Skip to main content

สื่อสนทนา (จากซ้าย) จอม เพ็ชรประดับ, ประวิตร โรจนพฤกษ์, อธึกกิต แสวงสุข, พิณผกา งามสม

มีเดียคาเฟ่ ครั้งที่ 2/2556 โดย Media Inside Out ชวนคนทำสื่อสนทนา หัวข้อ "อวสานตอบโจทย์ ..ศึกนอก หรือศึกใน?" เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม 2556 โดยมีผู้ร่วมสนทนาคือ จอม เพชรประดับ, ประวิตร โรจนพฤกษ์, อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) และพิณผกา งามสม ทำหน้าที่ชวนสนทนา

ผู้ร่วมวงสนทนาแสดงความชื่นชมต่อความกล้าหาญทางจริยธรรมของนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา อดีตพิธีกรรายการตอบโจทย์ประเทศไทย และทีมงานตอบโจทย์ฯ ต่อการเปิดพื้นที่เพื่อนำเสนอความเห็นที่แตกต่างในรายการตอบโจทย์ฯตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งนำไปสู่การถูกกดดันจนผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอสต้องสั่ง “ชลอการออกอากาศ” ตอนสุดท้าย และทีมงานตอบโจทย์ฯประกาศยุติการทำรายการ “เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน ต่อการข่มขู่ คุกคาม และการแทรกแซงการทำงานจากภายใน อย่างไม่เป็นมืออาชีพ"

วงสนทนายังได้วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของไทยพีบีเอสในฐานะที่เป็นทีวีสาธารณะ และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวประชาไท ทำหน้าที่ชวนสนทนาโดยเปิดประเด็นว่าศึกใน นอกจากศึกภายในองค์กรเอง ซึ่งอาจเป็นเรื่องของการเมืองภายใน เรื่องทัศนคติ ศึกในอีกระดับหนึ่งคือศึกข้างในหัวของนักข่าวเองนั่นเอง ว่าอะไรที่คุณคิดอยู่ในหัวของคุณว่า สิ่งไหนควรจะเซ็นเซอร์ หรือสิ่งไหนไม่ควรเซ็นเซอร์ ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นปัญหาค่อนข้างจะมากสำหรับสื่อไทยทุกวันนี้อยู่เหมือนกัน นอกเหนือจากการอ้างเรื่องการถูกเซ็นเซอร์จากอำนาจข้างนอกแล้วนี่ สิ่งที่มันมีอำนาจในการเซ็นเซอร์คุณมากที่สุด อาจเป็นตัวทัศนคติของผู้สื่อข่าวเองก็ได้

นอกจากนี้ ยังตั้งประเด็นสนทนาว่าปัญหาของไทยพีบีเอส คำว่า สาธารณะยังเป็นปัญหาอยู่ เวลาที่พูดว่าสาธารณะ หมายถึงคนไหนบ้างที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม  และในภาวะที่มีกลุ่มประชาชนทนไม่ไหว สะท้อนว่าสภาพสังคมไทยยังไม่พร้อมรับฟังความเห็นต่าง แล้วสื่อจะต้องทำอย่างไร เราต้องระวังแค่ไหน

“พอพูดประเด็นนี้ทำให้นึกถึงก่อนหน้านี้ 2-3 เดือนก่อนต้องตอบคำถามขององค์กรที่ทำเรื่องเสรีภาพสื่อระดับโลกที่เขาให้ตอบแบบสอบถาม ทำไปทำมาเรากลับพบได้ด้วยตัวเองเลยนะประเด็นการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อไทยมันอยู่ตรงไหน มีคำถามประเภทว่า เรื่องเกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ผู้นำทางจิตวิญญาณ ส่วนตัวแล้วตอบลำบากมากเพราะไม่แน่ใจว่าคำของเขานั้นกินความหมายแค่ไหน เลยต้องตอบพร้อมแนบหมายเหตุไปด้วยว่าของเรามีลักษณะพิเศษที่มีผู้ที่มีลักษณะทั้งสองแบบเป็นผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางจิตวิญญาณด้วยที่ส่งผลต่อเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ เป็นประเด็นหนึ่งที่เมื่อพูดถึงคนไทยงอแง มีกลุ่มประชาชนทนไม่ไหว บางทีก็นึกเหมือนกันว่าเหมือนเด็กที่ถูกสปอยล์มา ไม่สามารถที่จะรับฟังอะไรที่มันไม่เข้าหูได้เลยหรือเปล่า”

