Skip to main content

                เมื่อภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลง จากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์  ที่มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมาสู่โลกของสื่อใหม่ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งปวง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ซึ่งรวดเร็วจนคนทำสื่อเองยังแทบขยับตัวไม่ทันจังหวะการไหลของข่าวบนสื่อใหม่นี้ มองกันว่าสื่อใหม่เป็นพื้นที่ของนักข่าวรุ่นใหม่ที่ทันสมัย คล่องตัว และเร็วตามธรรมชาติของสื่อ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนักข่าวรุ่นเก่าต้องก้าวเข้ามาใช้ช่องทางในพื้นที่สื่อใหม่เพื่อการทำงานตามวิชาชีพของตน พวกเขาจะตามสื่อใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ทันสมัย และคล่องแคล่วเหมือนนักข่าวรุ่นใหม่หรือไม่ ฐานะนักข่าวรุ่นเก่าพวกเขามองสื่อใหม่และคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาทำสื่อใหม่อย่างไร มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ มีคำตอบให้

                บ่ายอ่อนๆ ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ หัวหน้าบรรณาธิการ New TV, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษามติชนทีวีและมติชนออนไลน์ และ อธึกกิต แสวงสุข บรรณาธิการอาวุโส Voice TV สามนักข่าวอาวุโสที่ก้าวออกจากโลกสื่อสิ่งพิมพ์มาสู่ภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ที่มีทั้งสื่ออนไลน์และทีวีดิจิทัล รวมตัวกันเพื่อสนทนาในหัวข้อ “คนทำสื่อเก่าในโลกสื่อใหม่” อันเป็นส่วนหนึ่งของเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา โดยมีพิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท เป็นผู้ชวนสนทนา และนี่คือส่วนหนึ่งของการสนทนาในวันนั้น

การใช้สื่อใหม่ของนักข่าวเก่า

ผู้อาวุโสในวงการสื่อมวลชนทั้ง 3 เป็นคนทำสื่อเก่าที่ขยับตัวเข้ามาเปิดพื้นที่ในเฟซบุ๊ค จนมียอดผู้ติดตามที่น่าจะมากกว่านักข่าวรุ่นใหม่หลายคน โดยเสริมสุข มียอดผู้ติดตามมากถึงกว่า 27,000 คน และ อธึกกิต มีผู้ติดตามเกือบ 25,000 คน ขณะที่นิธินันท์ มียอดเพื่อนเต็มโควตาที่ 5,000 คน และมียอดผู้ติดตามอีกมากกว่า 5,000 คน

                   เสริมสุข บอกว่าเขาใช้เฟซบุ๊คเพื่อสื่อสารประเด็นข่าวกับผู้อ่าน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อครั้งไปทำข่าวศาลโลกพิจารณาคดีความขัดแย้งเหนือเขาพระวิหารระหว่างไทยและกัมพูชา หลังจากนั้นเสริมสุขก็ใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางสื่อสารเรื่องข่าวกับโลกใหม่ใบนี้มาตลอด

                  ขณะที่อธึกกิตเลือกที่จะใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งความสนใจส่วนตัวของเขาในเรื่องที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับงานในชีวิตประจำวันเท่าใดนัก เช่น การเขียนบทความแสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมือง สังคม ไปจนถึงศิลปะและความงามของเรือนร่างหญิงสาว

                “ผมไม่ได้ใช้เรื่องข่าวเพราะผมไม่ใช่นักข่าวภาคสนามโดยตรง จะใช้เพื่อการคอมเมนท์ เพื่อเขียนบทความบ้าง เมื่อก่อนไม่ได้ใช้ทุกวัน แต่พอหลังเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม หลังรัฐประหาร มันว่างเลยใช้ทุกวันยกเว้นวันที่ไปต่างจังหวัดที่ไม่ได้ใช้ เพราะผมใช้พวกนี้ทางมือถือไม่เป็น”

