จากซ้ายไปขวา: มรกตวงศ์ ภูมิพลับ, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ฐปนีย์ เอียดศรีไชย และสุเจน กรรรพฤทธิ์
“ไทยเสียพื้นที่ติดพระวิหาร”, “ไทยไม่เสีย 4.6”, “ไทยเสียดินแดน” หลากหลายวาทกรรมว่าด้วยการได้และเสียดินแดนที่ปรากฏในพื้นที่สื่อมวลชน ภายหลังศาลโลกมีคำตัดสินกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหาร ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ จึงเปิดระเบียงกาแฟจัด มีเดีย คาเฟ่ ครั้งที่ 8 ขึ้น ให้สื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนถกเถียงในประเด็นว่าด้วย “สื่อไทยกับวาทกรรม ได้ดินแดน เสียดินแดน” ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
บนเวทีประกอบด้วย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาของศาลโลกที่กรุงเฮก, ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ผู้สัมผัสกับชีวิตและชุมชนตามแนวตะเข็บชายแดน 2 ประเทศ ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งความขัดแย้ง และ สุเจน กรรพฤทธิ์ กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความขัดแย้งตามแนวชายแดนในหลายพื้นที่ โดยมี มรกตวงศ์ ภูมิพลับ ดำเนินรายการ
ไฮไลท์ของการสนทนา อยู่ที่สุภลักษณ์ในทันที่ที่เขาหยิบเอกสารว่าด้วยคำพิพากษาที่ศาลแจกให้กับทุกคนในทันทีที่อ่านคำพิพากษาเสร็จ เอกสารที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศษ หนารวมร้อยกว่าหน้านั้น มีจุดสำคัญอยู่ที่คำพิพากษาที่บอกชัดเจนว่าพื้นที่ใดบ้างที่เป็นของกัมพูชา ซึ่งสุภลักษณ์ อลสรุปให้กับผู้เข้าร่วมการสนทนาในวันนั้นฟังง่ายๆ ว่า คือพื้นที่เดิมที่ศาลเคยมีความเห็นว่าเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กับเอกสารผลการพิจารณาคดีของศาลโลก
“เราอ่านคำพิพากษาด้วยความตื่นเต้นว่ามันจะออกมายังไง ด้วยความวิตกจริตว่าจะได้อะไร เสียอะไร และด้วยความกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่ความจริงคำพิพากษาก็เห็นโทนโท่อยู่แล้วว่าศาลบอกว่าปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใต้ปราสาทอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชา ซึ่งเป็นการยืนยันคำพิพากษาในปี 2505” บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ แห่ง เดอะ เนชั่น
สุภลักษณ์บอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนไทยรวมถึงสื่อมวลชนไทยเข้าใจคำพิพากษานี้ได้ดีขึ้นว่าไม่ไดัมีการทำให้เกิดการได้หรือเสียดินแดนเลย คือการที่เราต้องอ่านคำพิพากษานี้โดยไม่มีอคติ “ถ้ามีอคติคุณจะเข้าใจมันลำบาก เพราะคุณจะทำใจไม่ได้”
แล้วคำพิพากษาปี 2013 ต่างกับคำพิพากษาปี 2505 อย่างไรบ้างหรือไม่ คำตอบคือต่าง
“ปีนี้ศาลรอบคอบกว่าปี 2505 เพราะศาลให้รูปพรรณสันฐานมาเลยว่าพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศแบบใดที่เป็นของกัมพูชา ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องเส้น.....คำพิพากษานี้แสดงให้เห็นว่า ศาลเองยอมรับว่าคำพิพากษาที่ผ่านมา (ปี 2505) ไม่สมบูรณ์” สุภลักษณ์กล่าว