จอม เพ็ชรประดับ กล่าวถึงที่มาของ “ทีวีสาธารณะ” แห่งแรกของประเทศไทยว่า ไทยพีบีเอสเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางการเมือง ไม่ได้มาจากความพร้อมของสังคมไทยที่อยากจะมีทีวีสาธารณะ  หมายถึง สังคมยังไม่รู้เลยว่า ทีวีสาธารณะทำอะไร แล้วสาธารณะเพื่อใคร

ต่อกรณีที่มีการ "ชะลอการออกอากาศ" รายการ "ตอบโจทย์ประเทศไทย" หัวข้อ "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ตอนที่ 5 จนเป็นเหตุให้นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการตอบโจทย์ฯ และทีมงานผลิตรายการประกาศยุติการทำงานกับไทยพีบีเอสโดยให้เหตุผลว่า "เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน ต่อการข่มขู่ คุกคาม และการแทรกแซงการทำงานจากภายใน อย่างไม่เป็นมืออาชีพ"  จอม กล่าวว่าภิญโญเป็นคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมมาก ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่เคยมีพื้นที่สำหรับการแสดงความเห็นที่แตกต่างในไทยพีบีเอสเลย แต่เมื่อภิญโญเข้าไป ภิญโญก็พยายามเอาคนที่มีความเห็นต่าง พยายามที่จะเอาความกล้าหาญทางวิชาชีพ เอาความเป็นทีวีสาธารณะที่แท้จริงมาสร้างให้คนในไทยพีบีเอสตื่นตัว แต่ว่าผลสุดท้ายไม่ตื่นตัว แต่ยังคงมาต่อต้านด้วยซ้ำไป

"ผมให้เครดิต และยกย่องเขามากในความกล้าหาญ คือกล้าหาญด้วย และเสียสละด้วย เพราะผมว่านับจากนี้ไป อนาคตเขาก็น่าเป็นห่วงนะครับ" จอม กล่าว

จอมกล่าวอีกว่า ในกรณีของภิญโญ เขาห่วงมากว่าคนที่อาจจะเข้าใจผิดว่าไม่เอาสถาบันฯ ซึ่งถ้าหากมีคนที่พยายามจะสร้างวาทกรรมแบบนี้ขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่คนที่มีใจเป็นธรรมทั้งหลายควรจะปกป้องภิญโญด้วย อย่าให้เขาต้องถูกผลักไปในลักษณะว่าเป็นคนที่ต้องการที่จะล้มเจ้า

"อันนี้อยากให้สังคมร่วมคิดด้วยว่า ความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ทำให้ไทยพีบีเอสเป็นทีวีที่เป็นสมบัติสาธารณะที่แท้จริง ผมอยากจะขอบคุณเขาและขอบคุณทีมงานตอบโจทย์ฯ ขอบคุณแม้แต่ผู้บริหารของไทยพีบีเอสปัจจุบัน เมื่อเทียบกับยุคเริ่มต้นนี่ เริ่มที่จะเห็นความกล้าหาญนี้ด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องขอบคุณและให้เครดิตตรงนี้ด้วย นี่คือสิ่งหนึ่งที่อยากพูด"

จอมเสนอว่าไทยพีบีเอสสามารถที่จะเอากรณีของตอบโจทย์ฯมาทบทวนดูว่า สะท้อนถึงว่าความคิดเห็นต่างในไทยพีบีเอสถูกปฏิเสธ

"เพราะฉะนั้นความเห็นต่างหรือความต่างทางความคิดมันต้องอยู่ร่วมกันได้ มันจะต้องเป็นสังคมต้นแบบของคนทำสื่อประเภทนี้ในไทยพีบีเอส และก็เป็นสังคมต้นแบบของคนในสังคมด้วยว่า ถึงแม้คุณจะมีความเห็นต่างกันอย่างไร แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไทยพีบีเอสจะต้องพิสูจน์ต่อและก็จะต้องทำต่อ แต่ถ้าเขาหยุดแล้วกลัว นี่ก็คือจุดหายนะของไทยพีบีเอส"

จอมกล่าวถึงกรณีที่ไทยพีบีเอสตอบรับต่อการเรียกร้องกดดันของกลุ่มประชาชนทนไม่ไหวให้ยุติรายการตอบโจทย์ฯตอน "สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ" ว่าเท่าที่เข้าใจก็คือว่าคนไทยพีบีเอสไม่อยากจะให้แตะเรื่องนี้เลย เพราะมองว่าเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่ยังไม่ใช่เรื่องที่จะพูดเวลานี้ ความเห็นคล้ายๆ กับ ผบ.ทบ. คือ ยังไม่ถึงเวลา ไม่สมควร เรามีความขัดแย้งกันอยู่มากมาย ทำประเด็นอย่างอื่นดีกว่าไหม เรื่องปากท้องอะไรต่างๆ มากมายก่ายกอง หรือแม้แต่การเป็นสถาบันหลักที่มีคุณูปการอะไรต่างๆ