                อธึกกิตยอมรับว่าแม้จะเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คที่มียอดผู้ติดตามเยอะแต่เขาก็ยังถือว่าอยู่ในโลก “โลว์เทค” เพราะไม่สามารถใช้อุปกรณ์การสื่อสารที่อยู่ในหมวดของสมาร์ทโฟนได้ อธึกกิตคิดว่าการที่มีผู้ติดตามเขาจำนวนที่มากจนตัวเองคิดไม่ถึงนี้น่าจะเป็นเพราะเขาเข้าใจธรรมชาติของผู้รับสารบนโลกออนไลน์และตอบสนองธรรมชาตินั้น

              “ถ้าเรามีสาระมากยอดไลค์จะไม่เยอะ แต่ถ้าโพสต์ภาพนู้ดคนไลค์น้อยมากนะ คนไลค์เรื่องการเมืองมากกว่า เราก็แยกได้ว่าคนไหนคืออะไร หากเป็นเรื่องประชาธิปัตย์ยอดจะพุ่งมาก แซวสุริยะใส (กตะศิลา) ยอดพุ่งมาก...เราต้องเขียนแบบให้คนแชร์ต่อได้ สังเกตว่าหากเขียนยาวๆ คนจะไม่อ่าน แต่เขียนแซวสั้นๆ คนจะอ่าน” 

              ส่วนนิธินันท์กล่าวอย่างชัดเจนว่าเริ่มใช้สื่อออนไลน์ครั้งแรกเพื่อ “บ่น”

            “ตอนนั้นเราใช้มันเพื่อบ่น เพราะเราอึดอัดกับสื่อ เราเป็นผู้บริหารเราไม่มีที่ให้เขียนข่าว เราอยากเขียนอะไรที่มันแตกต่างไป” เธอพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เริ่มก้าวเข้าสู่โลกของสื่อใหม่ ตั้งแต่ครั้งยังร่วมงานกับสื่อสิ่งพิมพ์ในค่ายเนชั่น

             ถึงวันนี้เธอยังคงใช้โลกบนเฟซบุ๊คเพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือนำเสนอมุมมองส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับข่าวหรือประเด็นทางสังคมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นประเด็นนี้เธอจะตั้งค่าส่วนตัว และสองเพื่อแชร์ข่าวของมติชนออนไลน์และมติชนทีวี รวมถึงประเด็นที่เป็นข่าวสารความรู้ ซึ่งเธอจะตั้งค่าสาธารณะ

รับมือคอมเมนท์หนักๆ อย่างไร

                ประสบการณ์ที่ยาวนานในอาชีพสื่อมวลชนทำให้ทั้ง 3 คน ต้องได้รับทั้งเสียงชื่นชมจากผู้ที่เห็นด้วยและสนับสนุนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบจากผู้ที่เห็นต่างและคัดค้าน มาอย่างมากมาย แต่เมื่อเสียงสะท้อนของผู้รับสื่อในโลกออนไลน์ รวดเร็ว รุนแรง และชัดเจนกว่าเสียงสะท้อนของผู้รับสื่อในโลกของสื่อเก่ามากมายหลายเท่าตัว พวกเขาจะรับมือกับมันอย่างไร

                “เราถือว่ามันเป็นวอลล์ของเรา มันคือบ้านของเราที่เปิดให้คุณเข้ามา คุณเห็นต่างเรายินดีตอบ แต่ถ้ามาเวิ่นเว้อมาก มีคำหยาบมาก เราก็ขอให้ระงับ ระงับได้ก็ดี หากไม่ระงับเราก็ไล่เขาไป เหมือนกับเราเป็นคนคอนโทรลประตูบ้านของเรา” คือวิธีการรับมือของนิธินันท์   

เธอบอกว่าหลักใหญ่ๆ ที่ใช้จัดการคนที่เข้ามาคอมเมนท์แบบหยาบคายคือการดุ “เรามีการดุบ้าง แต่เราไม่ชวนทะเลาะ แต่เราต้องบอกเขาว่าอย่าทำอย่างนี้อีกเพราะเราไม่ชอบ เราเคยเจอขนาด ‘อีแก่ เหี้.. หางแดง’ เราก็ตอบกับไปว่าคุณพ่อคุณแม่สอนมาแบบนี้หรือคะ  หรือคนที่มาเวิ่นเว้อ เราก็จะพยายามบอกว่าเราพูดประเด็นนี้อยู่อยากย้วยไปย้วยที่อื่น”

