ขณะที่หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาสังคมมีการปรับตัวในหลายมิติเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อกระแสหลักที่แข่งขันกัน ผ่านการเพิ่มรายการท่องเที่ยวเมืองต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน รายการเรียนรู้ภาษา อาหารและเศรษฐกิจของเพื่อนบ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อการเข้าใจประเทศเพื่อนบ้านแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ มุมมองที่มีต่อผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศของประเทศอาเซียนที่สะท้อนในสื่อต่างๆ
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ร่วมกับ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา หัวข้อ“เรียนรู้เรื่องผู้หญิงและเพศสภาพในสื่ออาเซียน” มีผู้ร่วมสนทนา คือ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาอาเซียน และโครงการวิเทศคดีศึกษา (อาเซียน-จีน) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ชนม์ธิดา อุ้ยกูล จากกลุ่มฟิล์มกาวัน และ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) โดยมีนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ดำเนินรายการ
มรกตวงศ์ ภูมิพลับ เปิดประเด็นสืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวที่รัฐบาลไทย (ขณะที่เปิดวงสนทนายังเป็นรัฐบาลชั่วคราว) ต้องการปฎิรูปการศึกษาและปรับปรุงแบบเรียนคุณธรรม โดยเล่าประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ ว่าจากการศึกษาของเธอ พบว่าในประเทศเวียดนามมีแบบเรียนวิชาว่าด้วยคุณธรรมเช่นกัน และในสิงคโปร์นั้น รัฐบาลสิงคโปร์โดยคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติเพิ่งสั่งแบนหนังสือ 3 เล่มซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนอ่าน เพราะมีเนื้อหาว่าด้วยคนรักเพศเดียวกัน ทั้งหมดเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เล่มแรกชื่อ “And Tango Makes Three” เกี่ยวกับชีวิตนกเพนกวินเพศผู้สองตัวที่สามารถเลี้ยงลูกเพนกวินได้ เล่มสองชื่อ “The White Swan Express: A Story About Adoption” เกี่ยวกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งครอบครัวที่พ่อแม่เป็นชายจริงหญิงแท้ ครอบครัวชายรักชาย ครอบครัวหญิงรักหญิง ครอบครัวที่มีพ่อแม่แต่งงานข้ามเชื้อชาติ, รวมถึงแม่เลี้ยงเดี่ยว, ส่วนเล่มสุดท้ายชื่อ “Who's In My Family: All About Our Families” เป็นเรื่องของครอบครัวคนรักเพศเดียวกัน
“ก็เลยมีคำถามว่า สิงคโปร์ที่เรารู้สึกว่าเป็นประเทศที่ก้าวไกลและพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีและวิทยาการ เรื่องของการรับเอาแนวคิดตะวันตกเข้ามา มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ก็ใช้โมเดลของตะวันตกในเรื่องการเรียนการสอน แล้วทำไมสิงคโปร์ถึงปิด หรือค่อนข้างจะตีกรอบในเรื่องของคนรักเพศเดียวกัน"
มรกตวงศ์เล่าว่าเดิมทีหนังสือสามเล่มนี้จะถูกสั่งทำลายทิ้งเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหนังสือเล่มอื่นที่เกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันถูกทำลายไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ว่าครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ เพราะมีกระแสต่อต้านจากคนสิงคโปร์เอง ทั้งจากกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และกลุ่มคนที่มีครอบครัวปกติธรรมดา จำนวนเป็นหมื่นคน ภายใต้ชื่อกลุ่ม Pink Dot มารวมตัวกันที่สวนสาธารณะ เพื่อประท้วงคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติ
แม่ชาวสิงคโปร์นั่งอ่านหนังสือต้องห้ามให้ลูกฟังในที่สาธารณะเพื่อประท้วงคำสั่งห้ามของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติ
“อันนี้เป็นนิมิตหมาย ถึงขั้นที่ว่าพ่อแม่บางคนทีเลี้ยงลูกมาในครอบครัวที่มีลักษณะแบบในหนังสือ เปิดหนังสือ 3 เล่มนี้แล้วอ่านให้ลูกฟัง เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ จนท้ายที่สุด คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติเปลี่ยนคำตัดสินจากการสั่งทำลายหนังสือ มาเป็นเปลี่ยนระดับให้หนังสือพวกนี้ยกระดับเป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่าน ไม่ใช่เด็กอ่าน”
มรกตวงศ์วิพากษ์ว่าสิ่งที่สะท้อนให้เห็นในกรณีแบนหนังสือของสิงคโปร์นี้ คือการใช้แบบเรียนเป็นสื่อสะท้อนนโยบายรัฐที่ยังเป็นอนุรักษ์นิยม ที่สนับสนุนครอบครัวในอุดมคติที่ต้องมีชายหญิงแต่งงานกันและต้องเลี้ยงลูกให้เป็นไปตามครรลองซึ่งจะทำให้เด็กเป็นคนดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีกฎหมายลงโทษชายรักชายด้วย “หากชายกับชายมีเพศสัมพันธ์กันจะถูกลงโทษจำคุกสองปี ที่น่าสนใจคือไม่มีการระบุว่าถึงกรณีหญิงรักหญิงในกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน ทุกเดือนมิถุนายนจะมีการรวมตัวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน มีการรวมตัวเรียกร้องสิทธิของชายรักชายซึ่งมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี”
สิงคโปร์และเวียดนาม กับ ลัทธิขงจื้อและค่านิยมใหม่
มรกตวงศ์ตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความหลากหลายทางเพศของรัฐบาลสิงคโปร์ว่า อาจมาจากแนวคิดที่อดีตประธานาธิบดีลีกวนยูพยายามที่จะปลูกฝังให้สังคม คือ Asian Value หมายถึงค่านิยมแบบเอเซียซึ่งอิงกับแนวคิดขงจื้อ สถาบันครอบครัวต้องมาเป็นหลัก
ด้านประเทศเวียดนามนั้น มรกตวงศ์กล่าวว่าสถานภาพของคนหลากเพศไม่ต่างจากสิงคโปร์ เนื่องจากมีแนวคิดขงจื้อที่กำหนดบทบาทหญิงชายชัดเจนเช่นกัน
“ภาพสะท้อนจากสื่อคือหญิงถูกอบรมสั่งสอนมาตลอดว่าเกิดมาต้องเป็นลูกสาวที่ดีของพ่อแม่ แต่งงานไปต้องเป็นภรรยาที่ดีของสามี และแม่ที่ดีของลูก แต่ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ มีการเปลี่ยนแปลงปลูกฝังว่าชายหญิงเท่าเทียมกัน หญิงมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาเหมือนกับ มีสิทธิ์เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในการต่อต้านอาณานิคม ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ดี”
มรกตวงศ์ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “When the Tenth Month Comes” ที่เล่าเรื่องผู้หญิงเวียดนามที่สามีต้องไปรบ นอกจากทำหน้าที่ดูแลลูก เธอยังมีหน้าที่ดูแลพ่อสามี และผลิตเสบียงช่วยเหลือผู้ชายที่อยู่แนวหน้า
“อีกเรื่องเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในการเปิดกว้างทางความคิดและการแสดงออกของความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ คือ เจยเวย (Choi Voi) หรือ Adrift เป็นเรื่องหญิงรักหญิงที่ได้รับการสนับสนุนการสร้าง โดยกระทรวงวัฒนธรรม เนื้อเรื่องเกี่ยวกับหญิงเวียดนามที่ได้รับการศึกษา แต่งงานช้าลง ผู้หญิงที่แต่งงานช้าสองคนรักกัน แม้จะไม่สมหวังเพราะผู้หญิงคนหนึ่งต้องไปแต่งงานกับผู้ชายและไม่สมหวังในชีวิตแต่งงานอีก”