"ผมคิดว่านี่คือแนวคิดหลักของคนที่ไทยพีบีเอส  ถ้าเขาคิดแบบนี้ ผมเห็นต่างจากเขา แต่ว่าผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจของไทยพีบีเอสในการที่ต้องมานั่งคิดกับข้อที่มีกลุ่มคนขึ้นมาทักท้วง ผมคิดว่าในความเป็นไทยพีบีเอส คุณต้องเคารพเสียงทุกเสียงในสังคมไทย ฉะนั้น หากมีกลุ่มคน 20-30 คนหรือแม้จะ 1 คน มีการทักท้วง ท้วงติง คุณต้องรับฟัง ให้ความสนใจ การที่เขาหยุดนิดหนึ่งก่อนเพื่อจะปรับ ซึ่งเขาก็ปรับแล้ว แต่ว่ามันเกิดปัญหาภายในของเขาเองที่เมื่อปรับแล้วตอบรับคนที่มาร้องเรียน คนที่มาแสดงความคิดเห็นเขาก็ตอบรับการปรับเปลี่ยนรายการตอบโจทย์ในคืนวันศุกร์เรียบร้อยแล้วแต่ปัญหาอยู่ที่คนข้างในของเขาเอง”

จอมกล่าวว่าเขาเห็นด้วยกับการหยุดนิดหนึ่งเพื่อให้เกิดความรอบคอบขึ้น เพราะว่าโดยกฎหมายของไทยพีบีเอส หากมีการร้องเรียนขึ้นมาคิดว่าตามกติกาหรือกฎของไทยพีบีเอส ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ เมื่อมีคนเห็นต่าง ท้วงติง ต้องรับฟัง แล้วก็ปรับ แต่ไม่ใช่ลักษณะว่ากลัวจนไม่ออก"

“ในมุมของผมคิดว่า ความเป็นทีวีสาธารณะต้องรับฟังและเคารพเสียงทุกเสียง ในจุดของผม ผมก็คิดว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว  แต่ถ้าเขาไม่ออกตอนที่ 5 เลย อันนี้เป็นเรื่องเลวร้าย เป็นความเสียหายในความเป็นทีวีสาธารณะที่สุด แต่เมื่อเขาออกต่อ ผมคิดว่าอันนี้คือความกล้าหาญ และเขาก็เคารพเสียงทุกเสียงที่สะท้อนเข้าไป”

จอมตั้งคำถามต่ออนาคตของไทยพีบีเอสว่า ไทยพีบีเอสนับจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นเจ้าของ ในเมื่อเราเป็นเจ้าของ เราจะปล่อยให้คนกลุ่มเดียว คิดข้างเดียว บริหารจัดการแล้วก็ใช้งบประมาณ 2,000 กว่าล้านข้างเดียวหรือเปล่า

“ผมคิดว่าน่าจะมีผู้ที่เป็นเจ้าของไทยพีบีเอสลุกขึ้นมา ขอตั้งเป็นองค์กรแล้วเข้าไปตรวจสอบเขาได้ไหม ทั้งเรื่องความกล้าหาญทางจริยธรรม งบประมาณ วิชาชีพ ทัศนคติบางอย่างที่ต้องตรวจสอบได้ ถ้าเป็นกลไกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดูแลกันเอง ตรวจสอบกันเอง สมาคมฯ ก็เป็นอย่างที่เราเห็น ดังนั้น น่าจะมีไหมกลุ่มประชาชนข้างนอกที่ต้องการเห็นทีวีสาธารณะเป็นทีวีของทุกคนจริงๆ”

ต่อกรณีที่สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ออกแถลงการณ์ฯนั้น จอมกล่าวว่าไม่ได้แปลกใจกับท่าทีสมาคมฯ เพราะตัวเองก็เคยโดนมาแล้ว เป็นการสร้างความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับสมาคม

“ทีนี้ สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ และผมเคยอยู่ในภาวะนั้นมาแล้วคือ กรณีของภิญโญ เมื่อกี๊ผมก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ว่าสุดท้ายแปะป้ายว่าภิญโญกลายเป็นคนล้มเจ้า อันนี้น่าเป็นห่วงเขามาก ของผมถูกหาว่าเป็นแดง แม้ออกจากวอยซ์แล้วก็ไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้ เอาง่ายๆ ผมไปสมัครงานที่ไทยพีบีเอส คุณสมชัย [สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีฯ] ชวน ได้คุยกัน เชื่อไหมว่าคุยตั้งแต่ปลายธันวาคม จนถึงมกราคมยังไม่ได้ ผมรู้ว่ามันมีปัญหา ต่อไปเป็นกุมภาพันธ์ แล้วก็เลื่อนมาเรื่อยๆ มันก็เห็นแล้วว่ามีปัญหา ผมถูกตราหน้าว่าเป็นแดง และไปสมัครงานที่ไหนก็จะมีปัญหาตลอด แม้แต่รายการพิธีกรอีเว้นท์ต่างๆ เดี๋ยวเอาจอมมาก็เป็นการเมืองไปอีก มันเป็นภาวะที่น่า.. ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่มันมีทางเลือกให้เราน้อยมากในการประกอบวิชาชีพ อันนี้พูดถึงการดำรงอยู่ในวิชาชีพ ถ้าภิญโญถูกผลักให้เป็นคนล้มเจ้าด้วยแล้วมันจะยิ่งร้ายแรงมากกว่าผมอยู่ข้างแดงหรือเชียร์ทักษิณเสียอีก ก็อาจเป็นอีกโจทย์ว่าจะช่วยดูแลเขาอย่างไรสำหรับผู้ที่รักความเป็นธรรม”

ประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวว่าความกล้าหาญทางจริยธรรมของภิญโญ เป็นสิ่งที่จะต้องให้กำลังใจ ตอนนี้ถูกใส่ร้าย ทำลายแบบไม่ให้มีแผ่นดินอยู่เลย ถูกด่าว่าล้มเจ้า คนที่รักประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกขั้นพื้นฐานต้องให้กำลังใจคุณภิญโญ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นด้วยทุกอย่างที่อ.สมศักดิ์ [เจียมธีรสกุล] หรื อ.สุลักษณ์ [ศิวรักษ์] พูด ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าคุณจะต้องสนับสนุนเฉพาะคนที่คุณเห็นด้วย

“ผมพูดประจำว่า ถ้าคุณรับไม่ได้กับการถอดเหนือเมฆ แต่รับได้กับการถอดรายการตอบโจทย์ แสดงว่าคุณไม่ได้ต่อต้านการเซ็นเซอร์ จุดยืนคุณไม่ได้อยู่บนเสรีภาพการแสดงออก จุดยืนคุณก็คงเพียงเพื่อเสรีภาพการแสดงออกแบบที่ตนเองอยากฟังอยากเห็นหรือเชื่อ”

ประวิตรกล่าวว่าปรากฏการณ์ที่ไทยพีบีเอส “ชะลอ”การกออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ สะท้อนให้เห็นการดูถูกประชาชนส่วนใหญ่ว่าโง่

“ผมขออ้างบทความของคุณจิตนาถ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสูงสุดของเอเอสทีวี ผู้จัดการ ซึ่งเขียนลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับคุณภิญโญและรายการตอบโจทย์ อยู่หน้า 2 ของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ ชื่อ “ตอบโจทย์พ่อง (พ่อมึง) เหรอ” จิตนาถซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของภิญโญด้วย ผมติดอยู่ประเด็นหนึ่งหลักๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีหลายประเด็น คือ

ข้อแรก: สังคมของประเทศตะวันตกเป็นสังคมที่ประชาชนมีคุณภาพการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงการกระจายรายได้ในภาพรวมมากกว่าสังคมไทย ประชาชนจึงไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่นของนักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุนและนักวิชาเกินได้ง่ายเหมือนสังคมไทย

ข้อมูลประเภทเดียวกัน คุณหมอตุลย์ [สิทธิสมวงศ์] โทรมาหาผม ตอนนี้เราเป็นบัดดี้ (หัวเราะ) จากมุมมองที่แตกต่างกัน แต่คุยกันได้ โทรมาตอนเช้าผมยังไม่ตื่นเลย โทรมาปรับทุกข์แล้วใช้คำอย่างนี้ พูดทำนองว่า ดีแล้วที่ไทยพีบีเอสไม่ออกตอน 5 เพราะจะมีประชาชนกี่เปอร์เซ็นต์หรือกี่คนที่แยกแยะออกว่าสิ่งที่ อ.สมศักดิ์ พูดเกี่ยวกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรืออื่นๆ ออกทีวีเป็นจริงหรือเท็จ คือ มันเป็นมุมมองเดียวกับคุณจิตนาถ คนไทยที่มีการศึกษานั้นจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้พูดง่ายๆ “โง่”  คิดแยกแยะจริงเท็จเองไม่เป็น ผมก็สงสัยว่าคนเหล่านี้เกิดมาเลือดของเขาแตกต่างจากคนส่วนใหญ่มากขนาดจนเป็นคนละกลุ่ม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์เลยจริงๆ หรือ และถ้าคุณดูถูกประชาชนขนาดนี้ คุณจะทำสื่อทำไม เฉพาะคุณจิตนาถก่อน คุณควรจะไปทำกรมประชาสัมพันธ์หรือองค์กรอะไรก็ตามที่ปวารณาตนเลยว่าให้แต่ข้อมูลด้านเดียว หรือโฆษณาชวนเชื่อ

