Skip to main content

                       ท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น พร้อมกับการเกิดขึ้นของสื่อทางเลือกในขณะนี้ บทบาทและการทำงานของบรรดานักสื่อสารมวลชนได้ถูกสังคมจับตาด้วยความคาดหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่เป็นสติให้กับสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งสื่อฯ ก็ถูกจับจ้องว่าเป็นหนึ่งในชนวนที่จุดติดความขัดแย้งและนำไปสู่โศกนาฏกรรมผ่านการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชัง

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จึงเปิดระเบียงกาแฟจัด มีเดีย คาเฟ่ ครั้งที่ 10 เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้ที่สนใจ แลกเปลี่ยนในประเด็น “จากสื่อ... สู่โศกนาฏกรรม” โดยมีประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา นักวิจัยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิและพลเมือง (TCIJ) และ  ชัยรัตน์ ถมยา  บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยพีบีเอส เป็นวิทยากร และ เพ็ญนภา หงษ์ทอง ดำเนินรายการ

สื่อกับการสร้างความรุนแรงในสังคม

ในฐานะหัวหน้าโครงการย่อย “การกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” อันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดทำขึ้น และออกเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ได้แบ่งบทบาทและอิทธิพลของสื่อในการยกระดับความขัดแย้ง เป็น 4 ระดับคือ 1) การสร้างความวิตกกังวล 2) การสร้างความปลุกปั่น 3) การทำให้เกิดความแปลกแยก และแบ่งพรรคพวก 4) กล่าวโทษผู้อื่นจนเป็นเหตุให้มีการทำลายล้าง

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานของสื่อไทยในปัจจุบัน ชนัญสรา พบว่าทั้งฟรีทีวี สื่อวิทยุ และเคเบิ้ลทีวี มีจุดร่วมเดียวกัน ในแง่วัตถุประสงค์และเป้าหมาย คือ มีการอ้างอิงตนเองกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น พุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนระดับความร้ายแรงของการเผยแพร่ hate speech นั้นพบว่ามีหลายระดับ คือ 1) การดูถูกอย่างเหมารวม 2) การลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ เพื่อปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน เช่น การใช้คำว่า ‘ควายแดง’ หรือ ‘คางคก’  และ 3) ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หรือทำผิดกฎหมาย ในกรณีของสื่อทางเลือกใหม่หรือสื่อเคเบิ้ลทีวีนั้น การนำเสนอข่าวจะอยู่ในความรุนแรงระดับ 1 และ 2 ค่อนข้างมาก คือ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน จากการที่มีอคติต่อขั้วตรงข้ามชัดเจนผ่านการเชื่อมโยงในระดับชนชั้น ส่วนความรุนแรงระดับที่ 3 ในช่วงการทำวิจัยก็จะพบได้บ้าง เช่น การปล่อยเสียงของวิทยุชุมชน หรือผู้ดำเนินรายการทีวีที่ค่อนข้างฮาร์ดคอร์

การสร้างให้เกิดความรุนแรงในสังคม ผ่านทางการทำงานของสื่อในสังคมไทยดูเป็นสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลงทันที เมื่อเหลียวมองประสบการณ์ของรวันดา ที่การทำงานของสื่อนำสู่การสังหารหมู่ชาวทุตซีกว่า 200,000 คนในเวลาเพียงประมาณ 2 เดือน ในช่วงปี 1994 ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ที่สนใจบทบาทสื่อมวลชน และเคยศึกษาการทำงานของสื่อกับการสร้างความรุนแรงในสังคมรวันดา กล่าวว่าในช่วงที่มีการสังหารหมู่ชาวทุตซี่ ซึ่งเขามองว่ารุนแรงรองลงมาจาก Holocaust หรือการล้างเผ่าพันธุ์ในยุคสมัยนาซีว่า สื่อมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 ประการ

1)      แพร่กระจายความเกลียดชังอย่างตั้งใจผ่านการปลุกระดมคำพูด เพื่อยั่วยุให้ศัตรูถูกกวาดล้าง หรือสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการฆ่า โดยใช้วิธีการผ่านการลดทอนความเป็นมนุษย์