อย่างไรก็ตาม มรกตวงศ์เห็นว่ายังมีภาพลักษณ์ของผู้หญิงอีกด้านที่ถูกนำมาเป็นตัวแทนความชั่วร้ายและความปราชัย “ในประวัติศาสตร์เวียดนาม หลายคนเข้าใจว่าการที่เวียดนามใต้ปราชัยเวียดนามเหนือ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อมาดามโง ภรรยาของโงดินห์นู (สามีของเธอเป็นน้องชายของนายกรัฐมนตรีโงดินห์เดียม) เธอถูกกล่าวหาว่ามีอิทธิพลเหนือสามีและพี่ชายของสามี จนทำให้รัฐบาลเวียดนามใต้ภายใต้โงดินห์เดียมล่มสลายลง เพราะเป็นหญิงที่มีจิตใจไม่ค่อยเป็นมนุษย์
ส่วนประเด็นชายรักชายในเวียดนาม มรกตวงศ์มองว่าน่าสนใจมากและเป็นภาพผกผันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์อย่างยิ่ง “รัฐบาลเวียดนามเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะชายรักชาย ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือการเสนอผ่านร่างกฎหมายให้ชายแต่งงานกับชายได้ ซึ่งก้าวหน้ากว่าไทย เพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ” อย่างไรก็ตามแม้จะมีกฎหมาย แต่มรกตวงศ์วงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า ท้ายที่สุดชายรักชายจะเป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปได้จริงหรือไม่ “เพราะพ่อแม่ที่มีลูกที่มีแนวโน้มเป็นเกย์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่สบายใจ ชายรักชายจึงมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน”
อินโดนีเซีย และบรูไน กับศาสนาอิสลามและเสรีภาพในการแสดงออก
ชนม์ธิดา อุ้ยกูล จากกลุ่มฟิล์มกาวัน วิเคราะห์ว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้านความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์อินโดนีเซียปัจจุบันถือว่าเปิดกว้างเมื่อเทียบกับยุคซูฮาร์โต (ประธานาธิบดีอินโดนีเซียระหว่างปี พ.ศ.2510-2541)
“แต่เนื่องจากมีประชากรมุสลิมเยอะมาก มีความอ่อนไหวเรื่องชาติพันธุ์ ศาสนา และเพศ เช่น มี Pornography Law สื่ออนาจาร หรือการจูบในที่สาธารณะระหว่างหญิงกับหญิง ชายกับชาย หรือชายกับหญิงยังเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ภาพศิลปะนู้ดจะไม่เห็นในสื่อ และเราจะไม่เห็นภาพของหญิงมุสลิมที่สวมฮิยาบและสูบบุหรี่อยู่ เหล่านี้เป็นประเด็นของผู้ทำภาพยนตร์อินโดนีเซียที่พยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีสิทธิ์เสรีภาพมากขึ้น”
ชนม์ธิดากล่าวถึงข้อจำกัดของภาพยนตร์ในสมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โตว่า ประเด็นที่ต้องห้ามคือความแตกต่างด้านชนชั้น ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา เพราะซูฮาร์โตเน้นการสร้างชาติแบบครอบครัว “ซูฮาร์โตเป็นเสมือนพ่อของรัฐ เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐชาติอินโดนีเซีย ส่วนบทบาทของผู้หญิงยังอยู่ในครอบครัว เป็นเพียงภรรยาที่สนับสนุนสามี เป็นแม่มีพื้นที่อยู่แค่ในบ้านดูแลลูก ต่อมาหลังปี 1998 ระบอบประชาธิปไตยส่งเสริมให้คนทำหนังออกมาวิพากษ์ปัญหาสังคมมากขึ้น รวมถึงสิทธิ์ของผู้หญิงด้วย คนทำหนังอาจเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม หรือมีนักเคลื่อนไหวทางสังคมและนักศึกษาหันมาทำหนังมากยิ่งขึ้นด้วย การที่มีความหลากหลายของคนทำหนังทำให้ภาพยนตร์มีความแตกต่างมาก”
ชนม์ธิดา มองว่าภาพยนตร์อินโดนีเซียปัจจุบันเน้นการสะท้อนความจริงในสังคม เช่น หญิงรักหญิง เลสเบียนที่เป็นแม่ ชายขายตัว รวมทั้งชายที่เป็นสามีลับของหญิงที่สูงอายุกว่า