                ขณะที่อธึกกิตเลือกที่จะเงียบกับความเห็นต่างที่บางครั้งถึงขนาดถาโถมเข้ามา

                “ผมไม่ตอบหากคนเห็นตรงข้ามกับเรา ตอบทีเดียวมันไม่จบ มันจะเต็มหน้าวอลล์ก็เลือกที่จะปล่อยให้มันจบตรงนั้นโดยที่เราไม่ตอบดีกว่า...มีคนมาชวนทะเลาะผมก็ปล่อยมัน ผมไม่ใช่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ที่จะมาไล่ตอบทุกคอมเมนท์ คนที่มาเห็นด้วยกับเราผมก็ไม่เห็นจำเป็นที่เราต้องไปเสริม ผมก็ไม่ตอบ”

                อธึกกิตยอมรับว่าความสามารถส่วนตัวในการใช้เฟซบุ๊คยังไม่สูงถึงระดับที่จะลบชื่อผู้ติดตามที่หยาบคายมากๆ ออก สิ่งที่เขากระทำเมื่อมีผู้หยาบคายมากๆ จนเกินกว่าจะรับได้คือ “ไล่เขาออกไป ซึ่งเท่าที่จำได้มีแค่ 1-2 ราย”

                นอกจากนี้สำหรับความเห็นที่อาจนำอันตรายมาสู่ตัวเขา เช่น การอาจถูกลากเข้าไปเชื่อมโยงกับ มาตรา 112  เขาเลือกที่จะลบความเห็นนั้นๆ ทิ้งไป

สื่อออนไลน์แข่งกันเร็วต้องไม่แข่งกันผิด

                ธรรมชาติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของสื่อออนไลน์คือความเร็ว จากข่าวหนังสือพิมพ์ที่แข่งกันวันต่อวัน มาสู่ข่าววิทยุและโทรทัศน์ที่แข่งกันรายชั่วโมง จนมาถึงยุคข่าวออนไลน์แข่งกันนาทีต่อนาที เมื่อต้องรีบเร่งในการนำเสนอข่าวสาร ทำอย่างไรไม่ให้ข่าวสารที่ออกไปนั้นมีความผิดพลาดหรือผิดพลาดให้น้อยที่สุด

                ประสบการณ์การทำข่าวที่ยาวนานทำให้ทั้ง 3 คนตระหนักดีว่าความผิดพลาดในการนำเสนอข่าวสารเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ สองประเด็นสำคัญที่นักข่าวทุกคนต้องให้ความใส่ใจและลงมือทำเป็นอย่างยิ่งคือ เมื่อผิดต้องแก้ และต้องพยายามไม่ให้ผิดหรือผิดพลาดน้อยที่สุด

                อธึกกิตและเสริมสุขยอมรับว่าพวกเขาต่างเคยโพสต์หรือแชร์ข่าวผิดที่มีเนื้อหาคลาดเคลื่อน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องจริง

                “ผมเคยผิดครั้งหนึ่งแต่จำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร ผมก็ไปเขียนแก้ให้ การแชร์ข่าวเราจะแชร์จากคนที่เราเชื่อถือ ต้องเป็นข่าวที่ไม่ได้แพร่สะพัด แต่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ” อธึกกิตกล่าว

                เสริมสุขพูดถึงประเด็นนี้ว่า สิ่งที่น่ากลัวของการทำข่าวในยุคสมัยปัจจุบันนอกจากธรรมชาติของสื่อที่แข่งกันเร็วแล้ว ยังเรื่องของบริบททางสังคมที่ตกอยู่ในยุคแห่งความเกลียดชังและการล่าแม่มด ซึ่งคนเสพสื่อและคนทำสื่อพร้อมจะกระโจนใส่ผู้ที่มีความเห็นตรงข้ามกับตัวเองอย่างทันทีทันใด