2)      สื่อวิทยุ RTLM ของรวันดา ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลฮูตู ซึ่งทำหน้าที่มากกว่าสร้างหรือกระจายความเกลียดชัง แต่รายงานสถานการณ์สด ในระดับชี้เป้า ให้รายละเอียด ชื่อและที่อยู่ เพื่อชี้นำให้ชาวฮูตูไปฆ่าชาวทุตซี่ที่วิทยุรายงานออกไป ซึ่งมีความชัดเจนว่า หลังจาก วิทยุ RMLT รายงานออกไป มีการฆ่าและเผาสถานที่ตามข้อมูลที่สื่อดังกล่าวรายงานออกไป

3)      ชี้นำให้สังคมเห็นว่า ความรุนแรงเป็นทางออกและจำกัดทางเลือกแบบสันติวิธี

การทำงานของสื่อที่มุ่งเผยแพร่สารแห่งความเกลียดชัง จนนำสู่ความรุนแรงระดับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ทำให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ ตัดสินลงโทษเข้าของสถานีวิทยุ RTML และดีเจ ในฐานะที่ก่อให้เกิดความรุนแรง แม้จะไม่ได้ไปสังหารใครโดยตรง แต่ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรง ประจักษ์มองว่าคำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศนี้เป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ ที่สื่อมวลชนไทยควรต้องระลึกไว้ 

                                  ท่ามกลางความแตกแยกทางความคิด สื่ออาจกระตุ้นและเป็นผู้เติมเชื้อไฟแห่งความรุนแรง

(ขอบคุณภาพจาก www.bangkokbiznews.com)

และเมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับรวันดาหรือไม่นั้น คำตอบของนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ท่านนี้คือ

“หากให้ตอบก่อนหน้านี้ คงตอบว่ายังไปไม่ถึง แต่ตอบตอนนี้ก็ชักไม่แน่ใจ เพราะกระบวนการสั่งสมความเกลียดชังและอคติที่ฝังลึก 2-3 ประการที่มีในรวันดา ก็ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ก็เหลือแค่ชนวนบางอย่างที่จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว อีกทั้งกรอบกติกาที่ทำให้อยู่ร่วมกันในตอนนี้ก็หมิ่นเหม่ เช่น การที่บรรดานักนิติศาสตร์เริ่มตั้งคำถามต่อบทบาทของศาล ถ้ากติกาที่ทำให้อยู่ร่วมกันพังทลายลง ตัวเลือกที่เหลือก็มีเพียงแต่อาวุธและกำลัง”

สื่อมวลชน กับการ “เลือก” นำเสนอข้อมูล ท่ามกลางความขัดแย้ง

จากการจัดเรตติ้งของชนัญสรา นั้น ชัยรัตน์ ถมยา ในฐานะสื่อวิชาชีพ ได้แลกเปลี่ยนประเด็นจากมุมมองคนทำสื่อโทรทัศน์ ซึ่งที่ผ่านมาตนเองได้พยายามนำเสนอข้อมูลจากทั้งสองด้าน แต่ทั้งนี้จากความเป็นปัจจุบันและความกระชั้นของเหตุการณ์ทำให้การตัดสินใจเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในสนามข่าว โดยเฉพาะการเลือกปล่อยเสียง ฉะนั้น สิ่งที่นักข่าวทำได้ คือ ต้องย้อนกลับมาตรวจสอบว่า เสียงที่ปล่อยไปนั้น เหมาะสมหรือไม่ และมีการตักเตือนกันภายในองค์กรข่าว ซึ่งนี่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประจำ แต่ในความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเกิดขึ้นเพียงบางครั้ง

ส่วนการเลือกใช้ “คำพูด” ในการรายงานข่าวนั้น ชัยรัตน์ มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคำพูดสามารถสร้างหรือกำหนด ความเข้าใจแบบหนึ่งแบบใด ให้กับสังคมโดยรวม เขายกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของตนเอง ที่มักใช้คำว่า “มุสลิมหัวรุนแรง” ในการรายงานข่าวว่า ทำให้สถานีถูกทักท้วงว่าไปสร้างภาพให้ศาสนาอิสลามผูกโยงกับการใช้ความรุนแรง จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่มี พุทธหัวรุนแรง หรือ คริสต์หัวรุนแรง ซึ่งต่อมาได้มีการตกลงใช้คำว่า “สุดโต่ง” แทน