ประเด็นที่สอง ที่อยากจะโต้คือ ถ้าคิดว่าคนคิดเองไม่เป็น แล้วเมื่อไรสังคมจะคิดเป็นถ้าไม่เริ่มให้เขาคิด เอาแค่ว่าคุณเชื่อแบบนั้นและถ้าเป็นจริงแบบนั้น ก็เหมือนคนถีบจักรยาน ไม่มีใครถีบจักรยานเป็นตั้งแต่เกิด ไม่ทราบว่ามีหรือเปล่าแต่ถ้าใครเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเดินได้ตั้งแต่ทรงพระประสูติผมก็เริ่มไม่แน่ใจแล้ว สังคมต้องเรียนรู้ และจะเรียนรู้กันเมื่อไร และถ้าสิ่งที่ตอบโจทย์จัด ซึ่งเป็นข้อมูลไม่ถึง 0.0000000001 เปอร์เซ็นต์ของที่ผ่านมา เดินไปทางไหนก็เจอ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร สังคมจะมีวุฒิภาวะได้หรือ

ประเด็นที่สองซึ่งโยงกัน คือ ผบ.ทบ. ผมอาจจะล้อว่า ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ อันที่จริงคือ ผู้บัญชาการทหารบก ข่าวหน้าหนึ่งวันนี้ “ล้มเจ้า ทหารอึดอัด บิ๊กตู่ฮึ่มไล่ไปอยู่ประเทศอื่น” เดลินิวส์ฉบับวันที่ 20 มีนาคม ผู้จัดการก็เล่นประเด็นนี้ “ซัดพวกล้มเจ้าให้ไปพ้นไทย ฮึ่มตอบโจทย์ วิพากษ์สถาบัน”           ผมถามอ.สมศักดิ์ [เจียมธีรสกุล] ก่อนเริ่มรายการว่า อาจารย์อยากย้ายไปอยู่ประเทศไหนหรือเปล่า อาจารย์ก็บอกว่าขอประเทศที่ไม่หนาวแล้วกัน แต่หลังจากนั้นอาจารย์ก็บอกว่าเบื่อ เอะอะอะไรก็ไล่ ประเด็นคือ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็นต่าง ตอนนี้สังคมไทยแยกไม่ออกแล้ว คนที่วิพากษ์สถาบันแบ่งได้เป็นหลายประเภท จะลองแบ่งให้ดู  คนที่เท่าทันเจ้าแต่อาจไม่ได้เกลียดสถาบัน แต่ก็ไม่ได้รัก, คนที่อยากจะแก้ มาตรา 112 แล้วไม่เกลียดสถาบัน, คนที่อยากจะแก้ มาตรา 112 แล้วเกลียดสถาบัน, คนที่เกลียดสถาบัน, คนที่เป็นสาธารณรัฐนิยม  ฯ มันมีหลายเฉดมาก ตอนนี้ถ้าเพียงแต่คุณแหลมขึ้นมา อย่างกรณีภิญโญ ซึ่งภิญโญก็พยายาม defend ตนเองว่าไม่เคยไปสนับสนุน หรือเซ็นชื่อใน ครก.112 หรืออะไร วันนี้ก็ถูกผู้จัดการตราหน้าไปแล้ว “ประณามตอบโจทย์ วาระซ่อนเร้น ภิญโญล้มเจ้า”  คือได้แบรนด์เนมไปแล้ว เป็นสติ๊กเกอร์แบบเดียวกับที่อ.สมศักดิ์ได้