                “นักข่าวรุ่นใหม่ไม่ได้แย่นักหนา แต่เขาให้เวลากับข่าวน้อยกว่านักข่าวรุ่นเก่า ตอนรุ่นเรามันมีเวลาคิดแต่รุ่นนี้มันต้องส่งทันที บางเรื่องแบ็คกราวด์ของเรื่องนั้นเขามีไม่พอแต่ถูกเร่งให้ส่งเรื่องเลย ผมว่ามันเป็นเรื่องของการมุ่งเร็ว สร้างจุดขายทางอารมณ์ สร้างดราม่า ที่บางครั้งมีการหาผู้ร้าย หาแพะด้วย เช่น ย้ายทหารก็เอาไปโยงกับโรฮิงญา มีผู้ร้ายแล้ว  บางทีเราไม่ได้รู้สึกอะไรเพราะมันเป็นกลไกไป  สิ่งเหล่านี้มันเริ่มมากขึ้นในเวลาที่มันเป็นข่าวดราม่า ความพลาด พวกนี้ผมว่ามันจะเยอะขึ้น อย่างข่าวโรฮิงญาขอดูหนังเอ๊กซ์ ข่าวนี้ผิดจริงๆ เลยโดยเจตนา คือมุ่งหาผู้ร้าย”

                นิธินันท์มองว่าประเด็นสำคัญของการเกิดความผิดพลาดในการทำงานคือ การขาดหลักการทำสื่อที่ถูกต้อง

                “เราลืมหลักจริยธรรมสื่อ คนทำข่าวต้องมีความรู้เรื่องข่าว ยุคนี้ใครๆ ก็เป็นนักข่าวพลเมือง คนอ่านที่ฉลาดกว่าเรามีทั่วโลก เราลืมไป คิดไปว่าเราเป็นคนผูกขาดการเข้าถึงข้อมูล....หลักการที่ต้องจำแม่นก็เหมือนกับหลักการทำปริ้นท์ ผิดเราต้องแก้ หลักเกณฑ์สื่อปริ้นท์คือลงไปแล้วแก้ไข ส่วนของออนไลน์แก้ไขหลายรอบปริ้นท์ต้องตรวจทานหลายรอบก่อนพิมพ์ แต่ออนไลน์ตรวจทานอาจจะน้อยรอบไปหน่อย เพราะต้องแข่งกันเรื่องความเร็ว”

                เมื่อพูดถึงความเร็วในโลกของข้อมูลข่าวสาร นิธินันท์มองว่าคนทำสื่อต้องแข่งกันด้วยเรื่องของความเร็วตลอดเวลาตั้งแต่สื่อใหม่ยังไม่เกิดขึ้น

                “ตอนเป็นปริ้นท์มันก็มีแข่งกันตลอดเวลาในเรื่องความเร็ว แต่สื่อออนไลน์ทำให้ภาพการแข่งขันชัดเจนขึ้น เรื่องความเร็วเป็นเรื่องปกติ เป็นประเด็นที่สื่อเถียงกันตลอดเวลาว่าจะเอาเร็วหรือจะเอาถูกต้อง เรายืนยันว่าความถูกต้องสำคัญว่า คุณช้ากว่า 5 นาที 10 นาทีได้ไม่เป็นไรแต่ต้องถูกต้อง” ที่ปรึกษามติชนออนไลน์และมติชนทีวีกล่าว


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) นิธินันธ์ ยอแสงรัตน์, อธึกกิต แสวงสุข, เสริมสุข กษิติประดิษฐ์, และพิณผกา งามสม

แข่งกันเร็ว แย่งกันผิด ผลงานนักข่าวรุ่นใหม่หรือผลผลิตของบก.รุ่นเก่า

                อธึกกิตมองว่าสิ่งที่นักข่าวรุ่นใหม่ๆ ขาดไปคือหลักวิจารณญาณ เขายกตัวอย่างข่าวที่เผยแพร่กันทางออนไลน์กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งย้ายนายทหารระดับผู้การกรม ในกองทัพบกว่า ผู้ที่ไม่มีวิจารณญาณจะเชื่อและกระจายข่าวนี้