“ภาพยนตร์เหล่านี้สะท้อนความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่มีสิทธิ์ที่แสดงออก สิทธิการตัดสินใจในการใช้ร่างกายของตัวเอง เวลาพูดถึงภาพยนตร์ที่เน้นเรื่องเพศสภาพในอินโดนีเซีย ผู้กำกับหญิงที่เด่นที่สุดคือ Nia Dinata และยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ชื่อ กัลยานาชีรา เน้นทำภาพยนตร์ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความหลากหลายตามความเป็นจริงในอินโดนีเซีย”
ชนม์ธิดายกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Berbagi suami (Love For Share) ที่ทำโดยองค์กรกัลยานาชีรา ซึ่ง Nia ผู้กำกับตั้งคำถามว่าความรักสามารถแบ่งปันได้เท่าเทียมกันจริงหรือไม่ในสังคมอินโดนีเซียที่ชายมีภรรยาหลายคน พร้อมวิพากษ์ว่าการมีภรรยาหลายคนนั้นเป็นเพราะศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมชวา หรือวัฒนธรรมจีนที่ยอมให้มีภรรยาหลายคนได้ หรือว่าแท้จริงเป็นความต้องการทางเพศของชายที่มีสูงจนไม่มีที่สิ้นสุด
Berbagi suami (Love For Share) สะท้อนชีวิตของผู้หญิง 3 คน ร่วมชะตากรรมเดียวกัน
ภาพยนตร์นี้สะท้อนเรื่องของผู้หญิงที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันในการยอมรับว่าตกลงจะอยู่แบบนี้หรือจะเดินออกไปมีชีวิตใหม่ ชายชาวชวามีภรรยาแล้วสองคน ภรรยาถูกจำกัดสิทธิ์ให้อยู่แต่ในบ้านเลี้ยงลูก ต่อมาชายไปหลงรักผู้หญิงอีกคนที่เป็นญาติห่างๆ โดยมีการสนับสนุนด้านการเงินให้กับครอบครัวของผู้หญิงคนใหม่นี้ ครอบครัวหญิงผู้นี้เลยตัดสินใจว่าเธอควรแต่งงานเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ชาย ในฉากแต่งงาน ผู้หญิงร้องไห้ฟูมฟาย ในขณะที่ชายยิ้มอย่างมีความสุข และมีฉากผู้หญิงโดนบังคับขืนใจในวันที่เข้าห้องหอ สุดท้ายการแก้แค้นก็ดุเดือดเช่นกัน เพราะเธอพัฒนาความสัมพันธ์กับภรรยาคนที่สอง เป็นหญิงรักหญิง ในบ้านของผู้ชาย
อีกเรื่องคือ At stake เป็นภาพยนตร์สารคดีที่สัมภาษณ์ผู้หญิงหลายสถานะในอินโดนีเซีย พยายามสะท้อนบทบาทซับซ้อนของผู้หญิงที่เป็นแม่ ในขณะเดียวกันต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัวโดยทำงานเป็นโสเภณี หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเมื่อพ้นจากสายตาสามี อาจไปพบรักกับหญิง นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องที่หดหู่จากการให้คุณค่าพรหมจรรย์ที่ลิดรอนสิทธิ์บางประการของผู้หญิงในการเข้าถึงการบริการทางแพทย์
“หญิงอินโดนีเซียที่ยังไม่แต่งงานที่ต้องการตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือตั้งใจไปรักษามะเร็ง ต้องมีใบทะเบียนสมรส หรือถ้าไม่มีใบทะเบียนสมรสต้องขอคำรับรองจากอนาคตสามี ซึ่งแปลว่าถ้าเป็นหญิงโสด หรือเป็นเลสเบียน มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการรักษา”
หนังกระแสหลักกับมุมมองเพศสภาพ
ชนม์ธิดากล่าวว่าปัจจุบันมีเทรนด์ของหนัง Pop Islam เป็นหนังกระแสหลัก ที่พยายามทำให้ศาสนาอิสลามมีความยืดหยุ่น และมองสถานภาพชายหญิงที่เปลี่ยนไป เช่นเรื่อง Ayat Ayat Cinta สะท้อนการมีภรรยาหลายคนในสังคมอินโดนีเซียโดยให้ภาพชายในอุดมคติ สุภาพอ่อนโยน รู้หลักธรรมคำสอนศาสนาอย่างดี มีหญิงหลายคนชื่นชอบ มีหญิงคริสเตียนมาชอบแต่เมื่อรู้ว่าเขาแต่งงานแล้ว แทบตรอมใจตาย ภรรยาจึงยอมให้ชายแต่งงานกับหญิงคริสเตียนนี้ โดยให้เข้ารีตเป็นมุสลิม “สิ่งที่ภาพยนตร์สะท้อนคือตามหลักอิสลามเมื่อชายแต่งงานกับภรรยาหลายคน สามีต้องดูแลภรรยาได้อย่างเท่าเทียมกัน นั่นทำให้เขาคิดได้ว่ามันเป็นไปไม่ได้และสุดท้ายชายคนนี้นอนอยู่คนเดียว”