ประเด็นคือ ถ้าคุณแยกไม่ออก อย่างคนรักเจ้าผมยังแยกเป็นอย่างน้อยๆ 2 ประเภท คือ รักเจ้าที่มีเหตุผล อาจจะเห็นว่ามีการออกมาพูดในที่สาธารณะบ้างว่า มาตรา 112 ควรจะต้องแก้ ผมจะจัดให้คุณอานันท์ ปันยารชุน อยู่ในระดับนี้ แต่บางครั้งคุณอานันท์เองอาจจะไม่กล้าออก อย่างล่าสุดที่ทางอียูจัดเสวนา อียูบอกผมว่าคุณอานันท์รับปากจะมาพูดแล้วสุดท้ายก็ปฏิเสธ คงไม่อยากโดนฝั่งที่ผมเรียกว่า “รักเจ้าอย่างไม่รู้จักพอเพียง” ออกมาวิจารณ์ ถ้าเรียกอย่างหยาบๆ หน่อย สั้นๆ หน่อยคือ คนคลั่งเจ้า บุคคลเหล่านี้ทนไม่ได้ที่จะได้เห็นข้อมูลต่าง อย่างกรณีตอบโจทย์มันก็ง่ายๆ ถ้าคุณไม่อยากดูก็ไม่ต้องดู มันไม่มีใครบังคับให้เปิดดู ก็เหมือนกับที่ไม่มีใครบังคับให้ดูข่าวราชสำนัก โอเค มันอาจจะออกทุกช่องและเอาเข้าจริงมันอาจเทียบกันไม่ได้ในรายละเอียด แต่ก็คือ ไม่มีใครบังคับใครให้ดูตอบโจทย์ ตอน 1 2 3 ผมก็ไม่ได้ดู มาสงสัยตอนเหตุมันเกิดแล้ว

นี่คือปัญหาของสังคมไทยที่โผล่ ลอยออกมาให้เห็นสืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้

อีกเรื่อง สื่อทุกวันนี้ สิ่งที่น่าละอายคือ คนในไทยพีบีเอสเองหลังเหตุการณ์ในวันศุกร์ ก็มีพนักงานระดับอาวุโสจำนวนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นทำนองวิพากษ์คุณภิญโญ ซึ่งมีสิทธิจะวิพากษ์ แต่สิ่งที่เขาให้เหตุผลคือ ให้พื้นที่แสดงความเห็นเหล่านี้ได้อย่างไร ตกลงคุณเชื่อในความเห็นที่หลากหลายหรือเปล่า ผมต้องยืนยันอีกทีว่านี่เป็นครั้งแรกที่อาจารย์สมศักดิ์ได้ออกทีวีกระแสหลัก ขอโทษนะครับ เพิ่งจะรู้จักคนชื่อสมศักดิ์ที่แสดงความเห็นเท่าทันเจ้ากันเมื่อวันศุกร์หรือ ทั้งที่อาจารย์สมศักดิ์น่าจะแสดงความเห็นเท่าทันเจ้ามาน่าจะเกิน 20 ปีแล้ว ไทยพีบีเอสให้ออกครั้งเดียวพูด 2-3 ตอน คนเหล่านั้นบอกว่าทำได้อย่างไร ไม่แฟร์ มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย อย่าให้เราตกต่ำแย่ไปถึงเกาหลีเหนือเลยที่จะต้องบังคับว่าใครไม่แสดงความซาบซึ้งต่อผู้นำจะต้องโดนลงโทษ สังคมต้องมีที่ยืน  อย่าว่าแต่ ผบ.ทบ. ไม่มีใครที่จะสิทธิไล่คนไทยคนอื่นไปอยู่ต่างประเทศ เพราะแผ่นดินไทยเป็นของคนไทยทุกคน

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยอยู่ที่ว่า สังคมจะสร้างที่ยืนของความเห็นที่หลากหลายได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องปิดปากซึ่งกันและกัน เกลียดชังซึ่งกันและกัน และฆ่ากัน สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นภาระของไทยพีบีเอส แต่เป็นภาระของสื่อทุกองค์การที่อ้างตนว่ายืนหยัดเพื่อประชาธิปไตย มิฉะนั้น สังคมไทยจะไม่มีวันสงบ ไม่มีวันมีวุฒิภาวะ ถ้าเรายังพยายามปิดปากและกำจัดคนที่คิดเห็นต่างจากเรา  ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สื่อแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าไม่มีต้องมี มาตรา 112 ไม่ต้องมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็มีคนรักพ่อภาคปฏิบัติจัดให้  เดี๋ยววันนี้ก็จะกลุ่มประชาชนทนไม่ไหวจัดให้ อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือสภาพสังคมที่ประชาชนจำนวนหนึ่งจัดการเซ็นเซอร์ผู้อื่นและเซ็นเซอร์ตนเองโดยไม่ต้องมีใครสั่ง

อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) กล่าวถึงกรณีที่คนในไทยพีบีเอสแสดงทัศนะต่อต้านภิญโญและรายการตอบโจทย์ฯตอน “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ว่าเมื่อมาค้นดูถึงรู้ว่าตอบโจทย์แยกออกมาเป็นรายการใหม่ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 แล้ว เป็นระบบจ้างคนนอกทั้งหมดทั้งภิญโญและทีมงาน