                “แต่หากเราเข้าใจระบบ เราก็ต้องสังเกตว่าคนระดับ รมว. กลาโหม จะมาพูดเรื่องนี้หรือ หากพูดมันต้องมีขั้นตอน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่จะต้องมีข่าวออกมาก่อน หรือกรณีเจ้าอาวาสวัดหนึ่งบอกว่าโดนเสือตะปบ วันแรกเราก็หน้าแตกกันเยอะ แต่พอมาเห็นภาพวันหลังมันไม่ใช่ ถ้าเสือตะปบแผลมันต้องรุนแรงกว่านี้”

                ขณะที่นิธินันท์ตั้งคำถามย้อนกลับไปว่าการที่นักข่าวรุ่นใหม่ในสื่อใหม่ นำเสนอข่าวที่แข่งกันเร็วและแย่งกันผิดเป็นผลมาจากตัวบรรณาธิการที่เป็นคนรุ่นเก่าหรือไม่

                “คำถามคือบรรณาธิการหรือเปล่าที่เป็นคนรุ่นเก่าและตระหนกกับความเร็วของสื่อในโลกออนไลน์ แล้วไปกดดันให้นักข่าวเร็วและเอายอดไลค์”

                นิธินันท์ตั้งคำถามกับอธิกกิตและเสริมสุข ว่าครั้งแรกเมื่อได้ยินข่าวมรณภาพของหลวงพ่อคูณ ผู้อาวุโสมากด้วยประสบการณ์ในการทำข่าวทั้ง 2 คน จะทำอย่างไร ลงข่าวที่นักข่าวส่งมาทันที หรือมีทางเลือกอื่น

                “ผมไม่ลง แต่จะต้องเตรียมสกู้ปเกี่ยวกับท่านเผื่อไว้” เป็นคำตอบของอธึกกิต ทั้งนี้เขามองว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ หากข่าวการมรณภาพของหลวงพ่อคูณได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริง ผู้อ่านหรือผู้ชมของเขาจะได้รับข้อมูลเชิงลึกมากกว่าการรับรู้ว่าพระเกจิดังแห่งอีสานท่านนี้มรณภาพแล้วเท่านั้น

                ขณะที่เสริมสุขก็ปฏิเสธที่จะยังไม่ลงข่าวทันทีเช่นกัน

                แล้วกับเนื้อหาของสื่อออนไลน์ที่ดูแล้วเหมือนการส่งกันไป แชร์กันมา ข่าวที่ไม่น่าเป็นข่าวก็กลายเป็นข่าวในโลกข่าวใหม่เต็มไปหมด นักข่าวรุ่นเก่าที่เติบโตมาจากสื่อเก่ามองกันอย่างไร

                “ข่าวดราม่ามีมาตลอด ต่อให้ไม่มีออนไลน์ ปริ้นท์ก็ทำแบบนี้ เมืองนอกก็มีแต่เขาแยก section บนออนไลน์เขาก็แยก เพราะคนชอบอ่านข่าวแปลก ข่าวตลก ข่าวสนุกมีอยู่ แต่เขามาตรฐานสูงกว่าเรา เพราะเขาเป็นต้นทาง เขาฉลาดรู้จักว่าผู้ชมเขาต้องการอะไร ก็แบ่งไปตามความต้องการ หากคุณไม่แยกคุณก็โดนคนอีกกลุ่มหนึ่งด่า ผู้บริโภคสื่อก็เป็นมนุษย์ คนทำสื่อจะประสบความสำเร็จได้ต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์” นิธินันท์กล่าว

                เธอมองว่าการทำสื่อออนไลน์ของสังคมไทยทุกวันนี้ทำให้สื่อกลายเป็น trend follower (คนวิ่งตามกระแส) ทั้งที่จริงสื่อสามารถเป็น trend setter หรือผู้นำกระแสได้