ส่วนบรูไน เมื่อปีที่แล้วมีภาพยนตร์เชิงพาณิชย์เรื่อง Yasmine โดยผู้กำกับหญิง Siti Kamalundin “สิ่งที่ผู้กำกับหญิงนี้ทำนับเป็นก้าวเล็กๆของผู้หญิงที่เข้ามามีบทบาทในแวดวงการทำงาน โครงเป็นเรื่องของหญิงมุสลิมที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการค้นพบตัวเองผ่าน ปัญจสีลัต ศิลปะปัองกันตัว แสดงให้เห็นว่า ปัญจสีลัต เป็นกีฬาที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ชายที่บึกบึน นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงมุสลิมว่าสามารถมีส่วนร่วมในวงการกีฬาได้มากขึ้นในอนาคต” ชนม์ธิดากล่าว
นิธินันท์ ถามเพิ่มเติมว่า สื่ออื่นๆ ในอินโดนีเซียมีการสะท้อนภาพผู้หญิงอย่างไรหรือไม่
“ละครทีวีซีรีส์ในอินโดนีเซียที่มีผู้ชมเยอะมาก ยังคงเน้นภาพผู้หญิงในแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา เป็นคนที่กระตุ้นกามารมณ์ และเป็นผู้ที่อ่อนแอต้องได้รับการดูแลจากผู้ชาย” ชนม์ธิดากล่าว
เทคโนโลยีใหม่ สื่อนอกกระแส กับ ความเป็นตัวตนของเพศที่หลากหลาย
สำหรับภาพรวมเรื่องผู้หญิงและเพศสภาพในสื่อของอาเซียน ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แสดงความเห็นจากการได้ดูหนังในภูมิภาคว่า “ทุกประเทศมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีขั้วอนุรักษ์นิยม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอำนาจคอยกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคม ทำให้เกิดขั้วตรงข้าม ซึ่งอาจเล็กกว่า เป็นพวกชายขอบ และเรื่องเพศสภาพนับเป็นเรื่องชายขอบในสังคม ซึ่งน่าสนใจตรงที่เป็นเรื่องที่เกิดในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน”
ชลิดาตั้งข้อสังเกตว่าในหนังสมัยก่อน อาจมีเรื่องคุณค่าบางอย่าง แต่ไม่เน้นเรื่องกรอบอนุรักษ์นิยมเท่าปัจจุบัน “เกย์และเลสเบียนมีมาช้านาน สังคมก็อยู่ด้วยกันได้ดี อาจเป็นการอยู่แอบๆ โดยไม่ต้องพูดถึง ต่อมาเมื่อมีแรงกระตุ้นจากอีกฝ่ายที่มากำชับ ทำให้ประเด็นเพศสภาพดูรุนแรงมากขึ้น สมัยก่อนสังคมโดยรวมเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะวงการหนังทุกประเทศก่อนยุคหนังอินดี้ ช่วงปี 1980-1990 ยกตัวอย่าง ประเทศไทยทุกคนบอกว่าวงการหนังไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิง เวลาเรียนด้านภาพยนตร์รุ่นพี่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีผู้หญิงเรียนเพียงสี่ห้าคน ทีมทำงานหนังส่วนใหญ่เป็นชาย เราจะได้รับคำบอกเล่าว่าผู้หญิงไปทำงานลำบาก เมื่อมีหนังอินดี้ นอกกระแส เราจะเห็นผู้กำกับที่เป็นผู้หญิง เกย์ เลสเบียนซึ่งตัวตนของเขามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำหนังและคุณสมบัตินี้เป็นคุณสมบัติร่วมของประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งในสังคมมุสลิมเกย์เป็นเรื่องต้องห้าม มีเทศกาลหนัง Queer ก็มีปัญหา ซึ่งตัวเองมองว่าเป็นการปะทะกันเป็นการตื่นกลัวของสังคมอนุรักษ์นิยม ว่าแล้วสังคมที่ดีงามจะเป็นอย่างไร”
ชลิดาเพิ่มเติมว่าสมัยก่อนการทำหนังเป็นการจำกัดเฉพาะกลุ่ม ต้องมีงบประมาณจำนวนหนึ่ง ถึงสร้างหนังได้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนทั่วไปทำได้เพียงมีเงินซื้อกล้อง และคอมพิวเตอร์ที่นั่งตัดต่อเอง ทำให้เกิดความเท่าเทียมในด้านทรัพยากร หลายคนใช้โอกาสนี้ในการเล่าเรื่องราวของตนเอง
ผู้ร่วมสนทนา (จากซ้าย) ชลิดา เอื้อบำรุงจิต, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, มรกตวงศ์วงศ์ ภูมิพลับ, ชนม์ธิดา อุ้ยกูล
หนัง Gender เพื่อเปิดพื้นที่การแสดงออก หรือ ถูกใช้ประโยชน์เพื่อป้อนตลาด?
อีกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือ หนังเกี่ยวกับเพศสภาพขายได้ ชลิดาชี้ให้เห็นว่า “หนัง gender ขายได้ มีพื้นที่มากมายในโลกตะวันตก แทบจะแย่งกันทำด้วยซ้ำ ถ้าดูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังเลสเบี้ยนจำนวนมากสร้างโดยผู้ชาย ซึ่งตัวเองตั้งคำถามว่าควรเป็นเรื่องที่เล่าโดยผู้หญิงหรือเปล่า ทำให้น่าสนใจว่าผู้สร้างอยากทำเพราะต้องการพื้นที่ในการแสดงออกหรือทำเพื่อป้อนตลาดเพราะมีคนดู”
นิธินันท์ตั้งคำถามว่าด้านการพัฒนาการของเรื่องเพศสภาพในสื่อมีความก้าวหน้าเป็นลำดับอย่างไรหรือไม่
ชลิดาเห็นว่า “เหมือนจะก้าวหน้าแต่ก็ไม่แน่ใจว่าก้าวหน้าจริง สมัยก่อนเพศสภาพเป็นสิ่งที่ลื่นไหลมากกว่าปัจจุบันหรือเปล่า ถ้าย้อนดูหนังยุคก่อน เช่น ชั่วฟ้าดินสลาย ล้อต๊อกแต่งหญิง ซึ่งน่าสนใจว่าผู้สร้างคิดอย่างไร สังคมตะวันตกทำให้เราตื่นตัวมากขึ้นหรือเปล่า อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ทำให้เราตระหนักว่า สังคมไม่มีเพียง 2-3 เพศ และไม่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอากล่องมากี่ใบก็จะมีอะไรที่เข้ากล่องไม่ได้ตลอดเวลา ทุกคนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่มนุษย์แต่ละคนพึงมี”
ต่อประเด็นสื่อกับเสรีภาพ ชลิดามองว่า สื่ออื่นน่าจะเป็นผู้นำสังคมในด้านเสรีภาพได้มากกว่าสื่อภาพยนตร์ เพราะหนังมาช้ากว่าสังคม กว่าจะทำหนังหนึ่งเรื่องต้องใช้เวลาเป็นเดือน ใช้ทุนมาก ผู้สร้างคิดถึงเรื่องความเสี่ยงเพราะหากโดนห้ามฉายอาจขาดทุน ผู้สร้างหนังเชิงพาณิชย์จึงปกป้องตนเองไว้ก่อน “หนังไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เท่าที่ทำได้คือสะท้อนสังคมบางส่วนหรือในเรื่องที่สื่ออื่นไม่ได้สะท้อน”
สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ ชลิดาสังเกตว่าเป็นประเทศที่เปิดเสรี แม้คนส่วนใหญ่เป็นคาทอลิค หนังเกี่ยวกับเพศและเพศสภาพในกระแสหลักก็มีเยอะ “เรื่องเซ็กซ์ในกระแสหลักก็มี ซึ่งก็แปลกใจเหมือนกันว่าประเทศของเขาทำได้”
ส่วนประเทศพม่า ชลิดาสังเกตว่าหนังกระแสหลักของพม่าในปัจจุบันคล้ายของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เน้นคุณธรรมความดี เรื่องเพศสภาพมีประเด็นเรื่องกระเทยและการประกวดกระเทยเป็นต้น พม่ามีอำนาจรัฐเข้มแข็งมากทำให้มีการระมัดระวังไม่แตะเรื่องการเมือง
ด้านลาวและกัมพูชา เรื่องเพศสภาพในภาพยนตร์ขณะนี้ไม่ค่อยมีให้เห็น แต่มีกลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเธอหวังว่าอาจก่อให้เกิดพลวัตบางอย่างที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