ขณะที่สื่อและชนชั้นกลางในเมืองให้ความสำคัญกับการได้ดินแดน เสียดินแดน ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นผลสืบเนื่องของคำพิพากษา ความวิตกกังวลของชาวบ้านตามแนวชายแดน โดยเฉพาะที่ภูมิซรอล ไม่ได้อยู่ที่ดินแดนเลยแม้แม่น้อย
“มันจะยิงกันอีกบ่” คำความวิตกของชาวบ้าน ตามคำบอกเล่าของฐาปนีย์ ผู้ใช้เวลาช่วงเดียวกับที่ศาลอ่านคำพิพากษาในกรุงเฮก ไปอยู่กับชาวบ้านตามแนวชายแดน
ตามคำบอกเล่าของฐาปนีย์ ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่วางใจสถานการณ์หลังการอ่านคำพิพากษาถึงกับต้องไปอยู่ในศูนย์อพยพล่วงหน้าตั้งแต่คืนวันที่ 10
“ชาวบ้านไม่ได้อยู่กับวาทกรรมการเสียดินแดนเลย ชาวบ้านต้องการสันติภาพ สิ่งที่ชาวบ้านถามเราคือ แล้วมันจะยิงกันไหม สิ่งที่อยากบอกทุกคนคือ ชาวบ้านมองการตัดสินของศาลในระดับที่ไม่อยากเห็นการสู้รบกัน เขาก็รักชาติ ไม่ใช่ไม่รัก แต่เขาอยากเห็นความสงบ เขาอยากรู้ว่าเขาจะอยู่กันอย่างไร ทุกวันนี้เขาเห็นฝั่งกัมพูชาชาวบ้านทำมาหากิน ขายของได้ มีนักท่องเที่ยว เขาก็อยากทำได้บ้าง เขาไม่ได้อยากรู้ว่าตรงไหนเป็นของใคร ” ฐาปนีย์กล่าว
เธอเล่าว่า ตอนศาลอ่านคำพิพากษา เธอรายงานข่าวอยู่ในพื้นที่ด้วยความรู้สึกดี ว่าไม่น่าจะมีการรบกันอีก ชาวบ้านก็รู้สึกว่าจะได้ทำมาหากินเป็นปกติ แต่แล้วความรู้สึกเธอเปลี่ยนไป เมื่อได้เห็นการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น
“เราโทรถามหลายคนเลยตกลงเป็นยังไง มันไม่ใช่การยืนยันคำพิพากษาปี 2505 หรือ ชาวบ้านเองก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว”
ขณะที่สุเจน แห่งค่ายสารคดี มีคำถามต่อกระบวนการเบื้องหลังที่ทำให้เกิดวาทกรรมได้ดินแดน เสียดินแดนบนหน้าสื่อไทย เขาไม่มั่นใจว่าวาทกรมเหล่านั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยกระบวนการใด ในระดับขั้นตอนไหน เพราะประสบการณ์ภาคสนามทำให้เขาตระหนักว่าบทบาทของบรรณาธิการสำคัญมากต่อการนำเสนองานผ่านสื่อ “หลายอย่างภาคสนามส่งมาอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผ่านกระบวนการในออฟฟิศมันออกมาอีกอย่างหนึ่ง”
สุเจน ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใตประเด็นการได้ดินแดน เสียดินแดน จึงถูกนำมาใช้กับกรณีเขาพระวิหารเพียงกรณีเดียว ทั้งที่ตามตะเข็บชายแดนในด้านอื่นๆ ก็มีการส่งทหารรุกล้ำอาณาเขตประเทศกัน เช่นกรณีของไทยและพม่า ตามแนวชายแดนทางเชียงราย
คำตอบของข้อสังเกตนี้ น่าจะอยู่ที่คำพูดของสุภลักษณ์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า
“สื่อควรทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ในความเป็นจริง สื่อคือผู้ผลิตซ้ำวาทกรรม แม่แต่สื่อทางเลือกก็ยังมักผูกอยู่กับชนชั้นนำในสังคม ผมไม่คิดว่าสื่อไทยจะหลุดจากกรอบคำว่าผลประโยชน์ของชาติได้ ปัญหาคือเรานิยามคำว่าผลประโยชน์ของชาติต่างกันมาตั้งแต่ต้น ประเด็นพระวิหารถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อห้ำหั่นกัน ไม่ใช่ให้เราห้ำหั่นกับกัมพูชา แต่เราห้ำหั่นกันเอง ผมไม่แปลกใจเลยที่พาดหัวข่าวมันจะออกมาแตกต่างหลากหลายอย่างนั้น เพราะมันก็สะท้อนว่าสื่อค่ายไหนอยู่ฝ่ายไหน ผมว่ามันจะน่ากลัวกว่านี้หากสื่อทั้งหมดออกมาบอกอย่างเป็นเอกภาพว่าเราเสียดินแดน”