Skip to main content

ผู้หญิงในสื่อ คือหนึ่งใน 12 ประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจอย่างมากในการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อทบทวนปฏิญญาปักกิ่งว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมสถานภาพผู้หญิง (Asian and Pacific Conference on Gender Equity and Women's Empowerment: Beijing+20 Review) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ด้านสถานการณ์ผู้หญิงในสื่อของประเทศไทยนั้น ก้าวไปถึงไหน หรือมีอุปสรรคใดบ้าง?  ฟังประสบการณ์ของนักข่าวและสื่อผู้หญิงในวงเสวนามีเดีย คาเฟ่ หัวข้อ “ฟังนักข่าวหญิงเล่าเรื่องผู้หญิงในงานข่า­ว” ซึ่งจัดโดย มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ และ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ร่วมสนทนา คือ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษามติชนทีวี, นูรียะ ยูโซะ ผู้ประสานงานฝ่ายรายการ Face Time สปริงนิวส์ และ พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าว PPTV โดยมี พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท เป็นผู้ชวนสนทนา

////////////////////////////////////////

พิณผกา งามสม : การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคนทำข่าวหญิงล้วน หลากรุ่นหลายวัย มาเล่าประสบการณ์ในการทำงาน โดยตั้งคำถามเรื่องความท้าทายเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายในการทำงานว่าทำให้ทำงานยากหรือง่ายขึ้นหรือไม่อย่างไร  

นูรียะ ยูโซะ มีประสบการณ์ในวงการข่าว 2 ปี ปัจจุบันทำหน้าที่ประสานงานรายงานเผชิญหน้า, รายการปฏิรูปกฎหมาย รายการมวยจริง สปริงนิวส์ เล่าจากการทำงานในบทบาทเจ้าหน้าที่ประสานงานรายการ ต้องติดต่อกับแขกรับเชิญ อาจเป็นผู้ใหญ่หรือพนักงานด้วยกัน

“สิ่งที่พบคือ นักข่าวหญิงมักถูกคุกคามทางเพศโดยทางวาจา เช่น การออกกองกับช่างภาพ และคนขับรถผู้ชาย ที่มักพูดว่า “ออกกองบ่อยๆ อย่างนี้มันต้องมีบ้างนะ” กรณีล่าสุด มีน้องมาเล่าให้ฟังว่า เจอพี่คนหนึ่งไปทำข่าวกับเขา เขาพูดว่า “ออกกองด้วยกันขนาดนี้กูว่าต้องเคยโดนซักทีแล้วล่ะ เอางี้มั้ย มึงก่อนเดี๋ยวกูดูต้นทางให้” นี่คือสถานการณ์ที่อยู่ในรถสามคน มีน้องเป็นผู้หญิงคนเดียว ตอนแรกๆ น้องคิดว่าพูดเล่น แต่ปรากฏว่าพูดอย่างนี้ทั้งวัน กลับมาน้องร้องไห้ เพื่อนๆ ก็ไม่ยอมจึงไปบอก บก. มีการเรียกมาเคลียร์ ผู้ชายก็บอกว่ายอมรับว่าพูด แต่บอกว่าเพียงแค่พูดเล่นกัน ไม่เห็นต้องคิดอะไรมาก ไม่มีใครขอโทษ แล้วเขาก็บอกว่าก็แต่งตัวซะขนาดนี้ ทั้งๆ ที่น้องเขาเป็นมุสลิม”


นูรียะ ยูโซะ เล่าเรื่องการแทะโลมทางเพศในงานข่าว

การถูกแทะโลมเรื่องเพศ และการพูดอ้อนสร้างความสนิทกับแหล่งข่าวเพื่อให้ได้ข้อมูล

นอกจากนี้ ความเป็นเด็กทำให้แขกรับเชิญบางท่านที่เป็นผู้ใหญ่กว่าแทะโลมบ้าง นูริยะ กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากงาน คือ ต้องพยายามสำรวม และนิ่งให้มากที่สุด เมื่อผู้ที่ตนประสานงานด้วยบางคนใช้วาจาเชิงแทะโลม

“ที่ผ่านมามีเลขาฯ ของผู้ใหญ่บางท่านมาติดพัน ไลน์มาบ่อยๆ เราก็ตีตัวออกห่าง แต่เวลาทำงานก็ ท่านคะ ท่านขา อีกรอบหนึ่ง”