“การที่รายการตอบโจทย์ซึ่งเป็นรายการหลักของสถานีแยกออกไปจากฝ่ายข่าวนั้น เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นการปะทุของการความขัดแย้งภายในที่มีมาก่อนอยู่แล้วด้วย ผมคิดว่าตั้งแต่คุณสมชัยเข้าไป เท่าที่ได้ยินมาคือฝ่ายข่าวเป็นฝ่ายที่คุณสมชัยพยายามจัดระเบียบ มันก็มีอะไรที่ยุ่งเหยิงไปหมด เพราะในแง่ของระบบ คุณก่อเขต [จันทเลิศลักษณ์] จะเป็นรักษาการผอ. รู้สึกช่วงนี้ก่อป่วยเข้าโรงพยาบาลยาว แล้วก็เกิดเรื่องตั้งแต่ที่นักศึกษามุสลิมเข้ามาประท้วง เพราะว่ามันปล่อยเทปออกมาได้ยังไงในทางการข่าว บรรณาธิการต้องตรวจก่อน อันนี้บรรณาธิการหลักคือใคร ทำไมปล่อยเทปมาได้ ไม่ตรวจ อันนี้มีปัญหาอยู่ในฝ่ายข่าวอยู่ก่อนแล้ว”

อธึกกิต วิจารณ์ว่าฝ่ายข่าวเป็นภาพลักษณ์ของไทยพีบีเอสที่ ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมายุ่งไปหมด แต่ละคนก็ต่างคนต่างมา เป็นเจ้ากรมอิสระของตัวเอง เป็นรากฐานของระบบของทีพีบีเอส ซึ่งมาแบบองค์กรเอ็นจีโอ

“ถ้าเราเข้าใจการทำงานแบบเอ็นจีโอ ด้านที่เสียของมันคือ ทำงานแบบพรรคพวกกัน อันนี้พวกเรา ไอ้นั่นคนดีเอามันเข้ามา การคัดเลือกแบบบริษัทไม่ใช่แบบนั้น พอเข้ามาแบบกันเองแบบนี้มันมีการฝังราก สร้างเครือข่ายซึ่งกันและกันอยู่ พูดง่ายๆ อย่าง “เจ้าแม่เอ็นจีโอ” ตราบใดที่เขาทำงานเอ็นจีโอเขาก็จะเป็นที่ชื่นชอบของหมอประเวศ สสส. [สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสริมสุขภาพ] แล้วพวกนี้ก็มีอิทธิพลต่อการไปเลือกกรรมการนโยบาย เลือกผอ. สภาผู้ชม ก็ต้องเกรงใจเขา มันวนกันไปวนกันมาอย่างนี้ แล้วก็คล้ายๆ กับที่ผมเคยเขียนเมื่อก่อน หมอพลเดช ก็เอาน้องเข้าไปทำงาน จะบอกว่าเดินไปสมัครเองโดยที่พี่ชายไม่รู้มันก็ตลก แต่เราก็เข้าใจในวิถีของเอ็นจีโอที่เราก็เคยผูกพันกันอยู่ เคยทำงานด้วยกันมา อันนี้น้องเพื่อน คนดีนะ มันก็เป็นธรรมดา ฉะนั้น ระบบของทีพีบีเอส ทุกฝ่ายมาถึงฝ่ายข่าวมันมีปัญหาตัวนี้อยู่ แล้วมันก็เกิดความไม่เป็นเอกภาพอย่างเยอะมากตลอดเวลา 6-7 ปี แล้วมาปะทุเอาตอนที่ฝ่ายข่าวไม่พอใจการถอนรายการตอบโจทย์ฯ”

อธึกกิตกล่าวว่า นอกจากกรณีรายการตอบโจทย์ประเทศไทยแล้ว ไทยพีบีเอสยังมีปัญหาอื่นๆหลายประเด็นที่ไม่สามารถจะเคลียร์กันลงได้ ปัญหาเรื่องการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสม ในแง่ของงานข่าว ในแง่ของการบริหาร ในแง่ของทัศนะชี้นำ ในแง่ของตัวบุคคล เป็นปัญหาหมด

