้งสิ้น ดูแต่ตา”
ปันมุนจอม หมู่บ้านเจรจาสงบศึก ฝั่งเกาหลีเหนือ/ ภาพ: สงวน คุ้มรุ่งโรจน์
“ประเทศที่โลกลืม และประเทศที่พยายามทำตัวลืมโลก”
ด้าน สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ นักข่าวอาวุโส ประสบกับเหตุการณ์ที่ดูจะเลวร้ายกว่า สงวนไปเยือนเปียงยางเมื่อปี 1997 กับคณะของนายสุรพงษ์ ชัยนาม อธิบดีกรมสารนิเทศในขณะนั้น ก่อนเดินทาง ทูตเกาหลีเหนือรับประกันว่าเกาหลีเหนือมีเสรีภาพ ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสามารถถ่ายรูปได้ สามารถไปไหนก็ได้
“แต่ด่านแรกที่ผมไปเจอ เหมือนคุณสุภลักษณ์ คือพอถึงสนามบินมือถือทุกเครื่องถูกยึดไว้ที่สนามบิน และที่สำคัญ พอไปถึงสนามบิน เขาถ่ายรูปคณะของเราทั้งหมดหกคนเป็นวีดีโอเก็บไว้ แล้วที่บอกว่าคณะของคุณสามารถใช้ชีวิตอิสระ ออกมาดูสภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองนี่ ขอโทษนะ ผมเดินออกจากเสตทเกสต์เฮ้าส์นี่ไปไหนไม่ได้ เศษสองส่วนสามของชีวิตที่อยู่ห้าวันนี่ อยู่ในห้องเท่านั้น แล้วเขาก็มีองค์รักษ์ที่มาติดตามพวกเรา”
ด้านอาหารการกินนั้น สงวนเล่าว่าเลวร้ายกว่าที่คิด “ตอนเช้ากินอาหารกระป๋อง และเนื่องจากมีฉลากภาษาญี่ปุ่นซึ่งข้าพเจ้าอ่านได้ มันหมดอายุไปแล้วสามเดือน ไฟดับบ่อยมาก น้ำในบ้านรับรองของรัฐเป็นสีเหลืองหมด บอกได้เลยว่า สภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่ได้ดีขึ้น แม้สงครามเกาหลีจะฝ่านไปแล้วหกสิบกว่าปี”
สงวนมองว่า “เกาหลีเหนือ นอกจากจะเป็นประเทศที่โลกลืมแล้วยังพยายามทำตัวเป็นประเทศที่ลืมโลก” นักข่าวต้องไปวางพวงหรีดเยี่ยมคารวะผู้นำ เยี่ยมบ้านเกิด พร้อมรับฟังถึงเรื่องราวของคิม จอง ซุก แม่ของคิม จอง อิล และมีโปรแกรมนำชมโรงงานนิวเคลียร์ มหาวิทยาลัยประชาชน หอสามปฏิวัติ - ปฏิวัติทางความคิด ปฏิวัติทางวัฒนธรรม และปฏิวัติทางเทคโนโลยี และปันมุนจอม หมู่บ้านเจรจาสงบศึกฝั่งเกาหลีเหนือ เขตปลอดทหาร
สงวนกล่าวว่าแม้ในปัจจุบันการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเกาหลีเหนือก็ยังเป็นเรื่องเสี่ยง เขาเปิดเผยด้วยว่าตัวเขาเคยต้องลี้ภัยไปอยู่ยุโรปแบบเก็บตัวเงียบ เพราะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการรายงานข่าวผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือในประเทศไทยอยู่สองครั้ง ครั้งแรกเป็นข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ทางการทูตของเกาหลีเหนือกับครอบครัวถูกลักพาตัว เมื่อปี 1999 และอีกครั้งหนึ่งในปี 2003 เหตุการณ์ที่คนเกาหลีเหนือ 10 คนหนีเข้าไปที่สถานทูตญี่ปุ่น ช่วงนั้นเขาทำงานกับทีวีญี่ปุ่นช่องหนึ่ง
สุภลักษณ์ มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “คนเกาหลีเหนือถูกโฆษณาชวนเชื่อ เนื่องจากรัฐห้ามรับข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือทุกวัน แต่ทำไมไม่ออกสื่อ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้นำที่ไปศึกษาเล่าเรียนที่สวิสเซอร์แลนด์หลายปี แต่ยังคงมีความคิดแบบบิดา และปู่”
เชิญติดตามบทสนทนาฉบับเต็มได้ที่นี่