พรทิพย์ โม่งใหญ่ อดีตนักข่าวสายสังคมและผู้ประกาศข่าวของวอยซ์ทีวี มีประสบการณ์งานข่าวเกือบ 4 ปี ก่อนย้ายไปทำรายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย   ไทยพีบีเอส จากนั้นร่วมงานกับโมโนบรอดคาสท์ และถูกให้ออกหลังจากแสดงเชิงสัญลักษณ์ปิดปากเพื่อสะท้อนสถานการณ์เสรีภาพสื่อ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา   แบ่งปันประสบการณ์ว่าเธอถูกคุกคามจากการแสดงออกทางการเมืองซึ่งเป็นการโจมตีประเด็นทางเพศโดยตรง  

“จริงๆ แสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม มีการประกาศกฎอัยการศึกห้ามแสดงความคิดเห็น ห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำรัฐประหาร ทั้งที่ช่วงนั้นมีหลายสื่อที่เชิญนักวิชาการมาออกรายการมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจี๊ยบเองตัดสินใจออกมาแสดงออกเพราะไม่เห็นด้วย แม้จะออกมาจากไทยพีบีเอสแล้วแต่จิตวิญญาณสื่อสาธารณะยังมีอยู่ เลยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีอำนาจใดไปปิดสื่อ ปิดช่องทางของประชาชน วันรุ่งขึ้นจึงตัดสินใจแสดงออก เพื่อแสดงให้เห็นว่า หนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับประกาศนี้ สอง ต้องการบอกกับประชาชนและเพื่อนที่อยู่ใน Facebook ว่าต่อไปนี้จะเสพสื่ออะไรต้องรู้ด้วยนะว่าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อย่าไปเชื่อทั้งหมด และสาม เป็นการเรียกร้องทางอ้อมหลังจากที่สมาคมสื่อเงียบมาหลายครั้งแล้ว และคิดว่าประสบความสำเร็จหลังจากที่สมาคมสื่อก็ออกมาหลังจากที่เราแสดงออกไป”

 
พรทิพย์ โม่งใหญ่ แสดงออกทางสัญญลักษณ์สะท้อนสถานการณ์สื่อ แต่กลับถูกโจมตีด้วยข้อความคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์

การแสดงออกทางการเมืองกับการถูกคุกคามโจมตีประเด็นทางเพศผ่านโลกโซเชียล

 “จากนั้นมีกระแสคุกคามใน facebook และ twitter เป็นการโจมตีแบบ “เดี๋ยวข่มขืนยกโคตรเลย” “ลากมันไปขึงพรืดเลย” “อยากได้ผัวกี่คน” ข้อความลักษณะนี้เยอะมาก หลายร้อยข้อความในช่วงสองสามวัน”

อย่างไรก็ตาม พรทิพย์บอกว่าเธอไม่ได้ให้ความสำคัญมากเพราะเห็นว่าการคุกคามในโลกโซเชียล  ผู้กระทำต้องการให้เสียหน้ามากกว่า ไม่ได้ต้องการจะทำจริงๆ ขอแค่ให้สะใจ โดยส่วนตัวเชื่อว่าสังคมไทยไม่ได้ใจร้ายขนาดที่เขาจะทำตามที่ข่มขู่ไว้

พิณผกา: ในส่วนของงานข่าว นักข่าวผู้หญิงมีเรื่องท้าทายอะไรบ้าง

พรทิพย์ มองว่าการเป็นผู้หญิงมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบ ข้อได้เปรียบ เช่น ใช้ความเป็นผู้หญิง “อ้อล้อ” กับแหล่งข่าวระดับสูงได้เพื่อให้ได้รับความร่วมมือ “ลักษณะหนึ่งของแหล่งข่าวที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา คือจะใช้อำนาจกดทับ เนื่องจากเราเป็นผู้หญิงและยังเด็กอยู่ด้วย ช่วงแรกๆ ที่ทำข่าวก็จะเงิบ มึนแล้วก็กลับเลย แต่เมื่อทำข่าวมาสักระยะจะเริ่มรู้ทางหนีทีไล่”   พร้อมแนะว่านักข่าวควรมีข้อมูลพร้อม เพื่อให้แหล่งข่าวให้ความร่วมมืออย่างดีและไม่ได้ถูกดูหมิ่นเรื่องไม่มีสติปัญญา