สุชาดา จักร์พิสุทธิ์ จากศูนย์ข่าว TCIJ กล่าวเพิ่มเติมจากชัยรัตน์ ถมยา ในประเด็นบทบาทของสื่อในการ “เลือกหยิบ” ข้อมูล โดยตั้งข้อสังเกตประการแรกว่า ท่ามกลางความจริงจำนวนมาก การที่สื่อ “เลือก” หยิบข้อมูลจำนวนหนึ่ง และตัดสินใจไม่เลือกใช้ข้อมูลอีกจำนวนหนึ่งนั้น การเลือกดังกล่าวมาจากฐานความคิดชุดใด และประการที่สอง การที่สื่อสาธารณะซึ่งประกาศจุดยืนที่เป็นกลาง เพื่อตอกย้ำการทำหน้าที่สื่อที่ดี แต่เนื้อแท้กลับ “ไม่มีกึ๋น” พอที่จะมีดุลพินิจที่กว้างพอจะหยิบข้อเท็จจริงที่เป็น “ความจริง” ขึ้นมา  

สุชาดายกตัวอย่างกรณีที่มีสื่อพาดหัวข่าว “ฮีโร่เด็กเป่านกหวีดหน้าบ้านนายกฯ” ว่าแสดงให้เห็นว่าสื่อกำลังยกการกระทำของเด็กเช่นนี้เป็นฮีโร่  หรือแม้แต่บทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การชุมนุมของคนเสื้อแดง กลับสรุปทิ้งท้าย 2 บรรทัดตัวหนาว่า เป็นการสั่งสอนแกนนำที่ต่อต้านนายใหญ่ ทั้งสองกรณีสะท้อนนัยยะความเข้าใจการเมืองว่า ทุกอย่างมาจาก ผีตนหนึ่งที่เรียกว่านายใหญ่

 “ที่สุดแล้วเราก็จะได้ ความจริงที่ไม่จริง หรือ ความจริงครึ่งๆ กลางๆ มากไปกว่านั้น ความจริงนี้นำเสนอนี้ก็สามารถที่จะถูกบิดไปตามทัศนะทางการเมืองตนเองหรือองค์กร” สุชาดากล่าว

สื่อไทยกับการเลือกข้าง

จากทัศนะของสุชาดา การเลือกข้างทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งหากย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะพบว่า นักหนังสือสื่อพิมพ์รุ่นแรกๆ  เช่น สุภา ศิริมานนท์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ล้วนแต่ทำานข่าว เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็จะพบว่าการทำงานของสื่อในสมัยก่อนมีความพยายามแยกแยะระหว่างจุดยืนของตนเอง กับมาตรฐานวิชาชีพสื่อในการนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งในประเด็นนี้ สุชาดามองว่าสื่อไทยในปัจจุบันสอบตก

“การไม่เลือกข้างของสื่อแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมปัจจุบันที่มีความหลากหลาย สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในอดีตผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นจะเป็นในรูปของตัวเงินหรือตำแหน่งในองค์กร แต่ปัจจุบัน อุดมการณ์ความเชื่อ ก็กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีอยู่แต่ค่อนข้างคลุมเครือ” สุชาดากล่าว

สำหรับสุชาดา  “สื่อ เป็นตัวนำโศกนาฏกรรมจริงๆ”

 พร้อมกับยกประสบการณ์ของเธอที่เปลี่ยนไปด้วยการทำงานของสื่อในเหตุการณ์ตุลาคม 2519 ซึ่งขณะนั้นเธอเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ร่วมแสดงละครแขวนคอ แต่พอกลับถึงบ้าน เธอกลับพบว่าสื่อพาดหัวข่าวว่า แขวนคอรัชทายาท ทั้งที่รูปดังกล่าวผ่านการตกแต่ง

“การพาดหัวข่าววันนั้นทำให้ (ตนเอง) นักศึกษาที่ไม่มีอะไรเลย ทนไม่ได้ ต้องออกจากบ้านในวันนั้น คนจำนวนมากกำลังถูกกระทำจากสื่อ  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสื่อรู้ตัวไหมว่าเป็นผู้กระทำ”

Peace Journalism กับความเป็นไปได้ในสังคมไทย

ถามสุชาดาถึงความเป็นไปได้ที่จะมี peace journalism หรือการทำงานของสื่อที่สร้างให้เกิดสันติภาพในสังคมไทย

สุชาดากล่าวเพียงว่า “คงต้องตอบอย่างโหดร้ายและหมดหวังว่าเป็นไปได้ยากในตอนนี้”