“มันมีปัญหาของทัศนะของการวางระบบ ระบบของเขาก็ค่อนข้างมีปัญหาด้วย ทัศนะชี้นำของเขาด้วย คนของเขาด้วยเพราะรับคนเข้าไปฝ่ายเดียว  อันนี้เล่าเรื่องตลกให้ฟัง ผมไม่รู้ว่ามีคนรู้ไหม แต่ทัศนะแบบว่าเอาเงินภาษีเหล้าบุหรี่ไปสร้างชุมชนสวยงาม วิถีชุมชน เราเห็นทีพีบีเอสถ่ายทอดแข่งเรือ แล้วรู้ไหมว่ามันมายังไง แข่งเรือกันตามหมู่บ้านตามอำเภอ แค่ทีวีมาถ่ายก็ดีใจแล้ว แต่ทีพีบีเอสไม่เพียงแต่ไปถ่าย แต่เอาตังค์ไปจ่าย ไปช่วยสนับสนุนให้เขาจัดแข่งเรือ เคยมีนักข่าวเล่าให้ผมฟังบอกว่า “พี่ ไอ้นั่นมันพวกหัวคะแนนนักการเมืองท้องถิ่น มันจัดแข่งเรือกัน แล้วเราต้องเอาตังค์ไปให้มัน ผมนี่รู้สึกอึดอัดมากเลย” (หัวเราะ) นี่คือการเอาเงินไปส่งเสริมวิถีชุมชนตามสไตล์หมอประเวศ นี่คือวิธีคิดของเขา ที่ทำทั้งหมดมันก็อยู่ในแนวนี้ รายการเอกของเขาที่เขาคิด เขาทำ มันก็ไปในแนวทางนี้หมดเลย แต่พอดีมีที่มันฉีกคือตอบโจทย์ แล้วต่อไปที่เหลือเขาจะทำกันยังไง จะเดินไปอย่างนี้อีกเหรอ แล้วใครจะทำตอบโจทย์ต่อ เพราะเสียเครดิตไปมาก เสียครั้งใหญ่ แม้คุณสมชัยยังอยู่และพยายามจะทำอะไร ที่บอกว่าฟื้น มันไม่ใช่ฟื้นง่ายๆ พวกเรากว่าจะกลับไปดูกันอีกก็คงอีกพักใหญ่ แล้วจะเอาใครมาทำ อย่างคุณจอมนี่ไปได้ไหม (หัวเราะ) คนที่ทำงานได้กับสองข้างไปได้ไหม แล้วใครเขาอยากจะไปในสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างนั้น สุดท้ายแล้วจะเอาใครแล้วตอบโจทย์จะไปยังไง ไทยพีบีเอสก็จะแน่นิ่งไปเลย จะพัฒนาอย่างไรต่อ แล้วคุณยังไม่รู้ตัวอีก”

อธึกกิต แสดงความห็นต่อแถลงการณ์สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ที่สนับสนุนการ “ชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ” ว่า “ผมว่าแย่มากเลย คำแถลงนั้นกลายเป็นว่าชื่นชมทีพีบีเอสที่ระงับการออกอากาศ ชื่นชมคนที่ไปกดดัน สุดท้ายกลับมาตำหนิรายการตอบโจทย์ อ้าว นี่มันสมาคมอะไร สมแล้วที่คุณอรพินเขาเป็นอุปนายกแล้วเขาลาออก เขาเป็นคนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไปค้นดูเขาออกรายการ 96.5 คลื่นความคิดของคุณวิสุทธิ์ [คมวัชรพงศ์] นายกสมาคมฯ นั่นแหละ ตอนที่นักข่าวทีพีบีเอสโดนตำรวจตีในม็อบแช่แข็งเขาก็ไปต่อสู้ให้ เขาก็ทำมาตลอด เขาไม่เลือกข้าง ที่จริงเขาก็อยู่ข้างโน้นไม่ได้อยู่ข้างเรา เขาเครดิตดีในวงการ แต่สุดท้ายต้องลาออก สุดท้ายคือรายการนี่แหละ ผมเฉลียวใจตั้งแต่แรกแล้วว่าทำไมคุณอรพินถึงประกาศลาออกจากอุปนายกสมาคม  เพราะมันผ่านไปตั้ง 3-4 วัน สมาคมเงียบกริบ แต่สุดท้ายพอทีพีบีเอสฉายใหม่ ดันไปออกรายการเชียร์การแบน ผมว่ามันแย่แล้ว ตายแล้ว จะแสดงบทบาทอะไรต่อไปอย่างไร แล้วกลายเป็นคุณสองมาตรฐานไหม ทีจอเจตน์ไปพบกนก มันไม่ได้รุนแรงเท่านี้ พวกนี้ไป 20 กว่าคนนี่แรงกว่าอีก แล้วคุณไปตื๊อไม่ยอมกลับถ้าไม่ถอดรายการไม่กลับ แล้วสมาคมไปออกแถลงการณ์ชื่นชมเขา ผมว่าบ้าแล้ว ต่อไปถ้ามีใครไปกดดันคุณวิสุทธิ์ 96.5 คุณวิสุทธิ์จะชื่นชมไหม”

 

 

อวสานตอบโจทย์.. ศึกนอกหรือศึกใน?