ส่วนเรื่องแหล่งข่าวมาติดพันนั้น พรทิพย์เล่าว่ามีมากมาย ทั้งไลน์ และเฟซบุ๊ก “นักการเมืองจะก้อร่อก้อติก บางคนสุภาพหน่อย บางคนจะคุยๆ ลามปามเข้าเรื่องส่วนตัว เช่น เย็นนี้ว่างไหม กินข้าวไหม มีนักข่าวอาวุโสหญิงที่ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเตือนให้ “วางตัวให้ดีนะ วางตัวไม่ดี ระวังเป็นเมียพวกหน้าห้อง มีมาเยอะมากแล้ว อาจต้องใช้จริตจกร้านในการเอาข้อมูลบ้าง แต่ถ้ามากเกินไปก็คิดว่าไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง นักข่าวใหม่ผู้หญิงบางคนก็เสียชั้นเชิงให้กับนักการเมืองไปแล้ว


นิธินันท์ ยอแสงรัตน์

แหล่งข่าวติดพันเชิงชู้สาวไม่ใช่เรื่องใหม่ สื่ออาวุโสแนะต้องทำงานแบบมืออาชีพ

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่มีประสบการณ์การทำงานในวงการสื่อสารมวลชนมานานเกือบ 30 ปี ทั้งในหน้าที่นักข่าว บรรณาธิการ และผู้บริหารสื่อ กล่าวว่าเธอไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องแหล่งข่าวเรื่องเชิงชู้สาว  และมองว่าแหล่งข่าวผู้ชายก็เหมือนผู้ชายอื่นๆ ที่รู้จัก เวลาเข้ามาในวงการ นักข่าวต้องมีความรู้ ส่วนการพูดจานั้นก็เป็นเรื่องบุคลิกส่วนตัวที่พูดจาไพเราะและสุภาพ

อย่างไรก็ตาม นิธินันท์เล่าวว่าเธอเคยเจอเหตุการณ์ที่หนักกว่าน้องๆ  “อย่างแหล่งข่าวทหาร เขาจะกินเบียร์กินเหล้ากันด้วย เราก็ต้องฝึกคอแข็ง ผู้ชายจะเมาก็เมาไป เราก็จะกินแก้วนั้นแก้วเดียว แก้วเดียวจริงๆ เลย ไม่เติม จนกระทั่งยุงวางไข่ มีเหตุการณ์ที่แหล่งข่าวขับรถไปส่งที่บ้านลาดกระบัง แหล่งข่าวเลี้ยวเข้าซอยมืดแล้วลวนลาม ตอนนั้นในวัยเด็กมองในแง่ความเป็นคน ดิฉันก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ถีบแหล่งข่าวแล้วก็เปิดประตูเดินลงมา แหล่งข่าวคงสร่างเมาเล็กน้อยเลยเดินมาตามขึ้นรถเพราะทางมันเปลี่ยว แล้วรุ่งขึ้นก็ส่งดอกไม้มาขอโทษ ดิฉันเจอมาแล้วแต่ก็ไม่ได้คิดอะไร ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกวิตกอันใด ถ้ามาฉันก็ถีบ เรื่องมากฉันก็ชก จริงๆ เรียบร้อยนะ แต่ใครอย่ามาเล่นไง มันก็ง่ายๆ แค่นี้เอง”

ด้านข้อดีของการเป็นนักข่าวหญิง นิธินันท์เห็นด้วยกับพรทิพย์ว่าข้อดีคือ กริยาคำพูดสุภาพเรียบร้อย คนจะเอ็นดูได้ง่ายกว่า แต่ข้อเสียคือ เสี่ยงที่จะโดนลวนลาม ถ้าไม่แข็งพอหรือเคลิ้มตาม “มีนักข่าวไม่น้อยที่เป็นภรรยาลับๆ ของรัฐมนตรีบางกระทรวง หรือไปนั่งหน้าห้องให้นักการเมือง อยากให้นักการเมืองเลี้ยงดู โดยเฉพาะสมัยก่อน นักการเมืองภาคใต้จะมีเมียทิ้งไว้ตามเมืองต่างๆ ที่เขาไปหาเสียง ภาษาผู้ชายเขาจะเรียกว่า “ร้อยไว้ใช้” ดังนั้น เขาก็จะร้อยนักข่าวหญิงไว้ใช้ด้วยเหมือนกัน”  