ทั้งนี้สุชาดามองว่า ความหมดหวังเริ่มมากจากระบบการศึกษาที่ไร้คุณภาพ ที่ได้แต่เพียงผลิต “นักเขียนข่าว” คือผู้ที่มีความสามารถทางเทคนิคในการเขียนข่าว” ออกมาสู่สังคม แต่ไม่สามารถผลิต “นักข่าว” ที่มีความเข้าใจสังคม และละเอียดอ่อนต่อผลของการนำเสนอข่าวสารของตนออกมา

ต่อประเด็นนี้ ชนัญสรา ในฐานะอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ ได้เสนอให้เพิ่มเติมการการเรียนการสอนเชิง critical thinking เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาวิเคราะห์ได้ถึงการถือครองสื่อของกลุ่มต่างๆ และจุดยืนของสื่อ และแม้จะมีคนบางกลุ่มที่เลือกรับเฉพาะสื่อที่ตนชื่นชอบ แต่ชนัญสราก็ยังมีความหวังกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พร้อมเปิดรับและสามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ต่อไป

 “องค์กรสื่อต้องพัฒนาบทบาทของตนเองในฐานองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วย คนคือทรัพยากรที่สำคัญ” ชนัญสรา กล่าว

ขณะที่ประจักษ์มองว่าการสื่อสารทางการเมืองนั้นไม่ได้มีเพียงแต่บทบาทของสื่อเท่านั้น หากแต่ทั้งพรรคการเมือง นักวิชาการ ก็มีบทบาทสื่อสารด้วยเช่นกัน ซึ่งประจักษ์ได้เสนอให้คนเหล่านี้ต้อง “ตรวจสอบตนเองและมีความรับผิดชอบ”ด้วย เพราะทุกคนเป็นสื่อ ไม่ใช่เพียงผู้รับสาร โดยเฉพาะการให้ความเห็นที่รวดเร็วผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายความคิดที่เป็นทั้งทัศนคติและอคติ  

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงความหลากหลายของสื่อในปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณาในภาพกว้างจะพบว่า สื่อที่หลากหลายสะท้อนชุดอุดมคติที่แตกต่างกันไป แต่หากพิจารณาเฉพาะในองค์กรสื่อนั้น จะพบได้ว่า มีการลดทอนความหลากหลายในตัวเอง เช่น กรณีที่ช่อง asia update ถอดรายการของ บก.ลายจุด และคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ออก การกระทำเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างมากในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“เพราะในที่สุด สื่อก็จะทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากองค์กรคอมมิวนิสต์ ที่คนทำข่าวต้องผลิตข่าวเพื่อรองรับอุดมการณ์ของเจ้าของสื่อ”

ประจักษ์ ซึ่งเฝ้ามองการทำงานของสื่อในฐานะนักรัฐศาสตร์ มองว่าสื่อไทยกำลังเล่นบทบาทที่ล้ำเส้น เพราะท่ามกลางพายุทางการเมือง ที่ผู้คนถูกพัดพาให้เลือกข้าง สื่อกลับเลือกที่จะเป็นผู้เล่นทางการเมือง แทนที่จะทำหน้าที่ประคับประคองให้สังคมมีสติ

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องอคติทางการเมือง แต่สื่อทั้งองค์กรเลือกลงสนามเป็นกองเชียร์ กองหนุน ใช้สื่อหรือหน้าที่การงานตนไปรับใช้ เพื่อให้ฝ่ายตนเองได้รับชัยชนะ ฉะนั้น ข้อมูลจำนวนหนึ่งจึงถูกสกรีนออกไป”

นอกจากสื่อแล้ว ประจักษ์ยังชี้ให้เห็นว่า หลายองค์กรก็ได้เล่น “ข้ามเส้น” หรือ ก้าวข้ามบทบาทของตนเองไปแล้ว เช่น การที่องค์กรตุลากรได้ออกมายอมรับว่า ตัดสินยุบพรรคเพื่อให้สังคมก้าวข้ามผ่านความรุนแรง สิ่งนี้ เท่ากับมองว่าตนเองเล่นบทบาทเป็น “พระเจ้า” 