                เมื่อพูดกันถึงคุณภาพของนักข่าวระหว่างผู้มาใหม่กับผู้อยู่ก่อน ทั้ง 3 คนเห็นพ้องกันว่า คุณภาพของข่าวที่ปรากฏทุกวันนี้แม้จะผลิตโดยคนทำข่าวรุ่นใหม่ แต่ผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อคุณภาพข่าวที่ปรากฏสู่สังคมคือนักข่าวเก่าที่มาก่อนอย่างพวกตนเอง รวมไปถึงระบบโดยรวมของวงการข่าวไทยด้วย

                “คนทำสื่อมันโตไว พี่เลี้ยงเด็กรุ่นใหม่เลยมีน้อย บก.สื่อใหม่ มันขาดช่วง สมัยก่อนพวกเราต้องส่งข่าวทางโทรศัพท์ นักข่าวสภา นักข่าวทำเนียบ จะต้องเป็นมือเก๋า ไม่ใช่เรียนจบมาก็ไปยืนรายงานข่าวสดเลย” อธึกกิตกล่าว

                เสริมสุข เห็นด้วยกับอธึกกิต เขากล่าวว่า สำนักข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ซีเอ็นเอ็น บีบีซี ผู้ที่จะก้าวเข้ามายืนรายงานสถานการณ์สดทางทีวีได้ต้องเป็นนักข่าวที่มีต้นทุนในการทำข่าว เป็นนักข่าวระดับอาวุโส

                “ของบ้านเราพออาวุโส มีประสบการณ์หน่อยก็ไม่อยากออกแล้ว อยากไปนั่งเป็น บก. ข้างใน” เสริมสุขกล่าว

                นิธินันท์มองประเด็นนี้ว่าวงการข่าวเมืองไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเป็นนักข่าวอาวุโส หรือการเป็นนักข่าวมืออาชีพที่จะอยู่ในภาคสนาม สถานการณ์ปัจจุบันของวงการสื่อมวลชนไทยคือ พอเป็นนักข่าวภาคสนาม ประสบการณ์ระดับหนึ่งจะถูกดึงเข้าไปเป็นบรรณาธิการข่าว ทำให้ภาคสนามมีแต่นักข่างน้องใหม่ที่ด้อยประสบการณ์

                “เด็กรุ่นใหม่มีอะไรในตัวเยอะมาก พอเขามาเจอระบบแบบนี้เขาอยู่ไม่ได้ เขางง ก็เลยทำอะไรตามใจตัวเอง”          อธึกกิตกล่าวเสริมว่านอกจากวงการสื่อไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นนักข่าวอาวุโสแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการไม่รู้จักความเหมาะสมในศักยภาพหรือคุณสมบัติของคนข่าวแต่ละคน

                “นักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างเจ๊ยุ มองกันแต่ว่าตัวเองควรได้เลื่อนตำแหน่ง อยากเข้าไปเป็นรีไรท์เตอร์อยู่ข้างใน พอเข้าไปแล้วก็เป็น dead wood บางคนเป็นนักข่าวเก่ง แต่อาจด้วยการถูกกดดันว่าทำไมอยู่ภาคสนามตั้งนานไม่ได้เป็นหัวหน้าข่าวสักที ทั้งที่มันมีลักษณะงานต่างกัน คนอยู่ข้างในเป็น บก ต้องพาดหัวข่าวเป็น สมัยก่อนโหดกว่านี้ ต้องพาดหัวข่าวให้ลงตัว กำหนดอักษรอย่างละ 8 8 8 ตัว บก ต้องทำให้ได้ เรื่องแบบนี้เจ๊ยุอาจจะทำไม่ได้ การวางระบบเพื่อสร้างนักข่าวให้เป็นอย่างเจ๊ยุเราไม่มี ทั้งที่การเป็นนักข่าวสำคัญเท่ากับการเป็น บก. แต่ระบบของเราไม่เอื้อ” อธึกกิตกล่าว

                “เจ๊ยุ” ที่อธึกกิตพาดพึงถึงคือ ยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งอยู่ในสนามข่าวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 40 ปี  

นักข่าวเก่าในโลกสื่อใหม่