นิธินันท์เสนอแนะว่านักข่าวหญิงควรพูดจาไพเราะกับแหล่งข่าวทุกๆ คนและทำตัวให้เก่งก็พอ

ในทัศนะของนิธินันท์ ความเป็นผู้หญิงกับแหล่งข่าวอาจจะไม่ได้เป็นปัญหามากนักแต่ภายในที่ทำงานอาจมีปัญหาบ้าง

“นักข่าวผู้ชายบางคนอาจถามว่าเก่งจริงหรือเปล่า หรือหัวหน้างานเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิง ซึ่งในความเป็นจริง ความเก่งไม่เกี่ยวกับเพศ ความเอาจริงเอาจังสนใจในประเด็นใดๆ มันไม่เกี่ยวกับเพศ ดังนั้นจงมุ่งมั่น นักข่าวหญิงก็จงมุ่งมั่น น่าสนใจว่า สมัยดิฉันเป็นเด็กเรามองแต่ว่าผู้หญิงถูกกดขี่ทางเพศ เป็นวัตถุทางเพศ แต่ผู้หญิงสมัยใหม่เดี๋ยวนี้เขามองว่าเราใช้ความสวย ความเป็นผู้หญิงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งได้ ทัศนคติเรื่องนี้เปลี่ยนไปบ้างเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับตัวเอง แต่ยังยืนยันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สมองของเรา”

ผู้หญิงกับการทำข่าวในพื้นที่เสี่ยง

พิณผกา: ข้อจำกัดทางเพศเป็นส่วนหนึ่งที่ตัดโอกาสไม่ให้นักข่าวหญิงทำงานในบางสนามข่าวหรือไม่

พรทิพย์ กล่าวว่ากองบรรณาธิการจะคำนึงถึงความเสี่ยงและอันตรายเป็นพิเศษกับผู้สื่อข่าวผู้หญิง โดยยกตัวอย่างเรื่องการปะทะกันที่ตะเข็บชายแดนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร “มีประเด็นในกรุงเทพฯ เยอะมากเราตามเยอะมาก ทั้งแถลงข่าว ทั้งเสวนา แต่วันหนึ่งมีการปะทะกัน คนที่ตามเรื่องนี้มาตลอดอยากลงพื้นที่  เพราะเรามีภูมิความรู้ในส่วนนั้น เราอยากได้รับโอกาสนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติในการทำงานด้วย แต่เอาเข้าจริงทางสถานีก็จะเลือกผู้ชายเป็นหลักเพราะคำนึงเรื่องความปลอดภัย เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ นักข่าวหญิงหลายๆ คนก็เข้าใจว่าผู้ใหญ่คำนึงถึงความปลอดภัย แต่ก็น้อยใจเล็กๆ อย่างไรก็ตาม อยากจะบอกนักข่าวทั้งหลายว่าถ้าเราแน่ใจว่าเราทำได้ควรจะบอกเขาเลยว่า “พี่ หนูขอลงเถอะ หนูทำได้” โดยที่ก่อนหน้านั้นเราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นก่อนว่าเราสามารถทำได้จริงๆ เราได้ข่าว เราปลอดภัยและข่าวนั้นจะมีคุณภาพด้วย ถ้าเราสะสมต้นทุนมาดี พอเกิดเหตุ กองบรรณาธิการก็จะไม่ลังเลเลยที่จะส่งผู้หญิงไปในพื้นที่ที่ขัดแย้ง”

นูรียะ เสริมว่าก่อนหน้าจะมาทำงานประสานงาน เคยลองทำข่าวคดียาเสพติด หัวหน้าเปิดโอกาสให้ทุกคน เป็นผู้หญิงก็ไปได้ แต่มีข้อจำกัดด้านครอบครัว “การที่เราต้องไปตามข่าวนี้ในเวลากลางดึก ที่บ้านก็จะเป็นห่วงมาก เป็นผู้หญิงทำข่าวอย่างนี้ได้อย่างไร”

อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันในห้องข่าว 

พรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติม “เราเองก็เจอเหมือนกันในช่วงทำข่าวแรกๆ นักข่าวหญิงแทบทั้งนั้นที่เจอการไม่ยอมรับเพราะเพศ เพราะประสบการณ์การน้อยกว่า พอเห็นเด็กใหม่เพิ่งจบก็อคติว่า “ไม่รู้เรื่อง” เขาจะคอยหาจังหวะคอยจับผิดเราตลอดเวลาแทนที่จะทำงานเป็น team work เราเด็กที่สุดและเป็นผู้หญิงด้วย ยอมรับว่าในช่วงแรกกดดันมาก เครียดมาก มีร้องไห้บ้าง ทำไมช่างภาพต้องว่าเราว่าทำงานไม่เป็น โง่ เราต้องพยายามแสดงให้เห็นว่า เรามีวุฒิภาวะพอที่จะเป็นผู้นำ ประเด็นเป็นของเรา ทุกคนต้องฟังเรา คุณดีไซด์ภาพของคุณไป ผู้ช่วยก็ขับรถไป แต่ก็ต้องเป็นผู้นำให้ได้ เราต้องมีอาวุธติดอยู่ในสมอง ข้อมูลความรู้ต้องมีเพื่อใช้กับการตั้งคำถามกับแหล่งข่าว และเมื่อช่างภาพหรือผู้ช่วยช่างภาพมีปัญหา เราจะได้เอาความรู้นั้นมาอธิบายให้เขาเข้าใจและยอมรับด้วย เช่น เราจำเป็นต้องไปที่นี่เพราะอะไร ทำไมเราต้องไปต่อแทนที่จะกลับสถานี”

ในเรื่องการคุกคามด้วยวาจาในแบบที่นูรียะเล่าให้ฟังนั้น พรทิพย์กล่าวว่าโดยส่วนตัวไม่เคยเจอ “อาจเป็นเพราะบุคลิกห้าวๆ แต่งตัวทะมัดทะแมง แล้วก็ปากร้ายด้วย ถ้าเจอแบบนั้น ก็จะถามเลย “มีอะไร พูดใหม่” จะอัดเทปแล้วจับข้อมือไปหา บก.ด้วยกันเลย”

นิธินันท์ มองว่าประเด็นสำคัญคือ ทัศนคติของผู้ชายในวงการสื่อเกี่ยวกับผู้หญิงยังต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “ไม่เกี่ยวกับว่าเราจะแต่งตัวอย่างไร ต่อให้เราแต่งตัวรัดกุม แต่ “เธอหน้าอกใหญ่มาก” อ้าว แล้วมันความผิดของเราหรือ หรือ “เธอยิ้มสวยจัง” อ้าว ก็พ่อแม่ฉันให้มาแบบนี้”

นอกจากนี้ นิธินันท์ตั้งประเด็นที่น่าคิดอีกประเด็นที่สาวๆ รุ่นใหม่ชอบใช้คำแทนตัวเองว่า “หนู” “ภาษาไทยนี่มีปัญหา เพราะ “หนู”เป็นคำใช้แทนตัวเองที่ทำให้เราเล็ก ฉะนั้น ควรพยายามไม่ใช้ คุณต้องเสมอภาคกับแหล่งข่าวของคุณ เสมอภาคกับเพื่อนร่วมอาชีพของคุณ เราไม่ได้ต่ำต้อย เรามีอาชีพหาความจริง” สำหรับเรื่องการถูกคุกคามด้วยวาจาที่เล่ามา ถ้าอยู่ในสายบังคับบัญชาดิฉันคือ ไล่ออกสถานเดียว”

ผู้หญิงยังเป็นแค่ลูกคู่ในรายการคุยข่าว เป็นอาหารตาในรายการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาย 

พิณผกา : หากถอยออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัว สัปดาห์ที่แล้วได้อบรมกับนักข่าวในเอเชียแปซิฟิก ปัญหาการมองไม่เห็นถึงความเท่าเทียมทางเพศ มันไม่ได้อยู่ข้างนอกแต่อยู่ในห้องข่าวของเราเอง ไม่ทราบวิเคราะห์คนทำสื่อในบ้านเราอย่างไร

พรทิพย์ ตั้งข้อสังเกตโดยยกตัวอย่างรายการคุยข่าวที่มีชายกับหญิงว่า ผู้ชายจะเป็นผู้นำ และผู้หญิงจะเป็นตัวรองรับประเด็น “ไม่รู้ว่าเป็นวัฒนธรรมหรือทำตามๆ กัน แต่ยังไม่เคยเห็นรายการไหนที่ผู้หญิงเป็นผู้นำประเด็น ทั้งที่จริงๆ ผู้หญิงก็นำประเด็นได้ หรือมีบทบาทอย่างเท่าเทียมกัน ตอนนี้เป็นการลอกคาแรคเตอร์ให้คล้ายๆ บางรายการที่โด่งดังกันทั้งหมดเลย เราอาจต้องตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องให้ผู้ชายนำ? ดำเนินรายการด้วยความเท่าเทียมกันได้หรือไม่? คนดูจะหายไปหรือไม่?”