“สื่อจำนวนมาก ก็เล่นบทผู้พิพากษาแล้ว คือ เชื่อว่าตนเองมีคำตอบที่ถูกต้องพร้อมกับยัดเยียดให้สังคม ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดทางเลือกให้กันสังคม สิ่งนี้อันตรายมาก” นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

 “ความไม่เพียงพอ” ในการตรวจสอบตนเองของสื่อ – บทบาท third party

ชัยรัตน์ ถมยา เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบและกระตุ้นการทำงานของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะบทบาทของผู้ชมในฐานะผู้บริโภคสื่อควรให้ feedback เรื่องความคาดหวังต่อบทบาทของสื่อ นอกจากนี้ เขา ยังยกกรณีที่มีผู้ชมจากทางบ้านเรียกร้องให้ทางสถานีทำรายการเชิงวิเคราะห์ข่าว ในฐานะผู้ประกาศข่าวที่ไม่ได้ลงพื้นที่ทำข่าว ไม่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ชัยรัตน์มองว่าเขาอาจไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดี อีกทั้งการทำรายการวิเคราะห์ข่าวนั้น ชัยรัตน์ กล่าวย้ำว่า มีเนื้อหาเป็นสีเทา คือ เป็นการให้ความเห็นของนักข่าว มากกว่าการนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง

ขณะที่สุชาดามองว่า “สื่อ เป็นพื้นที่ตรงกลางอย่างเดียวของสังคมไทย แต่ตอนนี้สื่อกลับไม่เข้าใจว่ามีบทบาทอะไรกันแน่ ฉะนั้น ความรุนแรงเกิดขึ้นแน่ เมื่อไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่ใช้ในการบริหารความเป็นธรรมของสังคม”

สุชาดากล่าวต่อไปว่า การที่สื่อมักพูดถึง self regulator หรือการควบคุมตนเองขององค์กรสื่อผ่านสมาคมวิชาชีพหรือจรรยาบรรณนั้นไม่เพียงพอแล้ว แต่สื่อต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนอื่นๆ ทั้ง third หรือ forth party เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมสื่อเองด้วย

สื่อต้องท้าทายอคติของตนเอง

จากการที่ปัจจุบันคนที่ทำงานด้านสื่อ มาจากหลากหลายสาขาวิชาไม่จำกัดอยู่แต่เพียงนิเทศศาสตร์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ในฐานะอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งบัณฑิตในสาขาก็ได้เลือกที่จะเข้าสู่อาชีพสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อย ได้แลกเปลี่ยนว่า คนจากหลายสาขาวิชาเลือกทำงานข่าว เพราะคนเหล่านี้คิดว่าจะสามารถสร้าง impact ได้ แต่ความคิดเช่นนี้ก็มีปัญหา เพราะคนเหล่านี้มักมีคำตอบในใจแล้วว่าต้องการอะไร และมักไม่มีการตรวจสอบเอง

ประจักษ์ได้กล่าวทิ้งท้ายโดยยื่นข้อเรียกร้องต่อสื่อว่า สื่อจะต้องตั้งคำถามต่อความเชื่อของตน และทำหน้าที่สื่อในฐานะ ผู้ประคับประคองสติให้สังคม ไม่ใช่ทำสื่อเพื่อตอกย้ำความเชื่อ ความเกลียดชัง และทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรุนแรง

“ผมสอนนักศึกษาว่า การเป็นนักศึกษานั้น ณ จุดหนึ่งคุณควรจะสามารถตั้งคำถามต่อความเชื่อของตนเอง นี่คือ หน้าที่ของอาจารย์ เช่นเดียวกันต่อข้อเรียกร้องต่อสื่อ คือ  ทำอย่างไรให้ไปไกลกว่าการเลือกรับข่าวสารเพื่อตอกย้ำความเชื่อของตน เพื่อเสพติดความเกลียดชัง อันนี้คือผลของสื่อในการสร้างความเกลียดชัง”

เกี่ยวกับผู้เขียน: ทสิตา สุพัฒนรังสรรค์ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้ช่วยวิจัยโครงการ 'Thai democracy in new media context' หลังจบการศึกษา ทสิตาเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ สนใจประเด็นประชาธิปไตยและการเมืองไทย, การพัฒนา, เพศสภาพและวัฒนธรรม ปัจจุบัน ได้รับทุนรัฐบาลและเตรียมตัวศึกษาต่อ 

จากสื่อสู่โศกนาฏกรรม