นูรียะ เพิ่มเติมว่า “กลุ่มเป้าหมายบางรายการเป็นผู้ชาย เขาจะเอาผู้ประกาศผู้หญิงมาดำเนินรายการ บางทีก็ต้องมีสัดส่วนใหญ่ สิ่งที่เจอคือ ก่อนจะถ่ายบันทึกภาพ ช่างภาพจะซูมเข้าไป เรานั่งอยู่ในห้องควบคุมก็รู้สึกว่าพี่ๆ ทำอะไรกัน เขาซูม เขาช้อนภาพกันแบบนี้ โดยที่คนที่อยู่ในห้องบันทึกเทปไม่รู้ตัว”

นิธินันท์ แสดงความเห็นว่าวงการสื่อทั้งเพศหญิงเพศชายยังไม่เข้าใจเรื่อง gender และความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน “ประเด็นย่อยที่เล่ามาการแต่งตัวโป๊หรือไม่โป๊ การใช้ความเป็นหญิง หรือการใช้เรือนร่างเป็นเครื่องมือไม่ใช่เรื่องผิด แต่คุณไปล่วงล้ำ ล่วงเกินโดยที่เจ้าของร่างกายเขาไม่ได้อนุมัติเท่ากับคุณไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา”

ส่วนการจัดรายการคุยข่าวที่ผู้ผลิตรายการมักให้ชายเป็นผู้นำและให้หญิงเป็นลูกคู่นั้น นิธินันท์เห็นแย้งว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป “ลองนึกดูว่า ถ้าให้คุณณัฏฐา โกมลวาทิน, กรุณา บัวคำศรี, ณาตยา แวววีรคุปต์ หรืออีกหลายคนมาดำเนินรายการคู่กับผู้ชาย เขาคงไม่ยอม เพราะเขามีอะไรในสมอง ประเด็นคือเป็นแนวคิดของโปรดิวเซอร์ พอผู้หญิงเป็นตัวเอก ไม่ต้องมีผู้ชายเป็นลูกคู่ แต่พอผู้ชายเป็นตัวเอก ต้องมีผู้หญิงเป็นลูกคู่ เพราะเป็นการเบรคให้เบา มีสีสัน เขายังมองผู้หญิงเป็นอาหารตาอยู่ หรือทำรายการให้ผู้ชายดูก็คัดผู้หญิงสวย แต่ถ้าทำรายการให้ผู้หญิงดูเขาก็อาจคัดผู้ชายหล่อมาจัด อันนี้ก็ต้องมองหลายๆ ชั้นสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มุมมองต่างๆ มันทับซ้อนกัน แต่บางอย่างก็เป็นปัญหาจริง เราต้องแยกและทำความเข้าใจให้ดี”

ผู้หญิงกับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในองค์กรสื่อ

พิณผกา : เรื่องการต่อสู้ของผู้หญิงในสนามข่าวก่อนที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในองค์กรสื่อ พี่นิธินันท์มองว่าสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้หญิงมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน  บรรยากาศที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้คลี่คลายดีขึ้นบ้างหรือไม่

นิธินันท์ กล่าวว่าเป็นความเศร้าชอบกลที่จะบอกว่า มันไม่ได้แตกต่างสักเท่าไร นอกจากองค์กรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น ประชาไท ก็คงไม่มีปัญหาแบบนี้ แต่องค์กรสื่อเก่าแก่ทั้งหลายยังคงเห็นผู้หญิงเป็นรอง มีบ้างเหมือนกันที่ผู้หญิงขึ้นมาเป็นหัวหน้าหน่วย แต่มักเป็นกรณีที่ ตัวเลือกผู้ชายไม่เหลือ ยกตัวอย่างสององค์กรที่เคยอยู่ สำหรับเครือเนชั่น นักข่าวหญิงมีจำนวนเยอะกว่าผู้ชาย หัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็เป็นผู้หญิง เพราะมีความเชี่ยวชาญแม่นยำกว่าผู้ชาย เขาก็ไม่ได้จะเลือกเฉพาะผู้ชาย ส่วนเครือมติชนก็มีหัวหน้าผู้หญิงขึ้นมา ดูแล้วเหมือนจะดีขึ้นนิดหน่อย แต่ภาพรวมทั้งหมดยังคงเป็นแบบเดิม และระยะหลังๆ โอกาสที่คนรุ่นดิฉันจะคุยกับคนรุ่นคุณมันไม่มี ทำให้ไม่ทราบว่าปัญหามันยังดำรงอยู่ขนาดนี้ เคยเจอมาบ้างกรณีหัวหน้างานบอกพนักงานที่ยังไม่ผ่านโปรฯ ว่าจะผ่านต้องมีเพศสัมพันธ์กับเขา ซึ่งเด็กก็ยอม สุดท้ายก็ยังไม่ผ่าน และกว่าคนอื่นจะรู้เด็กก็ออกไปแล้วแก้ปัญหาไม่ทัน”

พิณผกา: ในองค์กรสื่อที่ท่านสังกัด มีแนวปฏิบัติที่ทำให้คนทำงานเห็นว่าได้รับการปกป้องในความเสมอภาคทางเพศหรือไม่

นูรียะ กล่าวว่าเวลาถูกคุกคามทางวาจา เราจะจัดการด้วยตัวเราเอง ไม่ถึงระดับผู้บริหาร เท่าที่ทำตอนนี้คือ ปกป้องตัวเอง

พรทิพย์ มองว่า ขึ้นกับผู้บริหาร “มีช่างภาพคนหนึ่งมีปัญหาปากไม่ค่อยดี ถ้านักข่าวสาวๆ มาใหม่ก็พูดเรื่องเพศบ้าง “อยาก” บ้างอะไรบ้าง เนื่องจากพวกเราเป็นองค์กรเล็กๆ มีกลวิธีที่พอทำได้ คือ เพื่อนของน้องที่โดนแซวมาฟ้องพี่ติ่ง (สมภพ รัตนวลี) จากนั้นพี่ติ่งจึงเรียกมาต่อว่าระดับบุคคลพร้อมวางทัณฑ์บนว่าหากเกิดกรณีนี้อีกจะถูกไล่ออก  หลังจากนั้นนักข่าวหญิงหลายคนก็เริ่มพูดในสิ่งที่ตัวเองโดนบ้างด้วยความอัดอั้นตันใจ สุดท้ายผู้ชายคนนี้ก็ไม่กล้าพูดอะไรอีกและวางตัวดีขึ้น นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พอทำได้ในองค์กรเล็กๆ”

นิธินันท์ มองว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในองค์กรต้องแก้ปัญหาด้วยกัน “ต้องไปบอกผู้บริหารให้รู้  ไม่ใช่การฟ้อง แต่เป็นการบอกว่างานมันเดินไม่ได้ถ้าเป็นแบบนี้”


ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, พรทิพย์ โม่งใหญ่, นูรียะ ยูโซะ, พิณผกา งามสม

ข่าวประเด็นเรื่องเพศสภาพไม่เซ็กซี่พอ?

พิณผกา : ในเรื่องการทำข่าว การนำเสนอประเด็นผู้หญิง gender ไม่ทราบมีความยากลำบากมันยากไหมที่จะผลักเรื่องของสิทธิของผู้หญิงหรือความเสมอภาคทางเพศ เพราะในไทยประเด็นเรื่อง gender ไม่เซ็กซี่นัก

พรทิพย์ เห็นว่าการนำเสนอในปัจจุบันนั้นนำเสนอได้ง่ายขึ้น สังคมเปิดรับเรื่องสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น แต่ตั้งข้อสังเกตว่า “การนำเสนอนั้น ตัวสื่อเองเข้าใจสิทธิของผู้หญิงมากน้อยขนาดไหน และเรื่องที่นำเสนอไปทำให้คนเข้าใจมากน้อยขนาดไหน และมีคำถามตามมาอีกว่า ขณะที่คนเข้าใจเรื่องสิทธิผู้หญิงมากขึ้น แต่การถูกคุกคามเพราะความเป็นผู้หญิงก็ไม่ได้ลดน้อยลง มันเหมือนกับสิทธิผู้หญิงที่ผู้คนพูดถึงนั้นเป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่พฤติกรรมจริงๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงการเลย เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องตอบโจทย์ตรงนี้ว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดแต่เพียงภายนอก แต่ภายในแล้วไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย คดีอาชญากรรมที่มาจากากรข่มขืนก็ไม่ได้ลดลง แถมเหยื่อก็อายุน้อยลงทุกที และการพูดถึงความหลากหลายทางเพศ การพูดถึงเพศอื่นนอกจากหญิงชายก็ยากเข้าไปอีก เป็นอีกส่วนที่สื่อต้องทำความเข้าใจ”

นิธินันท์ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวทำนองนี้ ถ้านำเสนอข่าวงานอภิปรายหรือเสวนา มักไม่มีใครดูใครอ่านเพราะเชย แต่ถ้ามีเหตุการณ์เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นแล้วมีการนำเสนอข่าว ทำให้เห็นว่าคนคนนี้ถูกกระทำโดยไม่ถูกต้องเพียงเพราะเขาไม่เป็นเพศตรงกับที่เราคิดหรือผู้หญิงถูกกด แบบนี้ก็ทำได้

“ส่วนในวงการถามว่ามีการนำเสนอเรื่องนี้ไหมก็เห็นอยู่ เพียงแต่ยังนำเสนอไม่เยอะ มีความเข้าใจมากขึ้นแต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังคงต้องสร้างความเข้าใจต่อไป ส่วนกับคนทั่วไปการใช้คำว่าสิทธิมนุษยชนมันอาจเข้าใจง่ายกว่า gender เพราะอันที่จริงมันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อคุณเห็นคนทุกเพศทุกคนเป็นคนเหมือนกันมันก็ง่ายขึ้น มีเมตตาปราณีต่อกัน คิดถึงใจเขาใจเรามากขึ้น โดยสรุปแล้วต้องหาเรื่องใหม่ๆ มาทำหรือทำอะไรที่เป็นลูกเล่นทางศิลปะ ทำอะไรสนุกๆ คลิปสั้นๆ มันอาจเป็นการรณรงค์ที่คนทำสื่ออาจมาลองคิดกันดูก็ได้”

พิณผกา : อะไรบ้างที่เป็นแง่บวกของสื่อไทย

นิธินันท์ วิพากษ์ว่าสื่อไทยมีความเข้าใจมากขึ้นแต่อาจยังไม่พอ “เราไม่ได้พาดหัวว่า “แม่ใจยักษ์ทำแท้ง” แล้ว มันลดลงแล้ว เรื่องท้องไม่มีพ่อเราก็เข้าใจแล้วว่าไม่ใช่ความผิดผู้หญิง” และกล่าวเสริมว่าภาพรวมยังต้องมีการพัฒนา  “เพราะถ้าสื่อเข้าใจจริง สิ่งที่น้องๆ นักข่าวใหม่เล่าก็จะไม่เกิดขึ้น การขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของผู้หญิงก็คงไม่ต้องต่อสู้ขนาดนี้  แต่ด้วยความที่เป็นคนมองโลกแง่ดีเลยคิดว่าถ้ามองย้อนกลับไป 30 ปี สถานการณ์มันก็ดีขึ้นอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม  มีจุดหนึ่งที่น่าคิด เมื่อเข้าสู่วงการนี้เมื่อ 30 ปีก่อนมันไม่ได้มีประเด็น gender เราคิดว่าเราเป็นผู้หญิงแกร่งเราถึงเข้ามาได้ มองอีกด้านหนึ่งก็แปลว่าเราต้องเป็นผู้หญิงแบบผู้ชายอยู่ดี  ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แฟร์ แต่ต่อมามีความรู้ใหม่ๆ ให้เราได้เข้าใจว่าเราเป็นผู้หญิงแบบไหนก็ได้ แกร่งก็ได้ อ่อนหวานก็ได้ ยังไงก็ต้องสามารถอยู่ในวงการนี้ได้  โดยไม่จำเป็นต้องทำตัวแข่งกับผู้ชาย เมื่อก่อนต้องทุบโต๊ะ ต้องส่งเสียงดัง เมื่อเราทำท่าของผู้ชาย ผู้ชายก็กลัวเรา แต่พอโตมาเห็นอะไรชัดขึ้น ก็รู้ว่าไม่จำเป็น เป็นคนอย่างที่เราเป็นมันก็เดินหน้าได้”

 

ฟังนักข่าวหญิงเล่าเรื่องเพศสภาพในงานข่าว